คนบาร์เซโลนาแทบจะไม่มีที่อยู่ เพราะค่าเช่าแพงไม่ไหว เตรียมห้ามปล่อยเช่าระยะสั้นให้นักท่องเที่ยวแล้ว

ถ้ามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากและนักท่องเที่ยวเลือกเช่าห้องพักในอพาร์ตเมนต์มากกว่าโรงแรม ทำให้ค่าเช่าห้องพักแพงขึ้นและประชาชนไม่มีแม้แต่บ้านให้อาศัยอยู่ รัฐบาลควรจัดการปัญหานี้อย่างไรดี?

Barcelona

‘บาร์เซโลนา’ เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของสเปน เพิ่งประกาศว่า ภายในปี 2028 บาร์เซโลนาจะไม่อนุญาตให้ปล่อยเช่าห้องพักในอพาร์ตเมนต์ให้กับนักท่องเที่ยวแล้ว เพราะการปล่อยเช่าอพาร์ตเมนต์ระยะสั้นให้นักท่องเที่ยว ทำให้ค่าเช่าในบาร์เซโลนาแพงเกินไป ประชาชนคนบาร์เซโลนามีเงินไม่พอจ่ายค่าที่พักอาศัยในเมืองของตนเองและหาที่อยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ

‘Jaume Colboni’ นายกเทศมนตรีเมืองบาร์เซโลนา อธิบายว่า ปัญหาประชาชนไม่สามารถจ่ายค่าที่พักในเมืองของตนเองได้เป็น ‘ปัญหาใหญ่’ 

ดังนั้น ภายในเดือนพฤศจิกายน 2028 บาร์เซโลนาจะยกเลิก ‘ใบอนุญาตการให้เช่าระยะสั้นของอพาร์ตเมนต์’ ราว 10,101 แห่ง 

เพื่อให้ประชาชนเช่าหรือซื้ออพาร์ตเมนต์เหล่านั้นเพื่อการอยู่อาศัยแทน และถ้ามาตรการได้ผล ในปี 2029 บาร์เซโลนาจะไม่มีห้องเช่าในอพาร์ตเมนต์สำหรับนักท่องเที่ยวเหลือเลย 

Brand Inside ชวนย้อนดูว่า ก่อนจะมาถึงการยกเลิกใบอนุญาตปล่อยเช่าห้องในอพาร์ตเมนต์ระยะสั้น ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในบาร์เซโลนาพุ่งไปขนาดไหน และการยกเลิกครั้งนี้จะกระทบกับนักท่องเที่ยวหรือเมืองยังไงบ้าง

นักท่องเที่ยวเยอะ ค่าเช่าแพง จนประชาชนไม่มีที่จะอยู่

Spain
Photo by Daniel Prado on Unsplash

เมื่อการเช่าห้องในอพาร์ตเมนต์ระยะสั้นกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยว ราคาค่าเช่าและราคาซื้อขายของอสังหาริมทรัพย์ของบาร์เซโลนาก็พุ่งขึ้นตาม 

10 ปีที่ผ่านมา ราคาเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในบาร์เซโลนาเปลี่ยนไปแค่ไหน?

– ราคาค่าเช่าอพาร์ตเมนต์เพิ่มขึ้น 68% 

– ราคาซื้อขายบ้านเพิ่มขึ้น 38% 

และยิ่งไปกว่านั้น คือ ในปีที่ผ่านมาปีเดียว ค่าเช่าที่พักในบาร์เซโลนาพุ่งสูงขึ้น 14% กลายเป็นอัตราค่าเช่าที่แพงที่สุดในประเทศ จนประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถจ่ายค่าที่พักได้

‘ที่อยู่อาศัย’ เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของมนุษย์ แต่เมื่อสถานการณ์เดินทางมาถึงจุดที่พลเมืองไม่สามารถจ่ายค่าที่พักอาศัยในเมืองของตัวเองได้ ‘ที่อยู่อาศัย’ ก็กลายเป็นเรื่องของคนมีเงิน สะท้อนภาพความไม่เท่าเทียมในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีกำลังจ่ายมากพอ

แน่นอนว่านักท่องเที่ยวเยอะๆ ย่อมส่งผลดีต่อประเทศ ‘รัฐบาลสเปน’ ก็เห็นประโยชน์ข้อนี้ เพราะปัจจุบัน ‘สเปน’ เป็นหนึ่งในสามประเทศที่มีคนมาเที่ยวมากที่สุดในโลก

แต่พอเจ้าของเมืองมีเงินไม่พอจ่ายค่าที่พักในบ้านเกิดตัวเอง ปัญหาปล่อยเช่าห้องระยะสั้นให้นักท่องเที่ยวก็กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทั่วยุโรป จนถึงขั้นสมาคมต่างๆ ในพื้นที่ของสเปน รวมถึงบาร์เซโลนา เกาะคานารี และปาลมาส ต้องลุกขึ้นมาประท้วงการท่องเที่ยว

แบนปล่อยเช่าไม่น่ากระทบท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีคนไม่ชอบ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ‘บาร์เซโลนา’ ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอพาร์ตเมนต์สำหรับนักท่องเที่ยวอีก ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา อพาร์ตเมนต์สำหรับปล่อยเช่าให้นักท่องเที่ยวเถื่อนถูกสั่งปิด 9,700 แห่ง และถูกเปลี่ยนมาเป็นที่อยู่อาศัยให้ประชาชนอีกราว 3,500 แห่ง

แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้น้อยลง ‘บาร์เซโลนา’ ยังคงเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่ขึ้นชื่อเรื่องสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และชายหาด โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่บาร์เซโลนายังเพิ่มขึ้นด้วยในช่วงหลังโควิด-19

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจแบนการปล่อยเช่าห้องพักระยะสั้นให้นักท่องเที่ยวก็ยังคงมีคนไม่เห็นด้วย ‘Apartur’ สมาคมอพาร์ตเมนท์นักท่องเที่ยวแห่งบาร์เซโลนาออกแถลงการณ์ว่า “Colboni กำลังทำผิดพลาดครั้งใหญ่ ความยากจนและการว่างงานจะตามมาหาประชาชนในภายหลัง” ในทางกลับกัน โรงแรมในบาร์เซโลนากลับได้รับประโยชน์จากการแบนครั้งนี้ 

บางเมืองแบน บางเมืองจำกัดคืนให้เช่า

ภาพจาก Shutterstock

ไม่ใช่แค่ ‘บาร์เซโลนา’ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเมืองที่ไม่อนุญาตให้อพาร์ทเมนต์ปล่อยเช่าระยะสั้นได้ เช่น เกาะคานารี เบอร์ลิน ลิสบอน และบางเขตในดัลลาส แต่ก็มีอีกหลายเมืองที่เลือกมาตรการผ่อนปรนกว่านี้ อย่างลอนดอน ปารีส และอัมสเตอร์ดัม ที่มีมาตรการจำกัดจำนวนคืนที่อพาร์ทเมนต์จะปล่อยเช่าได้ในแต่ละปี

ส่วนนิวยอร์ก แวนคูเวอร์ และโตเกียว ออกกฎให้เจ้าของอพาร์ทเมนต์และผู้อยู่อาศัยจะต้องเป็นคนเดียวกันเท่านั้น ขณะที่ซานฟรานซิสโกและซีแอทเทิล เลือกจำกัดจำนวนอสังหาริมทรัพย์ในครอบครองของบุคคล

ด้านประเทศไทยเองก็มีกฎหมายห้ามปล่อยเช่าห้องพักให้นักท่องเที่ยวในระยะเวลาต่ำกว่า 30 วัน แต่ก็ยังมีคอนโดจำนวนมากที่ถูกปล่อยเช่าอย่างแพร่หลาย

อ้างอิงจาก We Hate The Cold เว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยวบอกว่า เจ้าของห้องในไทยหลายๆ คนมักจะละเมิดกฎด้วยการปล่อยห้องเช่าให้นักท่องเที่ยวตามอำเภอใจ แล้วแจ้งพวกเขาให้หลีกเลี่ยงเส้นทางต่างๆ แทน เช่น ให้เข้าตึกด้วยประตูลานจอดรถเท่านั้น ห้ามเข้าประตูหลัก หรือ ห้ามคุยกับเจ้าหน้าที่อาคารคนไหนทั้งสิ้น

ไทยเพิ่มสิทธิต่างชาติซื้อห้องพักเป็น 75% ทำโรงแรมหวั่น

เศรษฐา ทวีสิน

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ในไทย คือ ตอนนี้สังคมกำลังดีเบต กรณีรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี และขยายสิทธิในการซื้อห้องพักจาก 49% เป็น 75% ของตึก เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย และความจำเป็นของมาตรการนี้ 

อย่าง ‘สมาคมโรงแรมไทย’ ก็ออกโรงไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้คอนโดถูกปล่อยเช่ารายวันมากขึ้น และนักท่องเที่ยวก็จะเลือกเช่าคอนโดที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าโรงแรม เนื่องจากไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแบบเดียวกับที่โรงแรมต้องปฏิบัติ โดยสมาคมโรงแรมไทยเห็นว่ารัฐบาลควรจะหานโยบายเอื้อการลงทุนจากต่างชาติและเอื้อกับธุรกิจท้องถิ่นให้ได้

ในอีกทางหนึ่ง หลายความคิดเห็นกังวลว่า นโยบายนี้จะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูง หลังจากเปิดให้ต่างชาติซื้อขายได้มากขึ้น และทำให้คนไทยที่เดิมยากจะเอื้อมถึงการมี ‘ที่อยู่อาศัย’ ในเมืองกรุงอยู่แล้วยากขึ้นอีก

แหล่งอ้างอิง: The Guardian / Bloomberg / We Hate The Cold / ASEAN NOW

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา