โรงพยาบาลวิมุต รวบรวมอินไซต์ประชากรไทยวัยแรงงาน พบเกือบ 60 ล้านคน มีค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานสูงถึงสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก สะท้อนถึงความเสี่ยงที่จะล้มป่วยของโรคยอดฮิตของคนวัยทำงานหลายโรค สบช่องเปิดคลีนิกเฉพาะทาง พร้อมด้วยแพทย์ผู้ชำนานการเฉพาะด้าน รองรับผู้ป่วยวัยแรงงานในเมือง พร้อมเจาะลูกค้าชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 1,300 ล้านบาท
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า โรงพยาบาลวิมุตได้รวบรวมข้อมูลของกลุ่มคนวัยทำงานในประเทศไทย โดยในปี 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เผยว่าประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ทั้งสิ้น 58.92 ล้านคน แต่ที่น่าตกใจกว่านั้น ข้อมูลจากสถาบันวิจัยจีเอฟเค พบว่าคนไทยมีชั่วโมงการทำงานสูงถึงสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่สัปดาห์ละ 40-44 ชั่วโมง ซึ่งการทำงานมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก ส่งผลต่อถึงความเสี่ยงของการล้มป่วยด้วยโรคยอดฮิตที่มักจะพบในวัยกลุ่มคนทำงาน ที่มักจะเกิดจากใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล ระหว่างการทำงาน การพักผ่อน ไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ความเครียดการทำงาน รวมถึงอาการออฟฟิตซินโดม เราจึงเล็งเปิด 4 คลีนิกเฉพาะทาง รองรับ 4 โรคฮิตที่จะพบมากในคนกลุ่มวัยทำงาน เจาะกลุ่มเป้าหมายคนวัยแรงงานเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ในเขตเมืองชั้นกลางและใน ได้แก่ คลินิกปวดศีรษะ คลินิกกรดไหลย้อนและท้องผูก คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ และคลินิกโรคจมูกและไซนัส ซึ่งในแต่ละโรคที่มักพบบ่อยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
กลุ่มโรคกรดไหลย้อนและท้องผูก ที่มักจะพบได้ในกลุ่มทำงาน เกิดจากไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบทำให้กินอาหารไม่เป็นเวลา เคี้ยวไม่ละเอียด ความเครียดสะสม การกินของมันของทอด น้ำอัดลม รวมถึงแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ จนทำให้เกิดอาการได้หลากหลายแบบ ทั้ง แสบยอดอก กลืนลำบาก ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย หรือการขับถ่ายที่ไม่ปกติ ซึ่งเป็นเหตุที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ ได้ จนอาจอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนท้องผูกเป็นอาการที่พบบ่อยในคนไทยเช่นกัน จากการออกแรงถ่ายค่อนข้างเยอะ ไม่ขับถ่าย เข้าไม่เป็นเวลา หรือ ข้ามการขับถ่ายไป โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 20–40 ปี พบว่าเป็นโรคท้องผูกถึงร้อยละ 57 และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยเรื่องการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำน้อย การผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือความเจ็บป่วยอื่นๆ รวมถึงภาวะเครียดก็ส่งผลต่อการพฤติกรรมการขับถ่ายด้วย ทั้งสองกลุ่มโรค หากปล่อยทิ้งไว้นานจนอาการเรื้อรัง และหากไม่รีบรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลต่อความเสี่ยงถึงชีวิต ซึ่งวิธีการแก้ไขให้อาการดีขึ้น ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบจริงจัง ถึงจะทำให้อาการดีขึ้นถึงขั้นหายขาดได้
กลุ่มโรคปวดศีรษะ มีสถิติที่น่าสนใจจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าความชุกของโรคปวดศีรษะมีมากถึง 40% หมายความว่า ประชากรโลกราว 7 พันล้านคน มีคนปวดศีรษะถึง 3.1 พันล้านคน นอกจากนี้ ในจำนวนดังกล่าว เป็นโรคไมเกรนประมาณ 1 พันล้านคน โดย 15% ของผู้ปวดศีรษะรายงานว่าเป็นการปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการอักเสบติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง หรือมีเลือดออกในสมอง และสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตหรือพิการ สำหรับกรณีกลุ่มวัยทำงานส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากการความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ แต่หากมีการปวดหัวมากจนผิดปกติ รวมไปถึงมีอาการข้างเคียง ทั้งการชา แขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้ ภาพเบลอ หน้าเบี้ยว หมดสติ ประกอบด้วย ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และที่สำคัญไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด
กลุ่มโรคจมูกและไซนัส สำหรับกลุ่มวัยทำงานที่มักจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก เช่น การอยู่ในที่อากาศเย็นหรือแห้งเป็นเวลานานๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนอุณหภูมิฉับพลัน และพฤติกรรมเสริม ทั้งเรื่องของการพักผ่อนน้อย ขาดการออกกำลังกาย ส่งผลทำให้มีอาการต่อเนื่องจนเสี่ยงทำให้มีอาการเรื้อรังได้ ยิ่งหากอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นเยอะๆ ก็จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอ่อนแอ อักเสบง่าย และกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้ให้รุนแรงขึ้นด้วย เพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นไซนัสอักเสบมากขึ้นไปอีก สำหรับคนที่มีอาการปวดบริเวณใบหน้า ได้กลิ่นผิดปกติจากภายในจมูก น้ำมูกลงคอและน้ำมูกเขียวร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้อง
กลุ่มโรคหัวใจ ทั่วๆ ไปมักจะพบได้จากคนกลุ่มวัยทำงาน เกิดจากการหักโหมทำงานจนเครียด พักผ่อนน้อย บวกกับการกินอาหารที่มีไขมันสูง-รสจัด ไม่ได้ออกกำลังกาย ส่งผลต่อทำให้เป็นโรคหัวใจได้ง่ายขึ้น ส่วนอาการโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ จนส่งผลให้การบีบกล้ามเนื้อหัวใจ 2 ห้องบนไม่สัมพันธ์กัน โรคดังกล่าวถือเป็นภัยเงียบ เพราะร้อยละ 15–46 ของผู้ป่วยไม่มีอาการปรากฏ ส่วนสัญญาณเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ อาการใจสั่น อ่อนเพลีย หายใจติดขัด และแน่นหน้าอก หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษา ซึ่งหากยังนิ่งเฉย อาจจะลามไปเกิดอาการข้างเคียงได้ โดยเฉพาะลิ่มเลือดไปอุดตันสมอง หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย
รายได้พุ่ง 25% เร่งเพิ่มยอดลูกค้าชาวต่างชาติ
น.พ. สมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านผลประกอบการรายได้ 5 เดือนแรก (ม.ค.- พ.ค. 67) เพิ่มขึ้น 36% จากจำนวนคนไข้เติบโตขึ้นทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) 43% และผู้ป่วยใน (IPD) 29% โดยรายได้ไตรมาสที่ 2 เติบโตขึ้นมากกว่าไตรมาสที่ 1 และปีนี้ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1,300 ล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้ว 30% โดยคาดการณ์ว่าจะมีคนไข้เพิ่มขึ้น 20% โดยปัจจุบันโรงพยาบาลมีคนไข้เฉลี่ยประมาณ 50 คนต่อวัน
สำหรับเป้าหมายในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น จะเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งหลักๆ จะเป็นกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง (เมียนมา และกัมพูชา) ที่ต้องการการรักษาโรคเรื้อรัง กลุ่มชาวตะวันออกกลาง ที่ต้องการการรักษาโรคเฉพาะทาง และกลุ่มลูกค้าใหม่ โซนโอซีเนีย ที่มารักษาโรคเฉพาะทางด้านความงาม โดยเฉพาะโรคอ้วน เป็นต้น และในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มเจาะกลุ่มตลาดคนจีน โดยเริ่มทำการตลาดร่วมกับพาร์ทเนอร์ในประเทศจีน ส่งคนจีนมารักษาในประเทศไทยบ้างแล้ว
ปัจจุบัน โรงพยาบาลวิมุต มีสัดส่วนคนไข้ชาวต่างชาติประมาณ 8% ซึ่งเราต้องการเพิ่มตัวเลขให้มากกว่านี้ เพราะจริงๆ แล้วไทยเราเป็น medical hubs ที่ชาวต่างชาติมักจะมารักษาที่ไทยเป็นส่วนใหญ่ พอเจอวิกฤต COVID-19 ไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ ประเทศมีการปรับตัว พัฒนาการรักษาโรคต่างๆ ที่มีความซับซ้อน แพทย์มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ส่งผลทำให้ประเทศนั้นๆ สามารถรักษาโรคเฉพาะทางเองได้ ไม่จำเป็นต้องมารักษาที่ประเทศไทย และความท้าทายอีกประการที่เริ่มพบมากในตอนนี้ คือผู้ป่วยที่มีสิทธิ์รักษาฟรี ที่ใช้สวัสดิการรัฐในการรักษา เริ่มเข้มงวดในการให้ผู้ป่วยรักษาในประเทศมากขึ้น จึงทำให้มีเคสที่เข้ามารักษาในไทยน้อยลง แต่ก็มีลูกค้าชาวต่างชาติที่มีกำลังจ่าย และเชื่อมั่นในถึงศักยภาพของโรงพยาบาลในไทย โดยเฉพาะการรักษาโรคเฉพาะทาง จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เราได้ลงทุนเปิดคลีนิกเฉพาะทาง โดยเริ่มต้นจาก 4 คลีนิก พร้อมแพทย์ชำนาญการเฉพาะทาง และเร็วๆ นี้เรามีแผนที่จะเพิ่มคลีนิกเฉพาะทางในด้านอื่นๆ ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เชื่อมบ้านเข้ากับโรงพยาบาล “พฤกษา” จับมือ “รพ.วิมุต”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา