อะไรคือความต้องการจริงๆ ของกลุ่ม LGBTQ+ ในที่ทำงาน?
Pride Month เดือนแห่งสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความหลากหลายทางเพศ ทั่วโลกจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อสนับสนุนและตอกย้ำว่าโลกนี้ต้องการความหลากหลายทางเพศ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเพศอื่นๆ ทั้งหมด
ในไทยเราเห็นหลายองค์กรออกมาแสดงจุดยืนนี้ด้วยการใช้ธงสีรุ้ง 8 สี คือ ชมพู, แดง, ส้ม, เหลือง, เขียว, ฟ้า, น้ำเงิน และม่วง เพื่อบอกถึงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ หลายที่จัดกิจกรรมการตลาดเกาะกระแสสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง เพราะรู้ว่าผู้บริโภคยุคใหม่สนใจและให้ความสำคัญว่าองค์กรมองเรื่องนี้อย่างไร
รวมถึงว่าจะไปทำงานด้วยในฐานะพนักงาน องค์กรเหล่านี้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไร มีนโยบาย สวัสดิการ หรือการให้โอกาสกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากน้อยแค่ไหน?
และได้สนใจกับความต้องการที่แท้จริงหรือไม่ว่า เหล่า LGBTQ+ ต้องการอะไรในที่ทำงาน
ทุกเพศ ทุกวัย ต้องได้รับโอกาสที่เท่าเทียม
กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ของ AIS และกลุ่มอินทัช บอกว่า การคำนึงถึงความต้องการของพนักงานคือสิ่งสำคัญ ที่ AIS ใช้แนวคิดในการดูแลพนักงานคือ Equal Opportunity ให้โอกาสทุกคน ทุกเพศวิถี โดยไม่แบ่งแยก เปิดรับทุกความแตกต่างและหลากหลาย พร้อมกับสร้างความเท่าเทียม แบ่งได้ 4 ด้าน
- พนักงานเอไอเอสทุกคน ทุกเพศวิถี ทุกวัย จะได้รับการเสริมทักษะ ความรู้ ความเข้าใจและสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนให้ทุกคนเป็นตัวเองได้อย่างชัดเจน
- โอกาสในการแสดงความสามารถในตำแหน่งงานที่ไม่มีข้อจำกัด
- สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการและการดำเนินชีวิตที่แตกต่างของพนักงานในทุกระดับ ทุกเพศวิถี ทุกวัย
- การมีวัฒนธรรมองค์กร ที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนของพนักงาน ที่มีความเป็นธรรม โปร่งใส โอบรับและเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีภูมิหลังแตกต่างหลากหลาย ทั้งด้านการศึกษา เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ เพศสภาพ ช่วงอายุ รวมถึงผู้พิการ อย่างไม่มีข้อจำกัด
สวัสดิการที่ดีสะท้อนจากความต้องการของพนักงาน
ด้าน ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บอกว่า ภายหลังการควบรวม ทรู+ดีแทค ทำให้มีความหลากหลายของพนักงานมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ ทั้งเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สถานะทางสังคม อายุ ความบกพร่องทางร่างกาย ดังนั้นมั่นใจได้ว่า ทรู ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุด
ที่ทรู กำหนดนโยบายและสิทธิประโยชน์จากความคิดเห็นของพนักงานมาพิจารณาประกอบ โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ เช่น ลางานเพื่อการผ่าตัดแปลงเพศ 30 วัน ลาแต่งงาน 6 วันทำงาน ลาดูแลบุตรแรกเกิด 7 วัน หรือลาเพื่อฌาปนกิจ 15 วันต่อปี ที่บริษัทมีการจัดทำห้องนำสำหรับทุกเพศ (all genders restroom) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี Bring Your Best Club คลับที่ให้พนักงานส่งเสียงถึงความต้องการเพื่อนำไปสร้างความเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นนโยบายด้านบุคลากรใหม่ๆ ที่เข้าใจกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ใช่แค่พนักงาน แต่ลูกค้าก็ได้รับด้วย
แสนสิริ เป็นอีกบริษัทของไทยที่สนับสนันเรื่องความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศอย่างชัดเจน สมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff ของแสนสิริ บอกว่า แสนสิริสนันสนุนการซื้อบ้านร่วมกันของคู่รักที่เป็น LGBTQ+ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม โดยได้ผลักดันเรื่องการกู้ร่วมของกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากธนาคารพันธมิตร 8 แห่ง นี่คือการผลักดันนอกองค์กร
ส่วนภายในองค์กร มีสวัสดิการที่เข้าใจและใส่ใจพนักงาน อาทิ การลาผ่าตัดแปลงเพศไม่เกิน 30 วันต่อปี, ลาสมรส ไม่เกิน 6 วันต่อปี สวัสดิการยังครอบคลุมไปถึงคู่ชีวิตของพนักงาน อาทิ วัคซีนทางเลือกและประกันสุขภาพ
การผลักดันเรื่องนี้ของแสนสิริ ครอบคลุมถึงทุกเพศเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม หยุดการล่วงละเมิดเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะจากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีสถิติตัวเลขสตรีถูกกระทำความรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า 7 คนต่อวัน ซึ่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ที่น่ากังวลมากไปกว่านั้นก็คือผู้ที่ถูกล่วงละเมิดอาจจะขาดความตระหนักเกี่ยวกับการล่วงละเมิด หรืออาจจะยังมีความอับอายหรือไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นหรือร้องเรียน ดังนั้นตัวเลขสถิติดังกล่าวก็อาจจะไม่ได้สื่อให้เห็นถึงสถานการณ์จริงก็เป็นได้
ท้ายที่สุด การให้ความสำคัญอย่างแท้จริงกับ Pride Month คงไม่ใช่แค่กิจกรรมการตลาดเท่านั้น แต่ทุกองค์กรต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ ไม่ใช่เฉพาะ LGBTQ+ แต่ต้องรวมถึงเพศหญิง เพศชาย ในองค์กรด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา