Meta เพิ่มฟีเจอร์ขายของออนไลน์ใน Facebook! ต่อไปแชทซื้อของกับ AI จับมือ Shopee เชื่อมแคตตาล็อกร้านค้ามาบน Messenger ในไทยที่แรก

ยุคนี้ ยุคของ Social Commerce ที่แท้จริง! Facebook กางฟีเจอร์ใหม่ จับมือ Shopee ให้นักช็อปดูแคตตาล็อกสินค้าบน Messenger ได้ บวกกับดูไลฟ์ไปพร้อมกับเลือกของ

Meta บอกว่า ผู้บริโภคชาวไทย 9 ใน 10 ติดต่อของธุรกิจหรือร้านค้าผ่านแอปพลิเคชันแชท หนึ่งในแพลตฟอร์มที่นิยมช็อปปิ้งกันอย่างมากก็คือ Facebook และ Messenger 

ล่าสุด Meta ไดปล่อยฟีเจอร์ใหม่หลายตัว แต่ดูทุกตัวแล้วบอกได้เลยว่าทั้ง Facebook และ Messenger จะกลายเป็นตลาดขายของออนไลน์มากกว่าเดิม

ฟีเจอร์ช็อปปิ้งบน Messenger

Meta บอกว่า แพลตฟอร์มมีจุดแข็งอยู่ที่จำนวนผู้ใช้งานที่มากเป็นอันดับ 1 ในบรรดาโซเชียลมีเดียอื่น ๆ บวกกับการเป็น Discovery Engine ที่ทำให้ลูกค้าค้นพบร้านค้าและสินค้าที่ตรงความต้องการได้ นำมาสู่การจับมือกับ Shopee สร้างฟีเจอร์ช็อปปิ้งบน Messenger ขึ้นมาให้ใช้ในประเทศไทยเป็นประเทศแรก 

สำหรับฟีเจอร์นี้ ธุรกิจสามารถเชื่อมต่อแคตตาล็อกสินค้าของตัวเองขึ้นไปอยู่บน Facebook ทำให้ทางฝั่งผู้ซื้อสามารถดูรายการสินค้าได้ภายในกล่องข้อความบน Messenger และกดซื้อได้โดยไม่ต้องออกจากแชท 

ฟีเจอร์นี้ช่วยสร้างผลลัพธ์ให้การโฆษณาแบบคลิกเพื่อส่งข้อความไปยัง Messenger ทำให้ร้านค้ามีต้นทุนต่อยอดซื้อลดลง 23% และผลตอบแทนที่ได้กลับมาจากเงินที่จ่ายเพื่อโฆษณาเพิ่มขึ้น 87%

ธุรกิจเริ่มเชื่อมต่อแคตตาล็อกของตัวเองมาบน Facebook ได้แล้วตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เครื่องมือ Live Shopping

สำหรับสายไลฟ์สดไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งนักช็อปหรือร้านค้าเองก็มีฟีเจอร์ใหม่จากทาง Facebook หลัก ๆ อยู่ที่ผู้ชมที่ดูไลฟ์สตรีมขายของจะกดเลือกดูสินค้าไปพร้อม ๆ กันได้ ช่วยแก้ Pain Point เวลาที่ลูกค้าเข้ามาดูช่วงเริ่มต้นไม่ทันทำให้ผู้ขายต้องพูดซ้ำ จากนั้นก็สามารถใช้ Messenger ต่อเพื่อติดตามการขายและตอบคำถามลูกค้า 

ทางฝั่งธุรกิจเองก็สามารถบูสต์วิดีโอไลฟ์สตรีมได้ ช่วยให้คนค้นพบไลฟ์และร้านค้ามากขึ้น สร้างโอกาสที่จะตัดสินใจซื้อเพิ่ม โดยฟีเจอร์นี้เปิดให้ใช้แล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

Meta มีพาร์ทเนอร์หลักที่ช่วยกันพัฒนาฝั่ง Live Shopping คือ V Rich App บริษัทผู้ให้บริการระบบการจัดการคำสั่งซื้อและปิดการขาย หลังจากนี้ Meta จะเริ่มเปิดให้ธุรกิจอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านโซลูชั่นอื่นนอกจาก V Rich App อีก เช่น ZWIZ.AI, Kaojao 

AI ส่งข้อความทางธุรกิจ

อีกเครื่องมือหนึ่งที่ Meta ให้ความสำคัญในครั้งนี้ คือ การลงทุนกับโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง Llama 3 ที่นำไปพัฒนาต่อเป็น AI Agent แชทบอทที่ช่วยให้ธุรกิจตอบคำถามลูกค้าได้ราบรื่น ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและร้านค้า 

AI จะทำความรู้จักกับธุรกิจผ่านแคตตาล็อกสินค้า ส่วนลูกค้าก็สามารถเรียกดูรายการสินค้าผ่านช่องแชทของ AI ได้ ซึ่งขณะนี้ Meta กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา AI ให้พร้อมใช้งานในอนาคตซึ่งจะรวมถึงการให้บริการเป็นภาษาไทยด้วย 

เทรนด์การแชทเพื่อธุรกิจและ Live Shopping

ที่มาที่ไปของการพัฒนาฟีเจอร์บน Facebook เพื่อให้ตอบโจทย์การแชทเพื่อซื้อขายสินค้าและ Live Shopping มาจากพฤติกรรมของนักช็อปชาวไทยที่ซื้อสินค้าผ่าน E-commerce และ Social Commerce และนิยมทักแชทพูดคุยกับร้านค้าโดยตรง

ข้อมูลของ Meta จากทางฝั่งผู้บริโภคชาวไทยพบว่า 

  • 50% ใช้ Facebook เป็นแพลตฟอร์มในการซื้อสินค้า ส่วนอีก 40% ใช้ Messenger 
  • 90% สื่อสารกับผู้ขายผ่านการแชทระหว่างการซื้อสินค้า 
  • 71% บอกว่า ข้อความด้านการตลาดและโปรโมชั่นจากแบรนด์ใน Messenger ตรงกับความสนใจของพวกเขา
  • 41% บอกว่า จะซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น หากได้รับประสบการณ์และคำปรึกษาที่ดีแบบตัวต่อตัวจากผู้ขาย
  • 69% บอกว่า สบายใจที่จะสื่อสารกับธุรกิจต่าง ๆ ผ่านแชทบอท AI 

ส่วนฝั่ง Live Shopping เองก็เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน 

  • 8 ใน 10 รับชมไลฟ์สตรีมอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ 
  • 7 ใน 10 สั่งซื้อสินค้าผ่าน Live Shopping
  • 62% ชอบดู Facebook Live มากกว่าไลฟ์บนแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพราะสามารถส่งข้อความหาผู้ขายและรับคำปรึกษาแบบตัวต่อตัวได้
Facebook Instagram iPhone Screen
ภาพจาก Shutterstock

และเพราะว่าผู้บริโภคนิยมการช็อปปิ้งผ่านทางแชทธุรกิจและ Live Shopping ทำให้ธุรกิจมีโอกาสมากขึ้นในการขายผ่านทางออนไลน์ ลองมาดูผลสำรวจจากฝั่งธุรกิจกันบ้าง

  • 91% ของธุรกิจในไทยพอใจในการใช้ Messenger เพื่อสื่อสารกับลูกค้า
  • 76% เข้าถึง Leads หรือกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสเปลี่ยนเป็นลูกค้าในอนาคต จากการลงโฆษณาบน Facebook ในลักษณะคลิกเพื่อไปสู่การสนทนาผ่านแชท

ส่วนเรื่องชุมชนของผู้ใช้บนแพลตฟอร์มของ Meta จากข้อมูลอัปเดตในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ในแต่ละวัน มีผู้ใช้งานประมาณ 3,240 ล้านคนที่ใช้บริการแพลตฟอร์มของ Meta อย่างน้อย 1 แห่ง 

นอกจากนี้ หลังจากมีการนำ AI มาแนะนำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม ทำให้เวลาการใช้งานบน Facebook เพิ่มขึ้น 7% และบน Instagram เพิ่มขึ้น 6% โดย Meta บอกว่า มากกว่า 50% ของคอนเทนต์ที่เห็นบนหน้าฟีด Instagram มาจากการแนะนำของ AI ส่วนบน Facebook มีสัดส่วน 30%

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา