บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด หรือ PepsiCo ประเทศไทย ลงทุนหลักสิบล้าน เพิ่มนวัตกรรมการเกษตร ยกระดับการผลิตมันฝรั่งเพื่อใช้กับ เลย์, ตะวัน และอื่น ๆ รวมกว่า 94,000 ตัน ดันรายได้ให้เกษตรกรเพิ่ม 15% หวังอนาคตลดการนำเข้ามันฝรั่งจากต่างประเทศเพื่อใช้ผลิตที่โรงงานไทย จากปัจจุบันเป็นสัดส่วน 30%
PepsiCo ประเทศไทย ยกระดับการปลูกมันฝรั่ง
สุดิปโต โมชุมดา กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอาหารอินโดจีน บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด หรือ PepsiCo ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ทางบริษัทมีการลงทุนหลักสิบล้านบาททุกปีเพื่อยกระดับการผลิตมันฝรั่งเพื่อใช้กับสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ เช่น เลย์, ตะวัน และซันไบทส์ เป็นต้น
การลงทุนดังกล่าวเน้นไปที่นวัตกรรมทางการเกษตรเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการปลูกมันฝรั่ง เช่น การใช้โดรน และเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เพื่อตรวจจับข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะปลูก และนำไปคำนวณหาวิธีเพิ่มผลผลิต และสร้างผลตอบแทนให้กับเกษตรกรที่ทำสัญญากับบริษัทให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
“ภายในปี 2030 PepsiCo หวังเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ทำสัญญากับเราอีก 15% แม้สภาพอากาศในไทยจะเปลี่ยนไป มีความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น แต่ด้วยความเชี่ยวชาญที่เข้ามาสนับสนุนการเพาะปลูกมันฝรั่งที่ไม่ใช่พืชท้องถิ่นที่นี่นานกว่า 20 ปี ประสบการณ์ที่เรามีจะทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้นได้”
หวังปีนี้ได้ผลผลิตกว่า 94,000 ตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ปี 2024 มีเกษตรกรที่ทำสัญญากับ PepsiCo ประเทศไทยราว 5,800 ราย เพาะปลูกอยู่บนพื้นที่ 38,000 ไร่ สิ้นปีนี้คาดว่าจะได้ผลผลิตมันฝรั่ง 94,000 ตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2023 โดยปัจจุบันหลังจากจบฤดูแล้งทำไปได้แล้ว 72,400 ตัน เหลือฤดูฝนในการเพาะปลูกอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามมันฝรั่งจำนวนดังกล่าวยังไม่เพียงต่อการใช้ผลิตใน 2 โรงงานที่ประเทศไทย เพราะจำนวนนี้คิดเป็น 70% ของมันฝรั่งทั้งหมด โดยที่เหลือเป็นการนำเข้ามันฝรั่งมาจากต่างประเทศ ผ่านเหตุผลหลักคือ จำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่เพียงพอ ประกอบกับเกษตรกรยังมีอายุค่อนข้างมาก ต้องหาคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วย
ในปีแรกที่ PepsiCo ประเทศไทย เริ่มเพาะปลูกมันฝรั่งทำผลผลิตได้เพียง 15,000 ตัน เพราะแต่เดิมมันฝรั่งเป็นพืชที่ปลูกในเมืองหนาว ต้องการอุณหภูมิต่ำ จึงปลูกได้ในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางพื้นที่ของไทยเท่านั้น ที่สำคัญมันฝรั่งเป็นอีกสินค้าเกษตรที่มีการทำราคาประกันโดยหน่วยงานภาครัฐ
ให้ราคาสูงกว่าราคาประกันกระตุ้นการเพาะปลูก
PepsiCo ย้ำว่า ภายใต้สัญญากับเกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่ง บริษัทได้ให้ราคาสูงกว่าราคาประกันที่หน่วยงานรัฐกำกับที่ปัจจุบันผลผลิตในหน้าแล้งอยู่ที่ 11 บาท/กก. ส่วนหน้าฝนอยู่ที่ 14 บาท/กก. โดยการกำกับนั้นจะอยู่ในกลุ่มพืชหัว เช่น หอมหัวใหญ่, หอมแดง และกระเทียม
ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากประเทศไทยจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งของ PepsiCo ทางบริษัทยังทำการผลิตในเวียดนามซึ่งให้ผลผลิตใกล้เคียงกับที่ประเทศไทยทำได้ รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาการเพาะปลูกมันฝรั่งในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติม
หากอ้างอิงข้อมูล NielsenIQ พบว่า ภาพรวมตลาดมันฝรั่งทอดกรอบของประเทศไทยในปี 2023 มีมูลค่าตลาดราว 14,000 ล้านบาท โดย PepsiCo คือหนึ่งในผู้นำตลาด ส่วนรายได้ที่ PepsiCo สร้างให้เกษตรกรในปีล่าสุดอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท
จัดการปัญหา ยกระดับความยั่งยืนให้เกษตรกร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีปัญหาทางการเกษตรเกิดมากขึ้น เช่น เรื่องโรคทางการเกษตร และราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้นเท่าตัว จึงเกิดภาวะต้นทุนสูงขึ้นกว่าเดิมมาก หลายบริษัทจึงต้องปรับตัวผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น รวมถึงการเจรจากับคู่ค้าเพื่อขยายตลาดใหม่ ๆ
ล่าสุด PepsiCo ประเทศไทยเดินหน้าแผน PepsiCo Positive หรือ Pep+ ประกอบด้วยเกษตรกรเชิงบวก, ทางเลือกเชิงบวก และห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก ซึ่งทั้ง 3 เรื่องมีกิจกรรมตั้งแต่การฟื้นฟูผืนดินในพื้นที่เพาะปลูกด้วยพืชตระกูลถั่ว, การเดินหน้าแผน Net Zero ภายในปี 2040 รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์เรื่องคุณค่าโภชนาการ
นอกจากนี้ PepsiCo ยังเจรจากับหน่วยงานเกี่ยวกับการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน เช่น การมีสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับเงินทุน รวมถึงการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในองค์กรให้เป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งสินค้า และใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานต่าง ๆ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา