Sports Marketing คือหนึ่งในวิธีการทำตลาดที่นักการตลาดยังลดความสำคัญไม่ได้ เพราะนอกจากช่วยเพิ่มภาพลักษณ์แบรนด์ในแง่มุมต่าง ๆ การแข่งขันกีฬาในนัดสำคัญยังมีผู้รับชมพร้อมกันจำนวนมาก สร้างการจดจำให้แบรนด์ได้ไม่น้อย ซึ่ง One Championship คืออีกองค์กรกีฬาที่ออกมาตอกย้ำเรื่องนี้
ถ้าถามว่า One Championship คือใคร คำตอบก็คงไม่พ้นองค์กรศิลปะการป้องกันตัว หรือ Martial Arts ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี ชาตรี ศิษย์ยอดธง ผู้ก่อตั้ง ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้ขับเคลื่อน และปี 2023 มีผู้รับชมการถ่ายทอดสดกว่า 856 ล้าน ชม. ผ่านการแข่งขัน 58 รายการ และถ่ายทอดสดไป 195 ประเทศทั่วโลก
จากตัวเลขการเข้าถึงที่มากขนาดนี้ จึงเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ดึงดูดแบรนด์ระดับโลกเข้ามาร่วมทำตลาด และเติบโตไปกับ One Championship แต่จะมีแบรนด์อะไรบ้าง และ Sports Marketing ในมุมของ One Championship จะออกมาในรูปแบบใด Brand Inside ได้รวบรวมไว้ให้ดังนี้
ตลาดกีฬาใหญ่กว่าภาพยนตร์ และวงการเพลง
ชาตรี ศิษย์ยอดธง ผู้ก่อตั้ง ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร One Championship อธิบายว่า กีฬาอาจถูกมองข้ามจากผู้บริโภคทั่วไป เพราะทุกคนต่างมองอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และเพลงนั้นใหญ่กว่า แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น เพราะหากรวมมูลค่าตลาดทั้งสองอุตสาหกรรมยังไม่เท่ากับอุตสาหกรรมกีฬา
“สิ้นปี 2022 มูลค่าอุตสาหกรรมกีฬาทั่วโลกอยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าภาพยนตร์ และเพลงทั่วโลกรวมกันที่อยู่ราว 3 แสนล้านดอลลาร์ และหลังจากนี้มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปี จนปี 2027 มีมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ผ่านมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่เป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่ง One Championship คือหนึ่งในนั้น”
หากเจาะไปที่ตัวเลขการรับชมผ่านข้อมูลของบริษัทวิจัย Nielsen จะพบว่า One Championship ถูกเข้าถึงผ่านการแพร่ภาพทางโทรทัศน์กว่า 406 ล้านราย อยู่ในอันดับที่ 4 เป็นรองมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่เป็นอันดับ 1 ที่ 1,470 ล้านราย และมีตัวเลขหนือกว่า English Premier League, NBA และการแข่งขันคู่แข่งอย่าง UFC
กีฬาคือหนึ่งในไม่กี่รายการที่ต้องดูสดพร้อมกัน
นอกจากตัวเลขอุตสาหกรรมที่ใหญ่ กีฬายังเป็นอีกรายการที่สร้างประสบการณ์รับชมสดพร้อมกันของผู้บริโภค ซึ่งมีไม่กี่รูปแบบรายการที่ทำแบบนี้ได้ และเมื่อทุกคนเข้ามาดูสด ทำให้เกิดความรู้สึกร่วม หรือ Engagement ของผู้ชมได้เป็นอย่างดี เกิดการจดจำทั้งการแข่ง และแบรนด์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้น
“ผมไปดูมวยไทยที่สนามลุมพินีตอน 9 ขวบก็ยังจำประสบการณ์นั้นได้ จำทุกอย่างในสนามได้ เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่ากีฬามันช่วยสื่อสารการตลาด เมื่อควบคู่กับการที่รัฐบาลไทยต้องการผลักดัน Softpower เราก็อยากมีส่วนร่วมในการนำมวยไทยออกไปในตลาดโลก และพาแบรนด์ต่าง ๆ เติบโตไปด้วยกันกับเรา”
ชาตรี ยกตัวอย่างการสนับสนุนจากภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ว่า ในสหรัฐอเมริกามีการใส่เงินเข้าไปในอุตสาหกรรมกีฬาเต็มที่ เพราะนั่นคืออีก Softpower ที่พวกเขาต้องการสื่อสาร เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรที่ให้ความสำคัญกับฟุตบอล ดังนั้นไทย ที่มี มวยไทย เป็นกีฬาที่เกิดขึ้นโดยคนไทยก็ควรส่งออกไปในระดับโลก หรือ Global Scale ได้
โฆษณาไหลเข้ารายการกีฬาครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
อีกข้อพิสูจน์ว่า Sports Marketing ยังมีความสำคัญคือ เม็ดเงินโฆษณาในสื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เช่น Disney, Fox และ CBS เกิน 35% นั้นมาจากรายการเกี่ยวกับกีฬา ซึ่งเรื่องนี้ทำให้มูลค่าการซื้อลิขสิทธิ์กีฬาต่าง ๆ ไปถ่ายทอดนั้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน
“ในประเทศไทย ถ้าถามถึงรายการที่มีผู้รับชมพร้อมกันมากที่สุดก็คงไม่พ้นละครหลังข่าว เพราะเป็นอย่างนี้มา 50 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเมื่อ One Championship จับมือกับช่อง 7 ทำให้เกิดครั้งแรกที่รายการกีฬามีผู้รับชมพร้อมกันมากที่สุดในไทย และในทุกวันศุกร์ที่มีการแข่งขันของเราก็ทำเรตติ้งได้อันดับ 1 ของไทยด้วย”
One Championship เกิดขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน ผ่านความต้องการสื่อสารมวยไทย และศิลปะการป้องกันตัวผ่านทางโทรทัศน์ของ ชาตรี ศิษย์ยอดธง หลังจากคลุกคลีกับอุตสาหกรรมมวยไทยมากว่า 40 ปี โดยปี 2023 มีผู้รับชมการถ่ายทอดสดกว่า 856 ล้าน ชม. ผ่านการแข่งขัน 58 รายการ และถ่ายทอดสดไป 195 ประเทศทั่วโลก
เจาะลึกรายการ One Championship
ปัจจุบัน One Championship แบ่งรายการเป็น 3 ระดับประกอบด้วย One Lumpinee หรือ One Friday Fights รายการที่ฉายวันศุกร์ช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของเอเชีย แพร่ภาพทุกสัปดาห์ จัดในประเทศไทยที่สนามมวยลุมพินีที่รองรับผู้ชมได้ 2,000 คน จัดทำขึ้นเพื่อเจาะตลาดไทย และเอเชียโดยเฉพาะ
ถัดขึ้นมาคือ One Fight Night การแข่งขันรายเดือน หรือ 12 ครั้ง/ปี ฉายช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของสหรัฐอเมริกา ถูกวางเป็นรายการระดับเรือธงของ One Championship และสูงที่สุดคือ One Numbered Events จัดขึ้นไตรมาสละครั้ง ฉายเวลาไพรม์ไทม์ของเอเชีย
โดยฐานผู้ชมของ One Championship ส่วนใหญ่เป็น Millennial โดยเฉพาะ Gen Z เป็นเพศชาย 60% และเพศหญิง 40% ที่สำคัญกลุ่มผู้ชมเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ชื่นชอบสุขภาพ และยินดีที่จะจับจ่ายในสิ่งที่พวกเขาต้องการแม้มีราคาสูง
ตัวอย่างคือไฟต์ ONE167: ตะวันฉาย vs โจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวอย่างที่ดีในกรณีของ One Championship คือ One 167 การแข่งขันรายการสูงสุดของ One Championship ที่ถูกพูดถึงในวงกว้างหลังจากการชกนัดดังกล่าวจบลง ไม่ว่าจะเป็นในหน้าสื่อ หรือการวิพากษ์วิจารณ์การแข่งขันระหว่างผู้ชมด้วยกันเองผ่านโซเชียลมีเดีย หรือกลุ่มเพื่อน
การแข่งขันดังกล่าวถูกแพร่ภาพไป 190 ประเทศทั่วโลก แต่ด้วยผลที่อาจค้านสายตาแฟนมวย หรือผู้ชมทั่วไป เพราะ ตะวันฉาย เป็นฝ่ายชนะด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ป้องกันเข็มขัดครั้งที่ 3 สำเร็จ แม้ช่วงหลังของการชกจะถูกต่อยจนตาช้ำ แถมช่วงหลังการชกเจ้าตัวยังให้สัมภาษณ์เองว่า ไม่มีอะไรจะอธิบาย
ชาตรี ศิษย์ยอดธง จึงเตรียมจัดรีแมตช์การชกดังกล่าวขึ้นอีกครั้ง ผ่านการประกาศอย่างไม่เป็นทางการ ถือเป็นการสร้างเรื่องราวให้ผู้ชม และแฟนมวยได้ติดตาม อีกทั้งฝั่งแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ก็สามารถร่วมทำตลาดผ่านการแข่งขัน One Championship เพื่อสร้างการเติบโตไปพร้อมกันได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา