Watsons รีเฟรชแบรนด์ทุ่มกว่า 100 ล้านบาท อยากได้ลูกค้าคนรุ่นใหม่ เพราะออนไลน์ของตัวเองยังไม่โต?

แม้ว่า Watsons จะบอกว่าต้องลุยทั้งหน้าร้านและออนไลน์ เพราะยอดขายออนไลน์โตกว่า 3 เท่า แต่เมื่อถามกันตรงๆ กลับมองไม่เห็นตัวเลข สรุปว่าโตจริงหรือว่ายังทำตลาดได้เล็กมาก? แต่ที่แน่ๆ รอบนี้ได้รีเฟรชแบรนด์ใหม่ ปรับเปลี่ยนหลายอย่างเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า

Watsons รีเฟรชแบรนด์ ลุยทั้งออนไลน์-ออฟไลน์

หลังจากที่ Watsons ประเทศไทยวางทิศทางว่าจะเดินหน้าสู่การขายบนออนไลน์มากขึ้น เพราะมียอดขายบนออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า แต่ในขณะเดียวกันก็ยังทิ้งหน้าร้านไม่ได้

มาวันนี้ Watsons ประกาศปรับภาพลักษณ์ใหม่ (Brand Refresment) มร.ร็อด เร้าท์ลีย์ กรรมการผู้จัดการ วัตสัน ประเทศไทย บอกว่า “ด้วยความที่ Watsons เป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกด้านสุขภาพและความงาม ดูได้จากร้านค้า (store) ที่มีอยู่มากที่สุด ทำให้ต้องมีการขยับ ปรับแบรนด์ให้รีเฟรชขึ้น รอบนี้ลงกว่า 100 ล้านบาท เพื่อทำการปรับทั้งในร้านค้า ปรับทั้งยูนิฟอร์มของพนักงานใหม่หมด แถมบัตรสมาชิกก็มีการปรับรูปแบบด้วย แต่นอกจากหน้าร้านแล้ว ในออนไลน์ที่เห็นการเติบโตมาตลอดก็จะลงให้เข้มขึ้น ทั้งปรับรูปแบบให้ค้นหาได้ง่ายขึ้น เพิ่มข้อมูลรายละเอียดสินค้า จัดโปรโมชั่นที่เหนือกว่าหน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีในการซื้อของ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์”

ส่วนงบประมาณที่รีเฟรชแบรนด์ครั้งนี้ไม่ใช่งบใหม่ แต่เป็นงบประมาณที่ Watsons เคยบอกไปแล้วว่าจะใช้ลงทุนใน 2017 ประมาณ 500 ล้านบาท หมายความว่า การรีเฟรชแบรนด์ครั้งนี้จะใช้งบประมาณ 100 ล้านจากก้อนใหญ่ 500 ล้านไปกับการรีเฟรชแบรนด์

มร.ร็อด เร้าท์ลีย์ กรรมการผู้จัดการ วัตสัน ประเทศไทย

การแจกแจงตัวเลขอย่างละเอียด Watsons ขอไม่เปิดเผย แต่เงินส่วนใหญ่จะไปลงกับการรีเฟรชแบรนด์ผ่านสาขาที่มีหน้าร้าน ส่วนแผนขยายสาขาที่เคยบอกไว้ว่าจะขยายในปีนี้ 50 สาขา ผ่านไปแล้วเกินครึ่งปี Watsons บอกว่ามาครึ่งทางแล้วเช่นกัน เพราะขยายได้ 26 สาขาเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามหากทำได้ตามแผนที่วางไว้ สิ้นปีนี้ Watsons จะมีสาขาทั้งหมด 467 แห่งทั่วประเทศ

ลุยเติมสินค้าแบรนด์ตัวเองอีก 200 ชิ้น ตามเทรนด์ให้ทัน ดึงคนรุ่นใหม่

สำหรับการรีเฟรชแบรนด์รอบนี้ Watsons ยังวางแผนที่จะเติมสินค้าของตัวเองเข้าไปในร้านอีก 200 ชิ้น จากเดิมที่มีแบรนด์ตัวเองอยู่ 800 ชิ้นในจำนวน SKU ทั้งหมดที่ 5,000 ชิ้น ส่วนการเลือกสินค้ามาลง Watsons ย้ำว่า ตลาดสกินแคร์-ความสวย-ความงามคือสิ่งที่ต้องจับเทรนด์ให้ไว และ Watsons เองก็ชำนาญอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นช่วงไหนมีสินค้าอะไรโดดเด่น Watsons ก็ไม่พลาดที่หยิบเข้ามาในร้านค้า อย่างเช่นตอนนี้ สกินแคร์จากฝั่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้น่าสนใจ Watsons ก็นำเข้ามาขายอยู่แล้ว

Watsons บอกว่า ร้านค้าที่ปรับไปนี้จะให้ความรู้ใหม่ๆ สดชื่น พร้อมกับมีสินค้าใหม่เข้ามาอย่างที่บอก ทั้งหมดก็เพื่อดึงลูกค้ารุ่นใหม่ แต่ถ้าไปดูเลขตัวเมมเบอร์บัตรของ Watsons จะพบว่า มีอยู่ทั้งหมด 3.5 ล้านคน แต่เป็นคนรุ่นใหม่อายุ 18 – 25 เพียง 20% เท่านั้น คาดว่าหลังจากนี้จะต้องเร่งขายฐานตรงนี้เช่นเดียวกัน

รีเฟรชแบรนด์ ด้วยยูนิฟอร์มพนักงานรูปแบบใหม่

โกออนไลน์คือคำตอบ แต่ยังเล็กมาก บอกข้อมูลไม่ได้

แม้ว่า Watsons จะเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกด้านสุขภาพและความงาม แต่ต้องยอมรับว่าในตลาดนี้ผู้เล่นมีมากมาย ทั้งจากต่างประเทศ บ้านใกล้เรือนเคียงก็เยอะ และที่สำคัญหลายหลังๆ ที่มาเปิดใหม่แทบจะเน้นการขายในออนไลน์กันเป็นหลักทั้งหมดแล้ว แต่ Watsons ที่บอกเสมอว่าเป็นเบอร์ 1 ของตลาดสุขภาพและความงาม โดยเฉพาะในแง่ของจำนวนร้านค้า กำลังทำตลาดบนออนไลน์ด้วยเป้าหมายเดิมคือ “โต 3 เท่า”

แน่นอนว่าใครๆ ก็ทราบดีว่า ในท้ายที่สุด ค้าปลีก(และในอีกหลายธุรกิจ) ต้องโกออนไลน์ แต่สำหรับ Watsons ดูเหมือนว่าเป้าหมายยังไม่ชัดเจนนักว่าจะเติบโตอย่างไร ทั้งในแง่ตัวเลขเปรียบเทียบยังไม่มีออกมาให้เห็น (ไม่ว่าจะขอให้เทียบรายปี-รายเดือน ก็จะได้คำตอบเดิมว่า โต 3 เท่า)

นั่นก็หมายความว่า สัดส่วนออนไลน์ของ Watsons ยังคงเล็กมากหากเทียบกับหน้าร้าน เพราะแม้จะบอกว่าโต 3 เท่า แต่การโต 3 เท่าที่ว่ามานี้ ผู้บริหารก็ยังบอกว่า “ยังจะโตแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ” ทำให้เห็นได้ว่า Watsons ยังไม่ได้มีแผนอะไรที่เป็นรูปธรรมมากนักในแง่ยอดขายของการลุยบนออนไลน์ เป็นไปได้ว่าอาจจะยังทำตลาดได้เล็กมาก ก็หวังว่าการรีเฟรชแบรนด์ครั้งนี้จะช่วยได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

สรุป

สำหรับการรีเฟรชแบรนด์ของ Watsons ในครั้งนี้ จุดประสงค์คือต้องการทำให้ประสบการณ์การซื้อสินค้าของผู้บริโภคต่างออกไปจากเดิม เพราะถ้าเราย้อนดูตั้งแต่ปี 2009 Watsons ได้รีเฟรชแบรนด์รอบนั้นมาอย่างยิ่งใหญ่ แต่นั่นก็นานมากแล้ว หรือไล่มาใกล้ๆ หน่อยเมื่อปี 2013 ก็ทำการรีเฟรชแบรนด์ไป จนมาถึงครั้งล่าสุดนี้ เฉลี่ยแล้วก็คือทำทุกๆ 4 – 5 ปี เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสดใหม่กับแบรนด์ของตัวเอง

ส่วนในแง่การบุกออนไลน์ของ Watsons ที่ยังไม่ชัดเจนทั้งในเรื่องยอดขาย รวมถึงอัตราการเติบโตที่พูดอยู่ตลอดว่า “โต 3เท่า” เอากันเข้าจริงๆ แล้ว มันคือตัวเลขอะไรกันแน่ แต่สุดท้ายก็คงต้องเป็นรูปแบบการขายแบบ Omni-Channel อยู่แล้ว แต่เอาเป็นว่าเราก็ต้องจับตาดูกันต่อไป

และนอกจากนั้น เวลาเราพูดถึง Watsons เชื่อว่าหลายคนต้องมีภาพจำกับ “โปรโมชั่น 1 บาท” แต่ถ้าถามว่าภาพลักษณ์นี้ส่งผลดีต่อแบรนด์อย่างไรบ้าง? ผู้บริหารตอบว่า “ถือว่ายังเป็นโปรโมชั่นที่ได้รับการตอบรับดี แต่ทั้งนี้โปรโมชั่น 1 บาทเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการขายทั้งหมด สิ่งสำคัญคือการพัฒนาสินค้า (product development) ด้วยนวัตกรรมต่างหากที่จะเป็นตัวชี้วัดในตลาด”

หน้าตาบัตรใหม่ของ Watsons

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา