Kaspersky ชี้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังมีผลกระทบในตลาดอาเซียน เร่งเจรจาลูกค้าองค์กรปรับความเข้าใจ

Kaspersky หนึ่งในกลุ่มผู้นำของตลาดความปลอดภัยไซเบอร์ มองปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังมีผลกับการดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน เร่งเจรจาคู่ค้าเพิ่มความเข้าใจ ควบคู่การทำตลาดกลุ่มองค์กรผ่านผลิตภัณฑ์ที่มากกว่าแค่แอนติไวรัสในเครื่อง หวังส่วนแบ่งตลาดเติบโตในอัตราเลขสองหลักเช่นเดิม

Kaspersky

Kaspersky ชี้ภูมิรัฐศาสตร์ยังมีผลกับธุรกิจ

ไล่ เหล่ง โชว์  หัวหน้าฝ่ายเอ็นเทอร์ไพรซ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Kaspersky เล่าให้ฟังว่า ราว 2 ปี ที่เกิดสงครามในระดับโลก บริษัทได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยบริษัทมีการเจรจากับคู่ค้ากลุ่มองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับความเข้าใจในสถานการณ์ดังกล่าว

ส่วนในประเทศไทยได้รับผลกระทบเล็กน้อย เนื่องจากยังมีองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองระดับโลก เช่น องค์กรญี่ปุ่น ทำให้บริษัทมีการเจรจากับคู่ค้ากลุ่มดังกล่าว และสร้างธุรกิจในภูมิภาคนี้ให้เติบโตผ่านการที่บริษัทแม่เพิ่มความสำคัญในตลาดอาเซียนมากขึ้น

“เรามีการลงทุนในตลาดอาเซียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนทีมงาน และช่องทางจำหน่ายในภูมิภาคนี้ รวมถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ปี 2024 บริษัทตั้งเป้ามีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็นอัตราตัวเลข 2 หลัก และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดนี้”

อัดผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบโจทย์ลูกค้าองค์กร

การที่องค์กรธุรกิจในไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติการโจมตีทางไซเบอร์ เช่น ปี 2023 โซลูชัน B2B ของ Kaspersky บล็อกความพยายามโจมตีด้วยฟิชชิงทางการเงินได้จำนวน 25,227 รายการ และยังมีจำนวนเหตุการณ์ภัยคุกคามมากเป็นอันดับสามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภัยดังกล่าวมีทั้ง ภัยคุกคามออฟไลน์ จำนวน 4,700,000 รายการ การโจมตี RDP จำนวน 10,205,819 รายการ นอกจากนี้ แรนซัมแวร์เป็นภัยคุกคามที่เป็นปรากฏเป็นข่าวใหญ่บ่อยครั้ง โดยประเทศไทยมีเหตุการณ์โจมตีด้วยแรนซัมแวร์สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคถึง 109,315 รายการ

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ Kaspersky เตรียมเปิดตัว Kaspersky Next กลุ่มผลิตภัณฑ์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์กลุ่มใหม่ที่มีการป้องกันเอ็นด์พ้อยต์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI และมีความสามารถมากกว่า EPP: Endpoint Protection Platform

นำ EDR และ XDR มารวมกันเป็นผลิตภัณฑ์เดียว

โซลูชันดังกล่าวเป็นการรวม EDR: Endpoint Detection and Response และ XDR: Extended Detection and Response เข้าด้วยกันช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ต้านการโจมตีที่แพร่หลาย ที่คอยหลบเลี่ยงการตรวจจับ และซับซ้อนมากขึ้น ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้มองเห็น ควบคุม ตอบสนองอย่างรวดเร็ว และตามล่าภัยคุกคามในเชิงรุก

กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ช่วยให้องค์กรธุรกิจต่าง ๆ สามารถสร้างฟังก์ชันการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สำคัญ เพื่อให้มีการป้องกันที่แข็งแกร่งต่อภัยคุกคามหลากหลายประเภทที่ธุรกิจเผชิญมากที่สุด เช่น แรนซัมแวร์ มัลแวร์ การละเมิดข้อมูล

“เรา และองค์กรต่าง ๆ เริ่มมองว่าแอนติไวรัสธรรมดาไม่พอแล้ว เพราะความต้องการมันเริ่มไปมากกว่าแค่ End Point ผ่านภัยคุกคามที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนมันมีมากขึ้น ดังนั้นการทำตลาด EDR และ XDR จะช่วยให้บริษัทเติบโตในอนาคตผ่านการให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ต่าง ๆ ขององค์กรต่าง ๆ มากขึ้น”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา