วัดชีพจรบริการ Music Streaming หลังเบอร์ 1-2 ของโลกเข้ามาทำตลาดไทยเต็มตัว

ก่อนหน้านี้บริการ Music Streaming ในประเทศไทยก็แข่งขันไประดับหนึ่ง และมีคนยอมแพ้ไปบ้างแล้ว (Line Music, KKbox) แถมปัจจุบันยังมียักษ์ใหญ่ระดับโลกรายใหม่อย่าง Spotify เข้ามาอีก แล้วที่เหลือจะเป็นอย่างไรต่อไป

ภาพจาก Flickr ของ Blue Coat Photos

ไม่ง่ายแน่ หากยังไม่มีจุดเด่นชัดเจน

การเข้ามาของ Spotify ในประเทศไทยถือเป็นอีกสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมเพลง เพราะมันชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มเข้าใจ และเข้าถึงบริการ Music Streaming มากขึ้น และทิศทางการหารายได้ของศิลปิน กับค่ายเพลงก็จะมาทางนี้ นอกจากการมีรายได้จากการจัดคอนเสิร์ต รวมถึงการจำหน่ายสินค้า หรือขายลิขสิทธิ์เพลงให้คนอื่นไปใช้งาน

แต่ใช่ว่ามันจะเป็นสัญญาณดีเสียทีเดียว เพราะเมื่อผู้เล่นในตลาดมากขึ้น ใครที่มีจุดเด่น และสามารถเข้าถึงใจผู้บริโภคได้มากกว่า น่าจะเป็นผู้ชนะในตลาดนี้ ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการ Music Streaming ในประเทศไทยก็มีอยู่ 6 รายด้วยกัน ซึ่งบางรายก็ฉีกแนวอย่างชัดเจน หรือบางรายก็ได้ความเป็นสากลช่วยสร้างความนิยมในเบื้องต้น

ซึ่งอย่างหลังนั้นก็คือ Apple Music ที่เข้ามาทำตลาดตั้งแต่ 2 ปีก่อน กับ Spotify ที่เพิ่งเปิดตัวไปวันนี้ (22 ส.ค.) เพราะทั้งคู่เป็นอันดับ 2 และ 1 ตามลำดับในแง่จำนวนผู้ใช้งาน โดยเหตุที่ทั้งสองยิ่งใหญ่ขนาดนี้เพราะ เน้นทำตลาดในระดับสากล และพยายามหาพาร์ทเนอร์ทั้งค่ายเพลง และแบรนด์สินค้าต่างๆ ในการทำตลาดร่วมกัน

แต่เมื่อทำตลาดในระดับสากล และชูเรื่องเพลงที่หลากหลาย พร้อมเรื่องเพลลิสต์ แต่สิ่งเหล่านั้นยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ก็อาจจะทำตลาดได้กับผู้บริโภคที่คลั่งไคล้ในการฟังเพลง ยิ่งต้องเสียเงิน หรือแกมบังคับให้เสียเพื่อปลดล็อคการใช้งานบางอย่าง การมีจุดเด่นแค่ที่กล่าวมาก็คงไม่ใช่จุดแข็งที่จะทำตลาดในประเทศไทยแน่ๆ

ของฟรียังเป็นที่ชื่นชอบของคนไทย

แม้ “สุนิตา คอร์” กรรมการผู้จัดการทวีปเอเชียของ Spotify จะบอกว่า ราคาพรีเมียม 129 บาทของ Spotify จะค่อนข้างเหมาะสมกับผู้บริโภคชาวไทย แต่เชื่อว่าคงมีจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สมัครใช้งาน คงไม่คล้ายกับตลาดโลกที่มีการสมัครเป็นสมาชิกพรีเมียมถึง 60 ล้านคน จากผู้ใช้บริการทั้งหมด 140 ล้านคน

“ในการเข้ามาทำตลาดที่ไทย เราเลือกวางตัวเองเป็น Spotify Thailand ไม่ใช่ Spotify in Thailand ดังนั้นทุกอย่างมันจะถูก Localize และทำให้เข้ากับผู้ใช้ในไทยที่สุด ซึ่งในทุกประเทศที่เราเข้าไปทำตลาดก็ใช้วิธีนั้น ทำให้ปัจจุบันเรามีผู้ใช้บริการกว่า 140 ล้านคนทั่วโลก และสร้างรายได้ให้กับศิลปินไปกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2551”

และคงไม่แปลกที่ช่วง JOOX เปิดตัวแรกๆ จะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นบริการฟังฟรี แถมถ้าอยากยกระดับตัวเองเป็นพรีเมียมก็แค่แชร์เพลง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอะไรของผู้อยากฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย หรือเป็นเพื่อนแก้เหงา แถมตอนนี้ที่การได้มาซึ่ง VIP เริ่มยากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มโวยวายบ้าง แม้จะยังฟังฟรีอยู่ก็ตาม

ผู้เล่นท้องถิ่นอย่าง Fungjai ยังมีพื้นที่

ขณะที่บริการ Music Streaming มีแต่ต่างชาติ แต่จริงๆ แล้วยังมีบริษัทไทยที่อยู่ในตลาดนี้เช่นกัน นั่นก็คือ Fungjai (ฟังใจ) โดย “ศรันย์ ภิญญรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริการนี้ เล่าให้ฟังว่า ความเฉพาะกลุ่ม และความเป็น Community ช่วยให้ตัวบริการนั้นยังอยู่ และมีรายได้ภายใต้สถานการณ์ตลาดแบบนี้

“เรามี Monthly Active User 1.4 แสนราย ผ่านจำนวนเพลง 9,000 เพลง และศิลปิน 1,720 วง พร้อมคง Business Model ไว้เหมือนเดิมคือ สร้าง Community ทางดนตรีด้วยช่องทางต่างๆ ที่เรามีคือ Music Streaming, Online Content และ Concert ซึ่งทั้งหมดนี้ยังทำให้ตัวธุรกิจมีรายได้ และเราไม่ได้เป็นแค่ Music Streaming”

สรุป

การเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยไม่ใช่แค่ Localize แล้วจะได้ผู้ใช้บริการกลับมา แต่นั่นต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกแตกต่าง แต่ถ้าต่างจนสุดแบบ Tidal หรือ Fungjai ก็คงจับผู้ใช้บริการได้ไม่แมส ส่วนถ้าแมสเชื่อว่าการให้ฟังฟรียังเป็นตัวแปรสำคัญในการดึงผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ และดึงให้จ่ายแบบ Premium ได้ ส่วนรายใดจะหายไปจากตลาดนั้นอันนี้คงต้องดูยาวๆ เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้การหายไปคงไม่ไปเงียบๆ แบบ Line Music และ KKbox แน่ๆ

ส่วนถ้าเห็นกระแสอย่างนี้ ก็โอกาสที่เบอร์สาม และสี่ของตลาดอย่าง Amazon Music กับ Play Music ของ Google อาจจะเข้ามาทำตลาดต่อในประเทศไทยก็เป็นได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา