หลังการผนึกกำลังความเชี่ยวชาญการลงทุนระดับโลกของ J.P. Morgan Asset Management (JPMAM) เข้ากับความรู้เชิงลึกในตลาดลงทุนไทยของบลจ. กสิกรไทย (KAsset) ล่าสุด 2 Strategic Partnership เดินหน้าจัดงานสัมมนาเป็นครั้งแรกในหัวข้อ The Great Investment Debate เจาะลึกสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ พร้อมด้วยการนำเสนอโซลูชันการลงทุนแบบ Multi-Asset
2024 Macro Outlook ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจาก JPMAM
Kerry Craig, Global Market Strategist ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ JPMAM เริ่มต้นด้วยการฉายภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกที่จะมีผลต่อการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ในปี 2024 นี้ ผ่านคำนิยามว่าเป็น The longer path to a softer landing หมายความว่า เศรษฐกิจจะเข้าสู่ช่วง Soft Landing ที่เงินเฟ้อลดลงแต่ไม่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินไปได้ แต่ล่าช้าลงกว่าที่คาดไว้เดิม
Kerry Craig ได้พูดถึงประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจ 5 ข้อด้วยกัน
- เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะค่อย ๆ เข้าสู่ช่วง Soft Landing โดยใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ เงินเฟ้อจะลดลงเสมือนขนนกไม่ใช่ก้อนหินที่ดิ่งลงอย่างรวดเร็วจากความท้าทายในหลายปัจจัย เศรษฐกิจจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง ในไตรมาสที่ 2 นี้คาดว่าจะเติบโตที่ 2.8% จากเดิมที่เติบโต 3.5% ในไตรมาสแรก
- การปรับดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คาดว่าจะเกิดขึ้น 2 ครั้งในปีนี้แต่อาจจะช้ากว่าคาดการณ์เดิม ครั้งแรกคาดว่าเกิดขึ้นในเดือนกันยายนก่อนการเลือกตั้ง และอาจได้เห็นธนาคารกลางของภูมิภาคอื่นปรับลดอัตราดอกเบี้ยด้วยทำให้เศรษฐกิจอื่นนอกสหรัฐอเมริกาเติบโตได้
- ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมคาดว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเติบโตในอัตราชะลอตัวลงจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าดอกเบี้ยนโยบายของเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ จะมีการปรับลดลงด้วยซึ่งอาจเป็นปัจจัยขัดขวางไม่ให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงตามคาดการณ์เดิม
- ในช่วงไตรมาสแรก เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้น 5.3% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5% ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไปด้วย ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากแรงกระตุ้นจากภาครัฐเป็นหลัก ไม่ใช่จากความต้องการของผู้บริโภคและนักลงทุน ทำให้รัฐบาลจีนยังจำเป็นต้องกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคและเพิ่มเม็ดเงินทางเศรษฐกิจอีกเพื่อเพิ่มการเติบโต
- ความต้องการด้านเทคโนโลยีในระดับโลกที่เพิ่มขึ้นหลังจากปัญหาซัพพลายเชนที่ชะงักลงในช่วงโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกในเอเชียหลังอุตสาหกรรมการผลิตกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
Kerry Craig ทิ้งท้ายว่า เมื่อพิจารณา 5 ประเด็นสำคัญนี้แล้ว มูลค่าการลงทุนจะไม่ได้เพิ่มขึ้นในสินทรัพย์ทุกประเภท ดังนั้น นักลงทุนยังต้องมีการจัดพอร์ตฟอลิโอเพื่อกระจายความเสี่ยง จากความไม่แน่นอนหลายอย่าง เช่น ความต้องการของผู้บริโภคที่อาจจะต่ำลงในสหรัฐอเมริกา และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
JPMAM ชี้ Global Equity ยังน่าลงทุน
หลังจากเห็นภาพกว้างจาก Kerry Craig กันไปแล้ว ต่อมาได้มีการสัมมนาเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนจากผู้เชี่ยวชาญของ JPMAM ในสินทรัพย์แต่ละประเภทประกอบด้วย Global Equity ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก
Regina Liu, Head of Investment Specialists ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ International Equity Group จาก JPMAM มองว่า Global Equity ยังเป็นสินทรัพย์ที่ควรมีในพอร์ตการลงทุน จากภาพรวมตลาดในช่วงที่ผ่านมายังทำได้ดีต่อเนื่องมาถึงปีนี้ในทุกภูมิภาคทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป
แนวโน้มของตลาด Global Equity นักลงทุนเริ่มมีการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นอื่น ๆ มากขึ้น จากเดิมที่เน้น 7 บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เป็นหลัก (Magnificent 7 ประกอบด้วย NVIDIA, Meta, Amazon, Microsoft, Alphabet, Apple, Tesla) เพราะยังมีหลายบริษัทอยู่ในซัพพลายเชนนอกเหนือจาก 7 บริษัทใหญ่เหล่านี้ เช่น บริษัทในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และนักลงทุนมองว่าจะพึ่งพาผลตอบแทนจากกลุ่ม Magnificent 7 เพียงอย่างเดียวไม่ได้
มูลค่าตลาดของ Global Equity ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อแยกดูตามภูมิภาคแล้วไม่มีตลาดใดที่ซื้อขายในราคาสูงหรือเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี ในสหรัฐอเมริกาเอง ราคาก็ไม่ได้เติบโตพุ่งสูงมากถ้าไม่รวมบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ 7 แห่ง ในขณะที่ตลาดหุ้นจีนยังเจออุปสรรคหนัก และในช่วงที่ผ่านมาตลาดซื้อขายกันในระดับราคาที่ใกล้เคียงกับระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ Global Equity ยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุน
มาที่ความเสี่ยงของการลงทุนใน Global Equity การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาและความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์จะมีผลต่อความผันผวนของตลาดแน่นอน แต่ในระยะสั้นเท่านั้น ความเสี่ยงที่แท้จริงกลับอยู่ที่กลุ่มธุรกิจที่มีมุมมองเชิงบวกต่อ Earnings Growth ว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2021-2022 ขึ้นไปอีกมากกว่าที่ JPMAM คาดไว้ ซึ่งมุมมองเชิงบวกของธุรกิจจะทำให้เกิดความคาดหวังจากนักลงทุน และอาจทำให้ตลาดผันผวนมากกว่าเดิม
ตราสารหนี้ เป็นไปในทิศทางบวก ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก
Kerry Craig เล่าถึงมุมมองการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ว่า มีปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดมีทิศทางเป็นไปในเชิงบวก โดยมูลค่าตลาดยังถือว่าน่าสนใจ เพราะอัตราดอกเบี้ยแท้จริง (Real Yield) อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา จากที่ในปี 2021 ลดลงต่ำสุด ปัจจุบันนักลงทุนมีการลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ยังต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุนแบบกระจุกตัว
ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้อยู่ที่ราคาน้ำมันที่อาจจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เพราะเมื่อราคาพลังงานสูง ผู้บริโภคก็จะลดการใช้จ่ายในด้านอื่นลง ประกอบกับเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ FED ต้องคงดอกเบี้ยไปอีกสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะปรับลดลงมา แต่แม้จะมีความเสี่ยง Kerry Craig ยังยืนยันว่า การลงทุนในตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก
สินทรัพย์ทางเลือก พลังงาน-เทคโนโลยีมาแรง
Gary Leung, Head of Alternatives ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจาก JPMAM ให้มุมมองต่อการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกว่า แตกต่างจากการลงทุนใน Global Equity และตราสารหนี้ สำหรับการลงทุนในระยะสั้น ยังมองการสร้างความสมดุลของการจัดพอร์ตฟอลิโอเป็นสำคัญผ่านการแบ่งเงินไปลงทุนกับ Private Equity ในตลาดรองร่วมด้วย และการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกยิ่งถือครองนานยิ่งได้รับผลตอบแทนสูง
ขณะที่การลงทุนในระยะกลาง แนะนำให้ลงทุนกับสินทรัพย์ที่คาดการณ์ผลตอบแทนได้และให้สภาพคล่องทางการเงินอย่างการลงทุนในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น พลังงานไฟฟ้า ทรัพยากรน้ำ เป็นต้น ส่วนในระยะยาว ควรมองการลงทุนกับเมกะเทรนด์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในอีกอย่างน้อย 10 ปีข้างหน้า เช่น เทคโนโลยี AI สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิต เป็นต้น
สำหรับการลงทุนใน Private Credit ยังมีความเสี่ยงตรงที่มีกองทุน Private Credit จำนวนมากที่ได้รับการระดมทุนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องแข่งขันกันเรื่องการซื้อขายเพื่อดึงดูดนักลงทุน และนำไปสู่การมีเงินกู้ในตลาดขนาดใหญ่มากขึ้น รวมถึงมีเงินกู้ที่มีการขยายวงเงินและระยะเวลาเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาซึ่งกระทบต่อผลตอบแทนและรายได้ของนักลงทุน
เศรษฐกิจไทยโตน้อยกว่าคาด เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นปลายปี
สำหรับโอกาสทองของนักลงทุนไทย ภารดี มุณีสิทธิ์ และ ฐานันดร โชลิตกุล Chief Investment Officer ของ KAsset ร่วมแบ่งปันมุมมองของการลงทุนในไทย มองเห็นโอกาสในหุ้นเวียดนาม พร้อมแนะลงทุนในตราสารหนี้ติดพอร์ตโฟลิโอเพราะดอกเบี้ยสูง เสี่ยงน้อย ช่วยกระจายความเสี่ยงในพอร์ต ต้านความผันผวนโลก
KAsset มีมุมมองตรงกับ JPMAM ในเรื่อง Soft Landing ว่า FED มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ คือ ในช่วงเดือนกันยายนก่อนเลือกตั้งและเดือนธันวาคม แต่ก็มีโอกาสที่จะปรับลดลงเพียงครั้งเดียวในเดือนธันวาคมอยู่ด้วย
เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตขึ้นแต่น้อยกว่าที่คาดไว้ จากเดิมในช่วงปลายปีที่แล้วที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น 3.2% ในปีนี้ แต่ล่าสุดคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลับลดลงเหลือ 2.6% จากการชะลอตัวของภาคการส่งออกและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1–2 ครั้งโดยไม่ต้องอ้างอิงจากการปรับดอกเบี้ยจาก FED
เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมองว่า ในระยะสั้นจะอยู่ที่ 36.5-37.5 บาทต่อ ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าอาจจะอ่อนค่าลง ส่วนช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ ปัจจัยจากนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาจำนวนมากและดุลบัญชีเดินสะพัดที่น่าจะเป็นบวก และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงปลายปี คาดว่าจะลงมาอยู่ที่ 34.5-35.5 บาทต่อ ดอลลาร์สหรัฐฯ
ตราสารหนี้ยังมีอนาคต ดอกเบี้ยสูง ช่วยลดความผันผวนในพอร์ต
สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ KAsset มีมุมมองหลักอยู่ที่โอกาสในการลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นไทย และหุ้นเวียดนาม
การลงทุนในตราสารหนี้มีมุมมองเชิงบวกว่าจะกลับมาสู่สภาวะปกติ หมายความว่า ในภาพรวมตราสารหนี้ที่ถือครองระยะยาวจะให้ผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่มที่ถือครองระยะสั้น และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก
ในช่วงนี้การลงทุนในตราสารหนี้จะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับในอดีต ช่วยลดความผันผวนในพอร์ตฟอลิโอ นอกจากนี้ เมื่อวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นสิ้นสุด และเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาลง ตราสารหนี้จะเป็นสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากส่วนต่างของราคาซื้อขาย (Capital Gain) ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้จะต้องรับความผันผวนที่มากกว่าเงินฝากอย่างแน่นอน การพิจารณาขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลว่าต้องการสภาพคล่องทางการเงินในปัจจุบันและอนาคตเท่าใด ประกอบกับดูอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารร่วมด้วย โดยระดับ A ขึ้นไปถือว่ามั่นคงน่าเชื่อถือ แต่หากต่ำลงมายังมีความกังวลอยู่บ้างให้พิจารณาเป็นรายกองทุนไป
หุ้นไทยเตรียมแตะ Bottom หุ้นเวียดนามกำลังมา
สำหรับการลงทุนในหุ้น KAsset มองว่า จากการที่ปีนี้มูลค่าหุ้นไทยลดลงมาเกือบ 5% ขณะที่หุ้นโลกอยู่ในเชิงบวก ในช่วงไตรมาส 2–3 ของปีนี้จะเป็นจุด Bottom ของหุ้นไทย จากที่ GDP ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เราคาดว่า GDP ของปีนี้จะมีทิศทางเติบโตดีขึ้นต่อเนื่องและทำให้ทั้งปีโตได้ 2.5-3% เป็นไปในทิศทางเดียวกับ Earnings Growth ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่คาดว่าจะโตได้ 14% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่หดตัวลง
ส่วนภาครัฐมีปัจจัยอยู่ที่การผ่านร่างงบประมาณแล้วทำให้การเบิกจ่ายน่าจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งคาดว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตน่าจะมีส่วนช่วยเพิ่ม GDP ในปีนี้ราว 0.5% และในปีหน้าอีกราว 0.5%
อย่างไรก็ดี การลงทุนในหุ้นไทยยังมีความท้าทายจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้บริโภคมีความต้องการจะก่อหนี้ แต่ความกดดันอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ที่ลดการให้สินเชื่อทำให้ความต้องการซื้อลดลง KAsset มองว่า การเลือกลงทุนในหุ้นต้องพิจารณาเป็นรายบริษัท โดยต้องระมัดระวังการลงทุนในบริษัทที่มีหนี้สินในระดับสูง ไม่ใช่หลีกเลี่ยงการลงทุนในทั้งอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง
มาต่อที่หุ้นเวียดนาม KAsset มองหุ้นเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตฟอลิโอและมีมุมมองในเชิงบวก เนื่องจาก Earnings Growth ของหุ้นเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัว 21% ในปีนี้ ถือว่าเติบโตกว่าตลาดหุ้นโลกโดยรวมที่คาดว่าจะโตประมาณ 10% และเมื่อพิจารณาจากภาพเศรษฐกิจ ในไตรมาสแรกของปีนี้ GDP ของเวียดนามยังเติบโตได้ดีที่ 5.7%
นอกจากนี้ เวียดนามกำลังอยู่ในช่วงการถูกอัปเกรดจาก Frontier market ไปสู่ Emerging market ในปีหน้า ทำให้นักลงทุนต่างชาติแห่เข้าลงทุนในหุ้นเวียดนามอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในหุ้นเวียดนามจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเมื่อพิจารณาในเชิงการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลและ Earnings Growth ของกลุ่มธุรกิจ
K-WealthPLUS Series โซลูชันการลงทุนจาก KAsset และ JPMAM
หลังจากพูดถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและโอกาสในการลงทุนมาแล้ว ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การลงทุนในปัจจุบันยังต้องเผชิญกับความผันผวนสูง KAsset และ JPMAM จึงได้เสนอการลงทุนแบบ Multi-Asset Funds ที่มีการกระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ ยิ่งไปกว่านั้น การร่วมมือกันยังทำให้เกิดโซลูชันการลงทุนอย่างกลุ่มกองทุน K-WealthPLUS Series ซึ่งเป็นกองทุนผสมที่จัดพอร์ตสำเร็จมาให้แล้วให้นักลงทุนเลือกได้ตามระดับความเสี่ยง
K-WealthPLUS Series มีกลยุทธ์เน้นกระจายการลงทุน (Asset Allocation) ในหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือกทั่วโลก ในสัดส่วนที่แตกต่างกันตามระดับความเสี่ยง ได้แก่
- K-WPBALANCED ลงทุนในหุ้นสูงสุด 30% และตราสารหนี้สูงสุด 70%
- K-WPSPEEDUP ลงทุนในหุ้นสูงสุด 65% และตราสารหนี้สูงสุด 35%
- K-WPULTIMATE ลงทุนในหุ้นสูงสุด 85% และตราสารหนี้สูงสุด 15%
รวมทั้งสามารถติดตามบทความวิเคราะห์เจาะลึกมุมมองการลงทุนรายไตรมาสจาก CIO ของ KAsset ผ่าน KNOW THE MARKETS ที่เหมาะสำหรับนักลงทุนไทย ซึ่งมุมมองการลงทุนในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ สามารถอ่านได้แล้วที่ KAsset
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา