เราเห็นการล่มสลายของค้าปลีกไปก็มาก เราเห็นการเติบโตของอีคอมเมิร์ซไปก็ไม่น้อย แต่การซื้อขายสินค้าที่เปลี่ยนไปจาก “หน้าร้าน” เป็น “ออนไลน์” โดยสินค้าเหมือนเดิมทุกอย่าง จะมัดใจผู้บริโภคได้ตลอดรอดฝั่งจริงหรือ? ไปรู้จักกับเทรนด์ใหม่ e-brand กันดีกว่า
e-commerce เกิดมาเพื่อฆ่าค้าปลีกแบบเดิมๆ … แต่เรื่องมันยังไม่จบแค่นั้น
พูดถึงวงการอีคอมเมิร์ซ มองไปทางไหนก็แต่เจอยักษ์ใหญ่ในวงการ หันไปฝั่งตะวันตกเจอ Amazon หันกลับมาฝั่งตะวันออกก็เจอยังเจอ Alibaba
ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทำให้อีคอมเมิร์ซหรือค้าปลีกออนไลน์เติบโตขึ้นทุกวัน ได้สร้างปัญหาให้กับค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าอย่างมาก
ถ้ามองกันจริงๆ ทั้ง Amazon และ Taobao (ของ Alibaba) ต่างก็ขายของเหมือนกับค้าปลีกแบบเดิม เพียงแต่เอามาทำให้สินค้ากระจายไวขึ้น ด้วยการสั่งผ่านออนไลน์และส่งแบบเดลิเวอรี่ สินค้าที่เราจะเห็นกันบ่อยๆ ก็คือ หนังสือ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องนุ่งห่ม และของชำทั่วไป คือสั่งได้ทุกอย่าง สินค้าเหมือนในห้างสรรพสินค้าแทบทุกประการ
แต่สังเกตกันไหมว่า แม้อีคอมเมิร์ซทั้ง Amazon และ Taobao จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่ากันแค่ไหน แต่ผู้บริโภคก็ไม่ค่อยผูกตัวตน (identity) ของตัวเองไว้กับแบรนด์เหล่านี้ นั่นก็เพราะผู้บริโภคมองว่าแบรนด์เหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือที่จะเข้าไปใช้งาน ไม่ใช่แบรนด์ที่จะเอามาโชว์เพื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์และรสนิยมของตัวเอง
พูดง่ายๆ ก็คือ แบรนด์ของอีคอมเมิร์ซเหล่านี้เป็นเพียงทางผ่านของผู้บริโภคไปสู่สินค้า ไม่ใช่แบรนด์ที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงคุณค่าบางอย่างที่สอดแทรกเข้ามาอย่างลึกซึ้งผ่านวัฒนธรรมในการบริโภค ซึ่งในท้ายที่สุดจะทำให้ภักดีต่อแบรนด์นั้นๆ
เหนือกว่าอีคอมเมิร์ซ คือ e-brand?
ในขณะที่ แบรนด์หน้าใหม่ในตลาดที่เรียกกันว่า “e-brand” (อีแบรนด์) กลับเข้ามาเพื่อตอบโจทย์จุดนี้โดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น AirBnB บริการให้เช่าที่พัก, Pinterest บริการแชร์รูปภาพ หรือ Houzz ที่เป็นบริการช่วยออกแบบภายในบ้าน หรืออย่างในจีนก็มี Xiaohongshu สตาร์ทอัพที่มองเห็นว่าคนจีนชอบไปเที่ยวต่างประเทศ เลยเปิดพื้นที่ให้เอาไว้มาแชร์ประสบการณ์ในการช็อปปิ้งของแต่ละคน
จะเห็นได้ว่า อีแบรนด์เหล่านี้พยายามสร้างบริการที่สอดใส่วัฒนธรรมและความภักดีต่อแบรนด์ (loyalty) เข้าไปด้วย เพราะอย่างที่เราเห็นคือ คนรุ่นใหม่ๆ หรือที่เรียกกันว่า millennial ต่างก็ปรับพฤติกรรมมาซื้อสิ่งที่เป็นไลฟ์สไตล์, การท่องเที่ยว, สินค้าภายในบ้านที่มีรับการดีไซน์-บ่งบอกถึงรสนิยม, ของหรูในราคาที่เอื้อมถึง, ของราคาถูกแต่มีเอกลักษณ์ ฯลฯ
หรือจะพูดให้ชัดๆ ง่ายๆ ก็คือ ผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ จะหันไปเลือกซื้อสินค้าที่ช่วยพัฒนาหรือสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับพวกเขา (improved experience) ไม่ใช่เพียงแค่สั่งซื้อสินค้าอะไรผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น
e-commerce VS e-brand
จริงอยู่ที่ในวงการอีคอมเมิร์ซจะมี Amazon และ Alibaba ครองอยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้าเปิดดูตัวเลขในวงการค้าปลีกกันจริงๆ ยังถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่สูงนัก เพราะถ้าคิดจากยอดรวมของตลาดค้าปลีกของอเมริกาและจีนรวมกันจะอยู่ที่ 9 ล้านล้านเหรียญ แต่ Amazon ที่ว่าใหญ่นั้นก็ครองไปเพียง 8% ในอเมริกา ส่วน Alibaba ก็ครองเพียง 16% เท่านั้น
ดูจากตัวเลขแล้ว ถือว่ายังเหลือพื้นที่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่ลงเล่นอีกมาก และดูเหมือนว่า e-brand จะมาถูกทาง เพราะแนวโน้มของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อของเพื่อเพิ่มประสบการณ์ ไม่ใช่สักแต่ว่าจะซื้ออะไรก็ได้ แล้วไหนจะมีนวัตกรรมอย่าง AR หรือ VR เข้ามาช่วยเสริมการขายเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคอีก ตลาดค้าปลีกออนไลน์น่าจะคึกคักกันอีกมาก
บรรดาสตาร์ทอัพที่จะเข้าไปสู้ในตลาดอีคอมเมิร์ซต้องทำการบ้านหนัก ต้องใช้ AI, Machine Learning และ Big Data เข้ามาวิเคราะห์และจับพฤติกรรมลูกค้าให้อยู่หมัดด้วยประสบการณ์ผ่านการขายบริการและสินค้า ถึงที่สุดก็น่าจะเข้าไปแย่งเค้กก้อนใหญ่ในตลาดค้าปลีกได้ แต่อย่างไรก็ดี คงจะต้องเร่งทำหน่อย เพราะปลาใหญ่คงไม่รอให้ปลาเล็กเติบโตขึ้นมาทัดทานพวกเขาได้หรอก จริงไหม?
ที่มา – techcrunch
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา