ธนาคารกสิกรไทยปรับโครงสร้างคณะกรรมการธนาคารตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสอดคล้องมาตรฐานสากล โดยคณะกรรมการได้มีมติปรับลดขนาดของคณะกรรมการให้มีจำนวนกรรมการทั้งสิ้น 15 คนจากเดิมที่ 18 คน ด้วยการปรับลดจำนวนกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารและกรรมการที่เป็นผู้บริหารลง และเมื่อสรรหากรรมการใหม่ได้ครบถ้วน คณะกรรมการจะมีจำนวนกรรมการทั้งสิ้นไม่เกิน 15 คน และมีสัดส่วนของกรรมการอิสระเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดสอดคล้องมาตรฐานสากล
กฤษณ์ จิตต์แจ้ง เลขานุการบริษัท ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 มีมติปรับโครงสร้างคณะกรรมการธนาคาร โดยปรับลดขนาดของคณะกรรมการให้มีจำนวนกรรมการทั้งสิ้น 15 คน จากเดิมที่ 18 คน ด้วยการปรับลดจำนวนกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารและกรรมการที่เป็นผู้บริหารลงจำนวน 6 คน ทำให้จำนวนกรรมการลดลงเป็น 12 คน และเมื่อสรรหากรรมการใหม่ได้ครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการจะมีจำนวนกรรมการทั้งสิ้นไม่เกิน 15 คน และมีสัดส่วนของกรรมการอิสระเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด สำหรับกรรมการธนาคารจำนวน 6 คน ที่ได้ลาออกเพื่อส่งเสริมให้โครงสร้างของคณะกรรมการธำรงไว้ตามหลักธรรมาภิบาล ได้แก่ สาระ ล่ำซำ และสุรช ล่ำซำ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร รวมถึงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ และกรรมการผู้จัดการของธนาคารทั้ง 4 คน คือ พิพิธ เอนกนิธิ, พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์, จงรัก รัตนเพียร และรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการที่เป็นผู้บริหาร (มีอำนาจลงนามผูกพัน) และกรรมการผู้จัดการธนาคาร โดยกรรมการทั้ง 6 คนข้างต้นจะดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 30 เมษายน 2567
นอกจากนี้ เพื่อให้การบริหารงานตามยุทธศาสตร์ของธนาคารเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารในคราวเดียวกัน ได้มีมติแต่งตั้งให้กรรมการผู้จัดการทั้ง 4 คนข้างต้น ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป รวมทั้งคณะกรรมการได้มีมติกำหนดชื่อและจำนวนกรรมการซึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็น ขัตติยา อินทรวิชัย (กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) สุจิตพรรณ ล่ำซำ (รองประธานกรรมการ) ชนม์ชนัมม์ สุนทรศารทูล (กรรมการและที่ปรึกษากฎหมาย) และกลินท์ สารสิน (กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร) โดยกรรมการ 2 ใน 4 คนนี้ ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของธนาคาร
กฤษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับโครงสร้างคณะกรรมการดังกล่าว นอกจากจะสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามมาตรฐานสากลแล้ว ยังสามารถเพิ่มความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่จะเสริมการกำกับดูแลกิจการ และเพิ่มความแข็งแกร่งของธนาคารเพื่อส่งมอบยุทธศาสตร์ K-Strategy ต่อไปในระยะกลางและระยะยาว ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา