นโยบายเติมเงิน Digital Wallet 10,000 บาท
วงเงิน 5 แสนล้านบาท บริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณทั้งหมด ด้วยงบประมาณปี 2567-2568 แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1) เงินมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ขยายกรอบวงเงินตามงบประมาณปี 68 แล้ว
2) เงินมาจากการดำเนินงานตามโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ 172,300 ล้านบาท จะใช้มาตรา 28 ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของปีงบประมาณ 2568 (คือ ใช้เงินจาก ธกส. ในปี 2568)
3) เงินมาจากการบริหารจัดการเงินงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท (งบประมาณ 67 เพิ่งเริ่มใช้ ยังมีเวลาที่รัฐบาลคิดว่ารายการไหนสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง กรณีที่วงเงินไม่เพียงพอ)
ยืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายงบประมาณ หรือ กฎหมาย พรบ. เงินตราที่ทางแบงก์ชาติกังวล
ณ วันที่เริ่มโครงการคือช่วงปลายปี จะมีเงิน 500,000 ล้านบาททั้งก้อน ไม่ใช้เงินสกุลอื่นหรือใช้มาตรการอื่นแทนเงิน
สาเหตุและความจำเป็นในการดำเนินโครงการ
เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในระดับต่ำกว่าศักยภาพ มีแนวโน้มเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับอดีต ยังเผชิญความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำหลังโควิด-19 ปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า รัฐบาลจึงจำเป็นที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตามแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
หนึ่ง กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน ตามเกณฑ์ ดังนี้
- 1) ผู้มีอายุเกิน 16 ปี
- 2) ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี (70,000 x 12 = 840,000 บาท)
- 3) มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
สอง เงื่อนไขการใช้จ่าย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
- 1) การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
- 2) การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า จะไม่มีเงื่อนไขกำหนดเรื่องพื้นที่และขนาดของร้านค้าระหว่างกัน
สาม สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ รวมทั้งสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดขึ้น
สี่ การใช้จ่ายภายใต้โครงการ
จะใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเองโดยหน่วยงานของภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้ใช้จ่ายได้ในลักษณะ Open Loop จะทำให้รอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
ห้า คุณสมบัติของร้านค้า
สามารถถอนเงินสดจากโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้นในสามประเภท หนึ่ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สอง ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) สาม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร คือประชาชนที่มีอาชีพทำมาค้าขาย
ร้านค้าจะไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย จะถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงการทุจริตของโครงการและเพิ่มผลกระตุ้นเศรษฐกิจ (ตัวอย่าง รอบแรกคือประชาชนใช้กับร้านค้าขนาดเล็ก ร้านหน้าบ้านหรือร้านก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ จากนั้นร้านค้าก็นำเงินไปซื้อสินค้าทุนกับร้านค้าอื่นๆ ต่อไปอีกหนึ่งทอด จึงจะขึ้นเงินได้)
หก ระยะเวลาในการเข้าร่วมโครงการ
ประชาชนและร้านค้าสามารถเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาส 4 ปี 2567
เจ็ด เพื่อป้องกันการทุจริต
ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ มีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน มีผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นกรรมการ พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet โดยให้จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดโครงการและระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไขและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
คาดว่าจะส่งผลต่อ GDP ปี 2568 เป็นหลักและร้านค้าขนาดเล็กที่ได้ประโยชน์นับรวมร้านสะดวกซื้อว่าอยู่ในข่ายนี้ด้วย ส่วนห้างสรรพสินค้าไม่รวมอยู่ในข่ายนี้ สาเหตุที่เรื่องร้านค้าขนาดเล็กเพื่อให้เม็ดเงินกระจายในพื้นที่ในชุมชน รวมร้านสะดวกซื้อทั้งแบบ Stand alone และร้านที่ตั้งในสถานบริการน้ำมัน ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ห้างขนาดใหญ่ ห้างค้าส่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต
ที่มา – NBT
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา