ธนาคารโลกเปิดเผยว่า รายงานในเดือนเม.ย. 2567 นี้ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปี 2567 ลงมาสู่ระดับ 2.8% จากการประมาณการครั้งก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 3.2% เนื่องจากประเมินว่าการลงทุนภาครัฐอ่อนแอกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ขณะที่การส่งออกแม้จะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เติบโตมากนักเพราะยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งหลักคือ การลงทุนเอกชน และการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวเข้าใกล้ระดับก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19
ขณะที่ ภาพรวมเศรษฐกิจธนาคารโลกคาดการณ์ว่า แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะสูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลกแต่ยังคงต่ำกว่าอัตราการเติบโตของช่วงก่อน COVID-19 ระบาด โดยยังมีแรงส่งจากการค้าโลกที่ฟื้นตัวและสภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย แต่มีปัจจัยเสี่ยงคือ การกีดกันทางการค้าและความไม่แน่นอนของนโยบาย
ล่าสุด ธนาคารโลกเปิดเผยคาดการณ์ GDP ปี 2567 ของแต่ละภูมิภาค ดังนี้
- ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะขยายตัว 4.5% ลดลงจากปี 2566 ที่อยู่ระดับ 5.1%
- กลุ่มประเทศกําลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (ยกเว้นจีน) คาดว่าขยายตัว 4.6% เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่อยู่ระดับ 4.4%
- จีนจะเติบโตในระดับปานกลางที่ 4.5% ลดลงจาก 5.2% ในปี 2566
- กลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก คาดว่าจะเติบโต 3.6% จากปี 2566 ที่อยู่ระดับ 5.6%
ทั้งนี้ ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงขาลง (downside risks) เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้, การที่เขตเศรษฐกิจหลักยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับสูง, ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นมองว่าประเทศต่างๆ ควรเร่งเพิ่มผลิตภาพของภสคธุรกิจลดลง และพัฒนาทุนมนุษย์อีกด้วย
*รายงานอัปเดตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับเดือนเมษายน 2567 (East Asia and Pacific April 2024 Economic Update)
ที่มา ธนาคารโลก
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา