กางกลยุทธ์บุกใต้ของ ทรู ที่ครอบคลุมตั้งแต่การเจาะตลาดนักท่องเที่ยว จนถึงเสาสัญญาณพลังงานสะอาด

ปี 2024 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. คาดว่าว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยกว่า 35 ล้านคน สร้างเงินสะพัดกว่า 1.92 ล้านบาท ใกล้เคียงก่อนช่วงโรคโควิด-19 ระบาด และภาคใต้ของประเทศไทยคือหนึ่งในพื้นที่สำคัญ เพราะมีนักเที่ยวต่างชาติกินสัดส่วนถึง 70% มีนักท่องเที่ยวไทยเพียง 30% เท่านั้น

จุดนี้เองทำให้ ทรู เห็นโอกาสในการทำตลาดในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น ผ่านการอัดแคมเปญ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยว ควบคู่กับการยกระดับโครงข่าย และทำตลาดกับลูกค้าชาวไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ค่อนข้างมีความท้าทาย ผ่านบางพื้นที่ที่มีพื้นที่เป็นเกาะ

กลยุทธ์การบุกตลาดภาคใต้ของ ทรู จะเป็นอย่างไร แผนดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจแค่ไหน รวมถึงการบุกครั้งนี้มีส่วนของกลยุทธ์รักษ์โลกที่กำลังเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องขับเคลื่อนหรือไม่ Brand Inside มีโอกาสรับฟังแผนดังกล่าวจาก ชารัด จันทรา เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการบริหาร บมจ. ทรูคอร์ปอเรชั่น ดังนี้

ทรู

ภาคใต้แหล่งรายได้จากการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย

ชารัด จันทรา เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการบริหาร บมจ. ทรูคอร์ปอเรชั่น เล่าให้ฟังว่า ในปี 2023 รายได้จากการท่องเที่ยวประเทศไทยอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท และไทยติด 1 ใน 5 ของประเทศที่สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุดในโลก

หากเจาะไปที่แต่ละภาค ภาคใต้คือหนึ่งในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 70% ที่เหลือมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย ดังนั้นการยกระดับในแง่มุมต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็น ซึ่งระบบสื่อสารโทรคมนาคมคือหนึ่งในสิ่งที่เข้ามาช่วยได้

“ปี 2024 ททท. ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 35 ล้านคน สร้างเงินสะพัดได้กว่า 1.92 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งตอนนี้กระแส Eco Tourism หรือการท่องเที่ยวที่รักสิ่งแวดล้อมกำลังมา ผ่านการเติบโตเฉลี่ย 16.13%/ปี ซึ่งกลุ่มทรูสามารถเข้ามาตอบโจทย์เรื่องนี้ได้”

ทรูเร่งตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก

สำหรับการเข้ามารองรับการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก กลุ่มทรูจะเข้ามารองรับเรื่องนี้ผ่านการพัฒนาสถานีฐานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และสามารถให้บริการในพื้นที่เกาะที่อยู่ห่างไกลได้ เช่น สถานีฐานในเกาะนกเภาในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีสถานีฐานมาก่อน

“ในมุมเงินสุราษฎร์ธานี คิดเป็น 50% ของการท่องเที่ยวภาคใต้ ซึ่งที่นี่มีเกาะจำนวนมาก ดังนั้นการตั้งสถานีฐานที่ใช้พลังงานสะอาดย่อมช่วยให้ครัวเรือนต่าง ๆ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงการสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนที่นั่นผ่านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเช่นกัน”

สำหรับสถานีฐานที่ใช้พลังงานสะอาด ปัจจุบัน ทรู มีสถานีฐานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 7,000-8,000 แห่ง และสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 11,200 แห่ง ซึ่งนอกจากการใช้พลังงานสะอาดจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเรื่องการประหยัดพลังงาน และลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เจาะลึกโครงข่ายภาคใต้ของกลุ่มทรู

ประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เสริมว่า หลังจากควบรวมกิจการบริษัทได้นำเครือข่ายของทั้งคู่รวมกันต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันรวมกันไปกว่า 2,000 แห่ง แล้ว ผ่านคลื่นในมือที่ประกอบด้วย 700 MHz, 850 MHz, 900 MHz 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz

สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี กลุ่มทรูเน้นให้บริการ 4G เป็นหลักผ่านคลื่น 700 MHz โดยในตัวเมืองถึงจะมีบริการ 5G ผ่านคลื่น 2600 MHz เพราะ 68% ของประชากรในจังหวัดใช้งาน 4G ขณะเดียวกันบริษัทยังนำ AI และ Machine Learning มาออกแบบโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพทั้งมุมบริการที่ดีขึ้น และประหยัดไฟ 15%

“โครงข่ายภาคใต้สำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลักของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในอ่าวนาง และเกาะสมุย,  เกาะพีพี, เกาะเต่า และเกาะหลีเป๊ะ ที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีการใช้งานโครงข่ายเยอะที่สุด 5 อันดับแรกในภาคใต้” ทั้งนี้ในภาคใต้ยังมีการนำโครงข่ายไปประยุกต์ใช้ด้านการเกษตรเช่นกัน

อ้างอิง // True

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา