ฝั่งรถยนต์ไร้คนขับอาจเริ่มได้การยอมรับมากขึ้นบ้าง แต่ถ้าไปดูยานพาหนะอันอื่น เช่นเครื่องบิน กลับยังไม่เป็นที่ยอมรับของผู้โดยสาร แม้จะบางครั้งเครื่องบินที่นั่งอยู่อาจทำการลงจอดอัตโนมัติ และไม่ต้องมีนักบินควบคุมก็ตาม
ไม่เชื่อใจ หรือยังอยากไปกับคนจริงๆ มากกว่า
เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากบริษัทวิจัย UBS พบว่า เครื่องบินไร้คนขับสามารถช่วยสายการบินต่างๆ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นค่าทักษะวิชาชีพ 31,000 ล้านดอลลาร์, ค่าฝึก 3,000 ล้านดอลลาร์ และค่าน้ำมันอีก 1,000 ล้านดอลลาร์ และการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ก็น่าจะช่วยลดราคาค่าตั๋วเครื่องบินได้อีกด้วย
แม้มันจะมีข้อดีมากมาย แต่จากการสำรวจผู้โดยสารกว่า 8,000 คนก็พบว่า 54% ของผู้ถูกสำรวจนั้นปฏิเสธที่จะขึ้นเครื่องบินที่ไม่มีคนขับจริงๆ หรือมีสมองกลอัจฉริยะมาเป็นคนบังคับแทน แต่ในกรณีที่ราคาค่าตั๋วเครื่องบินถูกลงกว่าเดิมมาก อัตราการตัดสินใจใช้บริการก็จะมากขึ้นตาม
ในทางกลับกันผู้บริโภคหลายคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังนั่งอยู่บนพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติแล้ว เช่นรถยนต์ที่ถอยจอดอัตโนมัติได้ รวมถึงเครื่องบินที่ลำใหม่ๆ ก็เริ่มมีระบบลงจอดอัตโนมัติแล้ว ซึ่งผู้โดยสารจะไม่รู้เลยว่า การลงจอดครั้งนี้เป็นนักบินควบคุม หรือสมองกลภายในเครื่องเป็นคนสั่งการ
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเครื่องบินหลายรายก็อยู่ระหว่างทดสอบเครื่องบินไร้คนขับ เช่น Boeing ก็นำ Artificial Intelligence (AI) เข้าทดสอบบินในเครื่องจำลองการบิน และพบว่าทำคะแนนได้ค่อนข้างดี สามารถทดแทนบางงานของนักบินได้ รวมถึง Airbus ก็เพิ่งทดสอบ Sagitta ที่เป็นเครื่องบินขนาดเล็ก และบินโดยไม่มีนักบินบังคับราว 7 นาทีได้สำเร็จไปเมื่อเดือนก.ค.
สรุป
ความเชื่อใจยังเป็นตัวแปรสำคัญของการโดยสารยานพาหนะไร้คนขับอยู่ แม้ว่านักพัฒนาจะออกแบบยานพาหนะตัวนั้นให้ขับขี่อย่างปลอดภัยแค่ไหน ถ้ายังลบภาพจำเดิมๆ หรือลบเรื่องคนเก่งกว่าหุ่นยนต์ไปไม่ได้ก็คงจะยาก แต่ก็เชื่อว่าอีกไม่นานทุกคนน่าจะยอมรับเรื่องยานพาหนะไร้คนขับ และเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์อีกรอบ
อ้างอิง // Fortune
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา