ยุคนี้คือยุคแห่งการควบรวมกิจการจริงๆ โดยเฉพาะแบรนด์เครื่องดื่มมึนเมา เพราะรายใหญ่ก็อยากเข้าตลาดใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น ซึ่งกลุ่ม Sapporo จากญี่ปุ่นก็คือหนึ่งในนั้น และตัดสินใจบุกตลาดสหรัฐอเมริกาด้วยการซื้อแบรนด์คราฟต์เบียร์ท้องถิ่น
ตลาดญี่ปุ่นหดตัวจนต้องหารายได้ช่องทางใหม่
ด้วยสังคมสูงอายุ และปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้ยอดบริโภคเบียร์ในปี 2558 ของประเทศญี่ปุ่นนั้นมีมูลค่าลดลงเหลือ 2.72 ล้านกิโลลิตร จากปี 2544 เคยมีตัวเลขสูงถึง 4.89 ล้านลิตร ทำให้ผู้ผลิตเบียร์ท้องถิ่นรายใหญ่ต้องหาตลาดใหม่ๆ เพื่อรักษาการเติบโตของธุรกิจต่อไป หนึ่งในนั้นคือกลุ่ม Sapporo ที่เตรียมเข้าไปทำตลาดสหรัฐอเมริกาเต็มตัว
สำหรับการเข้าไปทำตลาดแดนมะกันของ Sapporo นั้นใช้วิธีเข้าซื้อกิจการ Anchor Brewing Company หนึ่งในผู้ผลิตเบียร์ที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2439 (กลุ่มเบียร์สิงห์เริ่มสร้างโรงบ่มขึ้นปี 2476) มีกำลังผลิตเป็นเบอร์ 22 ของที่นั่น แถมมีรายได้ปี 2559 ถึง 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,100 ล้านบาท ผ่านการเน้นขายคราฟต์เบียร์
แต่ที่แปลกคือ Sapporo สามารถซื้อกิจการ Anchor ด้วยมูลค่าแค่ 85 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,800 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าถูกมาก เพราะยอดซื้อสูงกว่ารายได้ของ Anchor เพียง 2.6 เท่า ต่างกับ Constellation Brands อีกกลุ่มสุราระดับโลก มีแบรนด์ดังๆ เช่นเบียร์ Corona ต้องจ่ายถึง 8.7 เท่าของรายได้ในการซื้อบริษัทเบียร์ Ballast Point เมื่อปี 2558
แบรนด์เล็กปรับตัวช้าทำให้ด้อยมูลค่า
Bart Watson หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Brewers Association ในสหรัฐอเมริกา เล่าให้ฟังว่า ถึงคราฟต์เบียร์จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกา ผ่านการเกิดขึ้นใหม่ของผู้ผลิตขนาดเล็ก 2 ราย/วัน แต่กลุ่มที่เป็นผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ขนาดกลางถึงใหญ่ กลับไม่ได้ประโยชน์จากการเติบโตครั้งนี้ เพราะด้วยต้นทุน และการแข่งขันที่ไปชนกับผู้ผลิตเบียร์แบรนด์ดัง
“เราเห็นการปรับตัวของโรงเบียร์ขนาดกลางถึงใหญ่ที่เน้นคราฟต์เบียร์ เช่นการสร้างรสใหม่ๆ หรือการทำราคาให้เข้าถึงได้มากขึ้น แต่นั่นก็เหมือนช้าเกินไป เพราะเมื่อมีรายย่อยเกิดใหม่ทุกวัน ประกอบกับรายใหญ่ก็เดินเกมอย่างเข้มข้น คงไม่แปลกที่ Anchor ที่เหมือนจะปรับตัวไม่ทันย่อมมียอดขายลดลง และตัวมูลค่าธุรกิจก็ลดลงด้วย จน Sapporo ได้แบรนด์ชั้นดีไปในราคาที่ถูกมาก”
หลังจากนี้คงมีการควบรวมกิจการอีกแน่นอน
อย่างไรก็ตามการเข้าซื้อกิจการผลิตเบียร์รายเล็ก ถึงกลางในสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน เพราะด้วยการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น การหาตลาดใหม่ๆ ของผู้ผลิตรายใหญ่จากต่างประเทศ และใช้วิธีควบรวมกิจการน่าจะทำได้ง่ายที่สุด แถมตัวผู้เล่นรายใหญ่ไม่ต้องลงทุนวิจัยพัฒนาสินค้าใหม่ขึ้นเอง เพียงต่อยอดจากสิ่งที่แบรนด์ที่เข้าไปซื้อมีอยู่ก็เรียบร้อย
สรุป
การเดินเกมซื้อกิจการในระดับโลกของวงการน้ำเมานั้นจะมีเกิดขึ้นอีกตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ถ้าลองนึกๆ ดูแล้วก็เหมือนกับที่เกิดขึ้นในวงการน้ำเมาในไทย ที่กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ก็มีการซื้อกิจการน้ำเมาคู่แข่งเป็นจำนวนมาก รวมถึงธุรกิจเครื่องดื่มอื่นๆ และสามารถขยายกิจการออกไปได้ในระดับเอเขีย จนน่าจะเป็นเบอร์หนึ่งของภูมิภาคนี้ได้ในเวลาอีกไม่นาน
อ้างอิง // Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา