ต่อให้หรูแค่ไหน สมัยนี้ก็ตามเก็บกันทันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเพชรพลอย เครื่องประดับ บ้านหรู รถราคาแพง กระเป๋าหลักล้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกสถานะทางสังคมอีกต่อไป คนรวยจริงที่อยู่บนยอดพีระมิด 1% เลิกเสียเงินให้กับของหรูพวกนี้มาสักพักแล้ว จะมีก็แต่คนรายได้ปานกลางเท่านั้นที่ยังคงเอื้อมกันต่อไป
เมื่อความหมายของการแสดง “ความรวย” เปลี่ยน
มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า The Sum of Small Things: A Theory of the Aspirational Class ของ Elizabeth Currid-Halkett ที่เพิ่งตีพิมพ์สดๆ ร้อนๆ ในปี 2017 นี้ โดยศึกษาสังคมอเมริกันร่วมสมัยและเน้นไปที่พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนในสังคม
เธอพบว่า ในอดีต “ข้าวของเครื่องใช้หรูหรา” ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า นาฬิกา เพชรพลอย อัญมณี บ้าน รถ กระเป๋า ฯลฯ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานะทางชนชั้น ยิ่งหรูก็แปลว่ายิ่งรวย แต่ในสังคมร่วมสมัยนี้อาจไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว
จากสถิติบอกว่า นับตั้งแต่ปี 1996 – 2014 คนรวยระดับบน หรือที่เรียกกันว่า “พวก 1%” ในสหรัฐอเมริกา ใช้จ่ายในสิ่งของหรูหราน้อยลงมาก เพราะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งชาติอีก ในขณะที่กลุ่มคนรายได้ปานกลางคือกลุ่มที่ใช้จ่ายกับสิ่งของหรูหรามากที่สุด อย่างในปี 2014 กลุ่มคนรายได้ปานกลางนี่เองที่ใช้จ่ายกับในส่วนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยประจำปีถึง 35%
แล้วเหล่าบรรดาคนรวย 1% เขาใช้จ่ายในอะไรกัน?
คนรวยระดับท็อปกลุ่มนี้หันไปใช้จ่ายกับ “สิ่งที่มองไม่เห็นแต่มีคุณค่า” อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องบอกก่อนว่า สิ่งที่มองไม่เห็นในที่นี้ไม่ใช่เรื่องลี้ลับ หรือเรื่องไสยศาสตร์แต่อย่างใด
“สิ่งที่มองไม่เห็น” ที่พวก 1% ใช้จ่ายก็คือ การไปลงทุนกับเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ, ไปท่องเที่ยวในที่แปลกๆ, เดินทางไปในดินแดนห่างไกล, ไปเน้นการออกกำลังกาย, ไปเล่นโยคะ, ไปเล่นพิลาทิส, ไปเข้าร่วมกับวงโอเปร่า หรือจ้างคนใช้ในบ้านเพิ่มเพื่อแลกกับเวลาว่างที่มากขึ้น
สรุป
ในโลกสมัยใหม่ที่ทุนนิยมได้ขยายฐานทางเศรษฐกิจให้กับคนหลากหลายกลุ่ม จำนวนคนชั้นกลางกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้การเข้าถึง “สิ่งของหรูหรา” เป็นเรื่องปกติสามัญที่ใครๆ ก็ทำได้ นั่นหมายความว่า คนรวยระดับท็อปที่ต้องการแสดงถึงสถานะทางสังคมจึงไม่สามารถแสดงออกในรูปแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไปแล้ว
เพราะเมื่อสิ่งของที่มองเห็นทั้งหลายไม่บ่งบอกสถานะทางสังคม ทางออกคือต้องหาหนทางใหม่ๆ เช่น ลงทุนกับสิ่งที่มองไม่เห็นตรงๆ แต่ในท้ายที่สุดจะมีคุณค่าอย่างมาก และยิ่งนับวันโลกในอนาคตก็จะไปวัดและไปแข่งขันกันในจุดนั้นมากขึ้น
แต่เอากันเข้าจริงๆ แล้ว เรื่องพฤติกรรมของคนรวยระดับท็อปที่เปลี่ยนไปก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่มันคือการใช้จ่ายเพื่อเพิ่มพูน “ทุนทางวัฒนธรรม” ที่ Pierre Bourdieu และนักคิดในสายสังคมวิทยาได้เคยเสนอไว้แล้วนั่นเอง
อ่านเรื่องทุนทางวัฒนธรรม เพิ่มเติมได้ที่นี่
ที่มา – The Economist
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา