กระแส Startup ยังแรงไม่ตก โดยเฉพาะ FinTech ที่ตอนนี้บอกได้ว่าเป็นพระเอกสุดๆ โดยเฉพาะเมื่อธนาคาร เจ้าของเงินทุนรายใหญ่กระโดดลงมาร่วมวงสนับสนุนอย่างชัดเจน ความเคลื่อนไหวของรายใหญ่ เช่น Digital Ventures ของ SCB และ KBTG ของ Kbank แต่ยังมีอีกรายที่ขยับตัวไปข้างหน้าก่อนคนอื่นๆ คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่จับมือกับ RISE จัด Krungsri RISE เป็น FinTech Accelerater รายแรกของไทยไปแล้ว
และครั้งนี้ Brand Inside ได้โอกาสนั่งคุยกับ หมอคิด ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร RISE Academy ถึงความคืบหน้าในโครงการ Krungsri RISE และแผนการในอนาคตของ RISE กับการทำ Batch ต่อๆ ไป
FinTech ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
หมอคิด เล่าถึงการทำ Krungsri RISE ที่ถือเป็น Batch แรกของ RISE โดยเลือกจับด้าน FinTech และเดินหน้าโครงการมาครึ่งทางแล้วว่า นี่คือ Accelerater ที่ออกแบบมาเพื่อ Startup ด้าน FinTech อย่างแท้จริง โดยคัดเลือก FinTech เข้าร่วมได้ 15 ราย มีครบทุกด้าน เช่น Lending, Credit Score, Insurance, Investment จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 10 รายเท่านั้น แต่ไม่สามารถคัดออกได้จริงๆ
Krungsri RISE มองเห็นช่องว่างสำคัญในการทำ FinTech Accelerater ซึ่งเป็นสิ่งที่ Accelerater อื่นๆ ไม่มี หรือไม่ลึกเท่า คือ การได้ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมแท้ๆ มาให้ข้อมูลเบื้องลึก เบื้องหลังจริงๆ ที่หาฟังไม่ได้จากที่อื่นจริงๆ มีทั้ง Policy Maker เช่น กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ Regulator เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. รวมถึงคนในอุตสาหกรรม เช่น ธนาคาร, ประกันภัย, บริษัทหลักทรัพย์
“เรื่องที่ต้องมี เช่น Pitching, Marketing, Raise Fund พวกนี้มีหมดแล้ว แต่ Krungsri RISE มีเพิ่มเรื่องเฉพาะทางของ FinTech ที่ยังไม่มีใครทำได้เข้าไปด้วย นี่คือ จุดที่แตกต่าง และสร้างความได้เปรียบให้กับ FinTech ที่เข้าร่วมโครงการ”
สร้าง Community FinTech สร้างความแข็งแกร่ง
เป้าหมายของ Krungsri RISE นอกจากจะส่งเสริม FinTech แล้ว อีกส่วนที่สำคัญคือการสร้าง Community ให้กับ FinTech เพราะรู้ว่าเรื่องของนโยบายและกฎหมายต่างๆ ในไทยยังต้องมีการปรับปรุงอีกพอสมควร การรวมกลุ่มจะสร้างความแข็งแกร่ง สร้างโอกาสในการต่อรอง และนำเสนอแนวทางที่ถูกต้องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น
และจากการทำ Krungsri RISE ทำให้เห็นสัญญาณชัดเจนว่า FinTech มาเร็วกว่าที่คิด เห็นว่าธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแลลงมาลุยด้วยแล้ว มีชมรม FinTech Thailand เกิดขึ้นแล้ว ที่เหลือก็แค่ FinTech ต้องทำตัวเองให้พร้อม ต้องมีประสบการณ์ที่มากพอ ต้องเข้าใจธุรกิจ ต้องรู้ว่าจะสามารถ Scale Up ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจของ Startup ได้อย่างไร และจะ Repeat หรือทำซ้ำในประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยยังขาดอยู่
Batch ต่อไปเตรียมลุยอุตสาหกรรมอื่น
RISE Academy เป็น Corporate Accelerate Academy รายเดียวที่จะจับมือกับหน่วยงานอื่น เพื่อสร้าง Accelerater เฉพาะทางขึ้น ซึ่ง Batch แรกคือการร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีฯ เพื่อทำด้าน FinTech ได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนทุกอย่าง เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับ Startup
ตามกำหนดการ Krungsri RISE จะมี Demo Day ในเดือน ก.ย. จากนั้น RISE จะศึกษาแนวทางเพื่อทำ Batch ต่อไปใน Startup อุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งถึงวันนี้จากการร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีฯ ก็พิสูจน์ระดับหนึ่งแล้วว่า RISE สามารถจัด Accelerater ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มี FinTech ที่มีแนวโน้มชัดเจนว่าจะเป็น Success Case และได้รับความร่วมมือหรือเงินลงทุน
สรุป
สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งโทรคมนาคม หรือธนาคาร ที่มีกำลังมากพอจะจัด Corporate Accelerater เองได้ ได้เริ่มต้นโครงการไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น dtac Accelerate ที่เป็นผู้นำในเวลานี้ หรือ SCB และ Kbank ที่อยู่ระหว่างการตั้งไข่ แต่สำหรับองค์กรระดับกลาง ที่ไม่ต้องการจัดโครงการบ่มเพาะเอง RISE คือ Corporate Accelerater ที่น่าสนใจ แม้โครงการ Krungsri RISE จะผ่านมาแค่ครึ่งทาง แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณภาพได้ดี
และเป็นพิสูจน์ด้วยว่า Startup ไทย จะเติบโตแบบแข็งแกร่ง การสนับสนุนแบบเฉพาะทางมีส่วนสำคัญ นอกจากจะเลือก Shopping อย่างเดียว บางทีการจัดโครงการระยะสั้นจะทำให้ได้เห็นโอกาสที่ลึกกว่า ได้พัฒนาไปร่วมกัน ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือองค์กร และ Startup ดังนั้นจับตามอง Batch ต่อไปของ RISE ให้ดี และอย่าพลาดโดยเด็ดขาด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา