หากใครไม่รู้จัก TOO FAST TO SLEEP คล้ายๆ Co-Working Space สำหรับนักเรียนนักศึกษา สามารถมาอ่านหนังสือเปิดตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่คิดค่าสถานที่หรือไม่ต้องซื้ออาหารและเครื่องดื่มก็ได้ สาขาแรกเปิดใกล้ๆ จามจุรีสแควร์ และเปิดอีก 2 สาขาที่ ม.มหิดล ศาลายา และ ม.เกษตร บางเขน
และล่าสุดได้ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เปิดสาขาที่ 4 TOO FAST TO SLEEP.SCB ที่สยามสแควร์ ซอย 1 โดยใช้พื้นที่ชั้น 2 ของ SCB ซึ่งปกติเป็นชั้นเก็บเอกสาร มาพัฒนาเป็น Community นั่งอ่านหนังสือแบบ 24 ชั่วโมง อีกนัยหนึ่งที่นี่จะเป็น Lifestyle Banking แห่งแรกด้วย
และขอบอกว่า พื้นที่ภายในน่านั่งด้วย
สร้างธนาคารที่ใกล้ชิดผู้บริโภค สร้าง Lifestyle Banking
ธนา เธียรอัจฉริยะ รักษาการ CMO ของ SCB บอกว่า จากแนวคิดของ CEO ที่ต้องการให้ SCB เป็นธนาคารที่ใกล้ชิดผู้ใช้มากขึ้น เป็น Most Admired Bank ดังนั้นต้องทำอะไรที่มากกว่าเดิม ออกจากเรื่องเงินๆ ทองๆ มาเป็น Lifestyle Banking จริงๆ และเห็นว่า ถ้าพัฒนาพื้นที่เก็บเอกสาร ที่แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ให้เป็นพื้นที่สำหรับนักเรียนนักศึกษา ได้มาใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ น่าจะเป็นผลดีต่อทั้งสังคมและแบรนด์ของธนาคาร
“ธนาคารไม่ได้แค่แข่งกับธนาคารด้วยกัน แต่กำลังแข่งกับอีกหลายธุรกิจ เช่น LINE, AIS และธุรกิจ Non-Bank อีกมาก ถ้าธนาคารไม่สร้าง engagement กับผู้บริโภคให้มากขึ้น ต่อไปจะยิ่งเป็นเรื่องยาก”
สำหรับพื้นที่ของ SCB สาขาสยามสแควร์ ซอย 1 ชั้น 2 ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร จึงร่วมกับ TOO FAST TO SLEEP มาปรับปรุงพื้นที่ใหม่ เท่ากับว่า SCB ไม่ได้ลงทุนอะไรนอกจากให้ใช้พื้นที่ ส่วน TOO FAST TO SLEEP ก็มาตกแต่งภายใน บริหารจัดการพื้นที่ และจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม เพื่อสร้างชุมชนคนรุ่นใหม่ขึ้น
การพัฒนา TOO FAST TO SLEEP.SCB ใช้เวลาไม่ถึง 3 เดือนตั้งแต่พูดคุยตกลงและเริ่มทำจนเสร็จ รวมถึงการขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย โดยถือว่านี่คือ CSR ที่ SCB ทำให้กับลูกค้าและสังคม
TOO FAST TO SLEEP ทำแล้วเป็นสุข แม้ขาดทุนเป็นแสนก็ยอม
เอนก จงเสถียร ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร TOO FAST TO SLEEP บอกว่า โดยส่วนตัวทำธุรกิจเยอะมากมีรายได้มีกำไรอยู่แล้ว แต่การให้บริการ TOO FAST TO SLEEP ทั้ง 3 สาขาก่อนหน้านี้ขาดทุนเฉลี่ยสาขาละแสนกว่าบาทมาโดยตลอด ดังนั้นเป้าหมายที่ทำไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นความสุขที่เห็นนักเรียนนักศึกษาที่พื้นที่ที่มีประโยชน์ และใช้งานได้ 24 ชั่วโมง คือ ไม่มีปิด
TOO FAST TO SLEEP มองหาพื้นที่เปิดสาขาใหม่ๆ มาตลอด แต่หาไม่ได้จนกระทั่ง SCB ติดต่อมา ทุกอย่างลงตัว ดำเนินการทุกอย่างพร้อมเปิดได้ในเวลา 87 วัน ไอเดียคือ เข้ามาใช้บริการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายไม่ต้องซื้ออาหารและเครื่องดื่มก็ได้ แต่ห้ามนอน ห้ามจองที่ ใครมาก่อนได้ใช้บริการก่อน
“ส่วนตัวทำธุรกิจเยอะ มีเงินก็ซื้อของทุกอย่างหมดเงินเดือนเป็นล้าน แต่พอมาทำ TOO FAST TO SLEEP แม้จะขาดทุนรวมแล้ว 3-4 แสนบาทต่อเดือน แต่ก็ไม่มีเวลาไปซื้อของ เท่ากับว่าประหยัดเงินต่อเดือน 6-7 แสนบาท และยังได้ความสุขจากการเห็นเด็กๆ มีพื้นที่อ่านหนังสือ”
พื้นที่ Cashless Society ของแท้ ไม่รับเงินสด
ธนา บอกว่า การจะเข้าใช้บริการ TOO FAST TO SLEEP.SCB ได้ต้องมีแอปพลิเคชั่น SCB Easy อยู่ในมือถือ (ขอแค่ดาวน์โหลดมาติดตั้งในเครื่องก็ได้) ขณะที่การขายอาหารและเครื่องดื่ม จะใช้ระบบ Cashless ทั้งหมด คือ ซื้อได้ด้วย PromptPay หรือบัตรเดบิต/เครดิต ของธนาคารใดก็ได้ ซึ่งเชื่อว่า กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนนักศึกษา พร้อมเปิดรับการใช้งานอยู่แล้ว
การทำตลาดของธนาคารเพื่อสร้าง engagement ยุคใหม่จะใช้วิธีบังคับไม่ได้ แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้ จากนั้นค่อยขออนุญาตขาย หรือ Permission Marketing คือ ทำให้ผู้บริโภคเห็นก่อนว่าดีและมีประโยชน์ จากนั้นการขายจึงค่อยตามมา
ขณะที่เป้าหมายต่อไป ถ้า TOO FAST TO SLEEP.SCB มีการตอบรับที่ดี SCB มีแผนที่จะใช้พื้นที่สาขาอื่นๆ เพื่อเปิด TOO FAST TO SLEEP.SCB ขึ้นมาอีก ซึ่งรวมถึงพื้นที่ในต่างจังหวัดด้วย
สรุป
ปกติธนาคารจะทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับเงินและการลงทุนเป็นหลัก นี่คือครั้งแรกที่ธนาคารก้าวออกจากกรอบแนวคิดเดิมๆ ซึ่ง TOO FAST TO SLEEP.SCB เป็นบริการที่ลงตัวมาก เพราะ SCB ไม่ได้หารายได้จากบริการนี้ (ตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์หารายได้จากบริการอื่นไม่ได้) แต่ให้ TOO FAST TO SLEEP เข้ามาใช้พื้นที่ เพื่อให้บริการพื้นที่ฟรีสำหรับนักเรียนนักศึกษา (ถ้าซื้อของก็จ่าย) สิ่งที่ SCB จะได้รับ ไม่ใช่แค่เรื่อง CSR แต่คือ การรับรู้แบรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ธนาคารอาจจะเข้าถึงได้ไม่ดีนัก ถือว่าคุ้มค่าจนไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา