AIS เผยรายงานความสามารถในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องของคนไทย (Cyber Wellness) พบข้อมูลน่าใจหลายชุดพบว่า กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปใช้เทคโนโลยีอยู่ในระดับต้องพัฒนา ขณะที่หากแบ่งตามภูมิภาค ภาคเหนือและภาคตะวันตกเป็นเพียง 2 ภาคเท่านั้นที่อยู่ในระดับต้องพัฒนาและเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์
รายงาน Thailand Cyber Wellness Index หรือดัชนีวัดสุขภาวะดิจิทัลของ AIS ครอบคลุมทักษะ ความสามารถและความรู้ในการใช้เทคโนโลยีหลัก ๆ ในเรื่องของการใช้ดิจิทัล (Digital Use) การรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) การสื่อสารและทำงานร่วมบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration)
ความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety) การแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationships) ความเข้าใจสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights) และการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจมี 21,862 รายจาก 77 จังหวัดและ 7 ภูมิภาค เป็นเพศชาย 48.24% เพศหญิง 51.76% กลุ่มอายุ 10-12 ปี (12.18%) 13-15 ปี (14.19%) 16-18 ปี (12.22%) 19-22 ปี (13.55%) 23-59 ปี (34.65%) และ 60 ปีขึ้นไป (13.21%) ส่วนกลุ่มอาชีพแบ่งเป็น นักเรียนและนักศึกษา รับราชการ ค้าขายหรือธุรกิจส่วนตัว รับจ้างทั่วไป พนักงานบริษัทเอกชน เกษตรกร รัฐวิสาหกิจ ว่างงาน และอื่น ๆ
การประเมินผลจะประเมินออกมาเป็นตัวเลขคำแนนในภาพรวม และนำคะแนนมาแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
- Improvement หรือระดับที่ต้องพัฒนา ผู้ใช้มีความรู้ ความสามารถไม่พอ เสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์
- Basic Level หรือระดับพื้นฐาน ผู้ใช้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ
- Advance Level หรือระดับสูง ผู้ใช้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ มีความรู้เท่าทันภัยทางไซเบอร์ และสามารถแนะนำคนอื่นให้ใช้ได้อย่างถูกต้อง
ในภาพรวม ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่มีอยู่ 3 ด้านที่อยู่ในระดับต้องพัฒนา คือ ความเข้าใจสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights) การแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relations) และการสื่อสารและทำงานร่วมบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration)
หากแบ่งตามกลุ่มอายุพบว่า กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มีค่าเฉลี่ยคะแนน Cyber Wellness อยู่ในระดับต้องพัฒนา ขณะที่กลุ่มอายุอื่นมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับพื้นฐาน
ส่วนการแบ่งตามอาชีพพบว่ามี 4 กลุ่มที่อยู่ในระดับพื้นฐาน เรียงจากค่าเฉลี่ยคะแนนจากดีที่สุดไปน้อยที่สุด คือ พนักงานของรัฐ (0.78) รับราชการ (0.67) นักเรียนและนักศึกษา (0.59) และข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว (0.47)
ขณะที่กลุ่มที่อยู่ในระดับควรปรับปรุงเรียงจากคะแนนน้อยไปมาก คือ เกษตรกร (0.24) รัฐวิสาหกิจ (0.31) รับจ้างทั่วไป (0.33) ค้าขายและธุรกิจส่วนตัว (0.38) พนักงานบริษัทเอกชน (0.41) และผู้ว่างงาน (0.42)
นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งตามภูมิภาคด้วย โดยภูมิภาคที่อยู่ในระดับพื้นฐาน เรียงค่าเฉลี่ยจากดีที่สุดไปน้อยที่สุด คือ กรุงเทพและปริมณฑล (0.61) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (0.59) ภาคตะวันออก (0.52) ภาคกลาง (0.50) ภาคใต้ (0.49) ขณะที่ภาคตะวันตก (0.40) และภาคเหนือ (0.33) อยู่ในระดับต้องพัฒนา
ที่มา – AIS
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา