AIS จัดงานให้ความรู้-แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกูรูสตาร์ทอัพในอังกฤษ ฟังดูแล้วบอกได้เลยว่า แค่เก่งอย่างเดียวอาจไม่พอ สภาพแวดล้อมต้องเอื้อต่อการเติบโตด้วย มากกว่านั้นภาครัฐก็สำคัญ ถ้าคิดจะสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในสังคมกันอย่างจริงๆ จังๆ
สตาร์ทอัพมีวงจรชีวิต จะทำต้องคิดเป็นระบบ ไม่งั้นก็เจ๊ง
เย็นวันจันทร์ส่งท้ายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา AIS ได้จัดงาน “How Thai Tech Startups can expand into the UK Market” ที่ AIS D.C. ในงานเน้นประเด็นที่ว่า จะทำอย่างไรที่สตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีจะไปเติบโตในสหราชณาจักร โดยหลักๆ แล้วก็หมายถึง “ลอนดอน” ที่เป็นแหล่งสำคัญของธุรกิจด้านเทคโนโลยี สตาร์ทอัพสายไอทีนั่นเอง
คนที่ AIS เชิญมาพูดเป็น Speaker หลักคือ Tony Hughes ตำแหน่งคือ Co-founder & Director และ Focus Innovation and UK GEP Dealmaker โดยเป็นหนึ่งในทีมของรัฐบาลอังกฤษที่จะคอยช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในสหราชอาณาจักร
Tony เริ่มต้นจากการเล่าให้ฟังว่า สตาร์ทอัพสายไอทีในอังกฤษยุคนี้รุ่งเรืองมาก เพราะมีผู้ประกอบการสายธุรกิจไอทีประมาณ 45,000 บริษัท ที่สำคัญคือ GDP ของอังกฤษมาจากภาคส่วนนี้ถึง 12.4% แต่ในอดีตนั้นคนในอังกฤษไม่นิยมเป็นผู้ประกอบการ แต่ในยุคให้หลังมานี้การลงทุนในธุรกิจโดยเฉพาะด้านไอทีเป็นสิ่งที่ได้ความนิยมมาก
แต่ก่อนที่จะทำ Startup นั้น Tony ย้ำว่า ต้องเข้าใจว่า Startup มันก็มีวงจรที่เป็นระบบของตัวมันเองอยู่เหมือนกัน เช่น เมื่อเริ่มแรก คุณมีไอเดีย ต่อให้ไอเดียดีมาก แต่ถ้าไม่วางแผนในขั้นต่อไปว่า ของที่คุณจะปล่อยออกมานั้น คนกลุ่มไหนเป็นฐานที่เราต้องการจะเข้าไปเล่นด้วย หลังจากนั้นต้องทดลองส่งสินค้าออกไปสู่ตลาด ในระยะเวลา 6 เดือนคือคุณต้องรู้ผลแล้ว อย่าน้อยหรือมากไปกว่านั้น แต่ถ้าไม่ได้ผลก็อย่าฝืน ต่อมาก็ต้องทำตลาด หมายความว่าคุณประเมินแล้วว่าทุกขั้นที่ผ่านมานั้นใช้ได้ การทำตลาดคือการส่งของออกมา แน่นอนว่าทุกคนก็จะมาถึงจุดนี้แล้วล้มหายตายจากกันไปในธุรกิจ เพราะเมื่อมาถึงขั้นนี้ สิ่งที่คุณต้องคิดต่อไปคือ “Scale” คุณต้องตีโจทย์ให้แตกว่า จะขยายขอบเขตของธุรกิจของคุณให้ไปได้ไกลมากกว่านี้ไหม ส่วนใหญ่ถ้าขยายไม่ได้ก็จบ แต่ถ้าทำได้นั่นคือแสงสว่างในธุรกิจของคุณ
ถ้าอยู่ในที่ที่เหมาะสม ก็โตได้ไว ต่อให้ทำดีแทบตาย อยู่ในที่ที่ไม่ใช่ ก็ไปไม่รอด
เป้-นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร CEO of Trik สาวไทยที่ทำ Startup แล้วไปประสบความสำเร็จในอังกฤษ เธอเล่าย้อนไปว่าก่อนหน้านี้เป็นเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ เลยไปทำงานเป็นวิศวรกรให้กับปตท.สผ. แต่รู้สึกว่างานไม่ท้าทาย ไม่ได้ใช้สมองเท่าที่เธออยากจะใช้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลก และที่สำคัญคือไม่ได้สร้างนวัตกรรม
เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านผู้ประกอบการที่อังกฤษ หลังจากนั้นเรียนจบ เธอทำสตาร์ทอัพไอทีชื่อ Trik เป็นสตาร์ทอัพที่ผสมผสานการใช้โดรนกับเทคโนโลยีเพื่อดูแลอาคารหรือสิ่งของที่มีความสูง โดยโดรนจะถ่ายรูปออกมาเป็นภาพ 3 มิติ ทำให้บริษัทจัดการดูแลสะดวกสบายมากขึ้น ที่สำคัญไม่ต้องเสี่ยงชีวิตคนขึ้นไปถ่ายภาพ หรือสิ้นเปลืองพลังงานในการถ่ายรูปหลายใบมาปะติดปะต่อกัน (เธอเพิ่งส่งมาให้ใช้งานกันสำหรับคนทั่วไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมนี้เอง ลองไปดูได้ที่ Trik)
“ลอนดอนเป็นฐานที่น่าสนใจมากในการทำสตาร์ทอัพสายไอที ถ้าเทียบเอาเฉพาะด้านเทคโนโลยีกับซานฟรานซิสโก บอกได้เลยว่า ที่ลอนดอนฝีมือดีกว่า และถูกกว่า”
เธอบอกว่า ตอนที่เรียนจบในอังกฤษใหม่ๆ ไม่มีคอนเนคชั่นในการทำสตาร์ทอัพเลย แต่เมื่อเริ่มทำ ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น
“ภาครัฐเขาสนับสนุนดีมาก สภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่นี่ดีมาก คนเก่งอยู่ที่ลอนดอนเยอะมาก แล้วที่นี่เขาจะมี Angel investor กันเยอะมาก ทั้งคนที่สนใจลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ หรือหลายคนก็อายุเยอะแล้ว มีเงินเกษียณจำนวนมาก ก็เอามาลงทุนในสตาร์ทอัพไอทีที่เขาสนใจ”
“แล้วรู้ไหมว่า ที่นี่เขาชอบความเสี่ยงมากเลยนะ ถ้าธุรกิจยิ่งเสี่ยงมาก เขายิ่งชอบ คือถ้าไม่ร่วงไปเลย ก็ไปไกลแบบ Facebook อะไรแบบนั้นเลย มันก็เหมือนเป็นการซื้อหวยแบบหนึ่งนะคะ”
“สตาร์ทอัพไทยยังขาดความกล้าได้กล้าเสี่ยง ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง ทำธุรกิจต้องเสี่ยงค่ะ high risk-high return แต่ในอังกฤษสิ่งที่สนับสนุนตลอดคือ ภาครัฐและสภาพสังคมที่เอื้อ เพราะฉะนั้นสตาร์ทอัพไอทีไทยที่อยากจะเติบโต แนะนำว่าไปโตในอังกฤษได้ไม่ยาก ถ้าตั้งใจทำจริง”
สรุป
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เอาแบบสรุปเลยคือ หัวใจของการเติบโตในธุรกิจสายสตาร์ทอัพไอทีไม่ใช่แค่ความสามารถของคุณเท่านั้น แต่ Keyword สำคัญที่ได้จากงานนี้คือ “ภาครัฐ” และ “สังคมแวดล้อม” แน่นอนว่ารัฐบาลอังกฤษจริงจังกับเรื่องนี้มาก การติดต่อเพื่อดำเนินงานเป็นไปอย่างสะดวก มีทุนสนับสนุนต่อเนื่อง รวมถึงสภาพแวดล้อมที่พร้อมช่วยเหลือในการลงทุนกับสตาร์ทอัพไอทีอยู่เสมอๆ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา