เช้าวันนี้ (22 ก.พ.) ดัชนี Nikkei 225 พุ่งขึ้นสู่ระดับ 39,156.97 จุด นับว่าสูงกว่าจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์เดิมเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 1989 (2532) ที่อยู่ระดับ 38,957.44 จุด ซึ่งเป็นช่วงก่อนฟองสบู่แตกของเศรษฐกิจญี่ปุ่น (ในวันนั้นปิดตลาดที่ระดับ 38,915.87 จุด)
ที่มา CNBC
ทั้งนี้ ดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 39,029 จุด เพิ่มขึ้นเกือบ 2% มีแรงหนุนมาจากหุ้นกลุ่มธุรกิจธนาคาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และหุ้นสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ในระหว่างวันดัชนี Nikkei 225 ปิดตลาดที่ระดับ 38,912.87 จุด
ทั้งนี้ จากรายงานข่าวของ CNBC ระบุว่า ดัชนี Nikkei และดัชนี TOPIX ค่อนข้างโดดเด่นกว่าดัชนีอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิค เพราะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% หลังจากปี 2023 ที่ผ่านมาพุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 25% ถือว่าเป็นช่วงที่เติบโตดีที่สุดในรอบทศวรรษนี้
อีกทั้งจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทญี่ปุ่น ทำให้ Bank of America ปรับคาดการณ์ดัชนี Nikkei 225 ณ สิ้นปีนี้ขึ้นเป็น 41,000 จุด จากเดิมที่ 38,500 จุด ขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์ดัชนี TOPIX ขึ้นเป็น 2,850 จุด จากเดิมที่ 2,715 จุด
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่พุ่งสูงขึ้นยังได้รับแรงหนุนจากด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ในปีนี้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง 6% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับจากช่วงปลายปีก่อนถือว่าอ่อนค่าต่อเนื่อง (ช่วงที่ผ่านมาอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 33 ปี)
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก REUTERS ระบุว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดหุ้นกว่า 6.3 ล้านล้านเยน (42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และลงทุนกว่า 1.16 ล้านล้านเยนในหุ้นญี่ปุ่นภายในเดือน ม.ค. 2024 ที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้หุ้นญี่ปุ่นน่าสนใจในสายตาของนักลงทุน คือ การที่ Warren Buffett เข้าลงทุนในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2020
ในช่วงหลายปีที่ผ่ามา อาจเรียกได้ว่า การลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นไม่ได้เฟื่องฟูนัก เพราะเศรษฐกิจโตต่ำต่อเนื่องมากหลายปี และยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้าน ตั้งแต่สังคมสูงวัย ปัญหาเงินฝืด ประฃากรเกิดใหม่ลดลง เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่อาจทำผลตอบแทนได้สูงกว่าทำให้ช่วงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นดูจะน่าสนใจน้อยว่า
ขณะเดียวกันหลายฝ่ายยังคาดหวังว่าญี่ปุ่นจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังควรติดตามสถานการณ์ระยะสั้น และปัจจัยต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ในระยะยาวอีกด้วย
ที่มา CNBC, Reuters, Nikkeiasia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา