ผ่าชีพจรธุรกิจ e-Commerce กับ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เจ้าพ่อตลาดดอทคอม

13410795_10153485942616020_495755904_o

หนึ่งในกูรูด้าน e-Commerce อยู่ในวงการมากกว่า 20 ปี ไม่มีใครไม่รู้จัก ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม Tarad.com เว็บ e-Commerce Marketplace แห่งแรกๆ ของประเทศไทย และครั้งนี้ในฐานะนายกสมาคม e-Commerce ป้อม จะมาร่วมจับชีพจรของธุรกิจ e-Commerce ในไทยในงานสัมมนา e-biz expo 2016 มาดูว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำไมผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ต้องกระโดดเข้ามาในโลกออนไลน์

ในแวดวงผู้ให้บริการ e-Commerce ในลักษณะที่เรียกว่า Marketplace นั้นเวลานี้ต้องยอมรับว่า การแข่งขันหนักหน่วงมาก มีผู้เล่นล้มหายไปจากหน้ากระดานบ้างแล้ว จะเห็นว่า Ensogo, Coupon ได้เลิกกิจการและถอยตัวจากไป หรือแม้แต่ Rakuten ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ที่เอาโมเดลธุรกิจแบบญี่ปุ่นมาใช้ ก็ต้องถอยทัพกลับไปเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า ตลาดนี้ไม่ง่าย

13389191_10153485942631020_2115093084_o

สำหรับรายใหม่ที่เข้ามาในตลาดสดๆ ร้อนๆ เช่น Alibaba ที่เข้าซื้อกิจการของ Lazada ไปเรียบร้อย และคาดการณ์กันว่า จะเป็นช่องทางออนไลน์สำคัญที่ Alibaba จะใช้ในการนำสินค้าจากจีนกระจายเช้าสู่ตลาดอาเซียน ซึ่งนอกจากการขายสินค้าจาก Taobao แล้วยังมี Alipay รองรับการจ่ายเงิน  และ Aliexpress ที่รองรับระบบ Logistics เชื่อว่าจะเริ่มเห็นการขยับเคลื่อนไหวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ถือเป็นสเต็ปที่น่าเป็นห่วงสำหรับ  SME ไทย

ทั้งนี้ ยังเหลือ Amazon และ Ebay ที่ยังไม่ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยชัดเจนมากนัก

13351155_10153485942441020_883795847_o

เงินมากกว่า โอกาสชนะสูง

ภาวุธ บอกว่า ในตลาด Marketplace ต้องยอมรับว่า การแข่งขันวัดกันด้วย เงินทุน เป็นหลักสำคัญ ใครมีเงินมากกว่า โอกาสชนะสูงกว่า ดังนั้นกลายเป็นว่าผู้ให้บริการที่เข้าในตลาดช้ากว่า อาจจะได้เปรียบ เพราะสุดท้ายคนที่ทนการขาดทุนได้มากกว่า จะชนะไปในที่สุด

“ผู้ซื้อกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่มีความคุ้นเคย ดังนั้น Marketplace จะดึงดูดผู้ซื้อด้วย การลดราคาสินค้า, บริการส่งฟรี, บริการรับเปลี่ยนหรือรับคืนสินค้า ซึ่งเงินทั้งหมดผู้ขายยังขายได้เท่าเดิม แต่ Marketplace รับภาระส่วนลดเหล่านี้ให้เอง เพื่อหวังว่าผู้บริโภคจะติดใจและเข้ามาซื้อซ้ำเรื่อยๆ ตัวแปรคือ เมื่อผู้บริโภคกำลังจะติดใจ ก็จะมี Marketplace รายใหม่กระโดดเข้ามาทำตลาดในลักษณะเดียวกัน”

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของ Marketplace คือ ลงทุนระบบ การคลังสินค้า ระบบขนส่งให้พร้อม เตรียมโปรโมชั่นฟรี เตรียมหาบุคลากรที่มีความสามารถ เตรียมงบประมาณสำหรับการทำตลาดอย่างหนัก และต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ตลอดเวลา สุดท้าย งบประมาณ คือหัวใจสำคัญในเกมนี้

13389111_10153485942321020_50255466_o

ตลาดไทยยังเล็กมาก โอกาสเติบโตอีกมหาศาล

ตลาด e-Commerce ไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1% ของมูลค่าตลาดค้าปลีก แสดงว่าโอกาสเติบโตยังมีอีกมาก วัดจากจำนวนประชากรทั้งหมด 67-68 ล้านคน มีประชากรอินเทอร์เน็ตประมาณ 33 ล้านคน ถ้าประชากรอินเทอร์เน็ตเพิ่ม นั่นคือโอกาสที่ e-Commerce จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก

ผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในเวลานี้ นอกจากผู้บริโภคที่มีทางเลือกมากขึ้น มีสินค้าคุณภาพดีในราคาถูก ผู้ขายเองก็ได้ประโยชน์ เพราะการแข่งขันของ ผู้ให้บริการ Marketplace นั่นเอง แต่สุดท้ายยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์ไปแบบเต็มๆ

13405649_10153485942551020_1493194926_o

นั่นคือ Google และ Facebook ที่ได้รับเงินโฆษณาไปแบบมหาศาล มีการคาดการณ์จากสมาคมสื่อโฆษณาดิจิทัล หรือ DAAT พบว่าเม็ดเงินสื่อดิจิทัลประมาณ 10,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่รวบรวมจาก 21 เอเจนซี่ในไทยเท่านั้น ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังไม่ได้ถูกบันทก จึงคาดว่าจะมูลค่าแท้จริง 15,000 – 20,000 ล้านบาท และมากกว่า 50% เป็นเงินที่จ่ายให้กับ Google และ Facebook ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีได้ และสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก

หนุน e-Commerce ลุยตลาดนอก

เรากำลังขาดดุลการค้าออนไลน์ให้กับ Facebook และ Google แต่จะเลิกใช้ก็ไม่ได้ เพราะทั้ง 2 เป็นเครื่องมือออนไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้นทางออกคือ ต้องใช้งานอย่างคุ้มค่า นั่นคือ ต้องดึงเงินรายได้กลับเข้าประเทศด้วยการทำ e-Commerce ไปขายต่างประเทศ

13388957_10153485942286020_1420312867_o

จุดเริ่มต้นของผู้ประกอบการไทยคือ ต้องมีแบรนด์สินค้า และเว็บไซต์เป็นของตัวเอง จากนั้นต้องเข้าใช้บริการ Marketplace ที่มีความน่าเชื่อถือ และสามารถพาผู้ขายออกไปสู่ตลาดนอกประเทศ ต้องมีการวางกลยุทธ์ Social Media เพราะใช้งานง่าย ไม่เสียเงิน และเข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน Social Media เช่น Facebook ก็กำลังปรับตัวเข้าสู่โหมด Social Commerce แล้ว

สรุปว่า SME ต้องเพิ่มช่องทางการขาย ทั้งเว็บไซต์ Marketplace และ Social Commerce พร้อมกับทำการตลาดเชิงรุก เรียนรู้การทำตลาดออนไลน์ และบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบชำระเงิน e-Payment, ระบบรับเงินและส่งของ e-Fulfillment, ปรับเปลี่ยนวิธีกาทำงานใหม่ หาบุคลากรรุ่นใหม่ และตั้งเป้าหมายในการทำธุรกิจ

สุดท้ายคือ ต้องลงมือทำ ไม่ทำไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา