กระทรวงพาณิชย์ เผยการส่งออกไทยปี 2566 อยู่ที่ 284,561.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 1.0%YoY ส่วนเดือน ธ.ค. 66 ยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 4.65%YoY ขณะที่ปี 2567 นี้ตั้งเป้าหมายว่าการส่งออกไทยจะเติบโตที่ 1.99%YoY
กีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมทั้งปี 2566 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ 284,561.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 0.6%YoY โดยการนำเข้า มีมูลค่า 289,754.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.8%YoY ดุลการค้า ปี 2566 ขาดดุล 5,192.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ในรูปเงินบาท ปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 9,809,008 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.5%YoY การนำเข้า มีมูลค่า 10,111,934 ล้านบาท หดตัว 4.3%YoY ดุลการค้า ปี 2566 ขาดดุล 302,926 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2566
- การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 0.7%YoY
- การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 1.0%YoY
ขณะที่การส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค. 2566 มีมูลค่า 22,791.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 795,824 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 4.65%YoY (หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 2.1%YoY) ในเดือนธ.ค. มองว่าการส่งออกของไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนแต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการชะลอลงของภาวะเงินเฟ้อสูง ซึ่งส่งผลดีต่ออุปสงค์และความเชื่อมั่นในการบริโภคของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานโลก เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะต่อไป ทั้งนี้
ทั้งนี้ในเดือน ธ.ค. 2566 มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 21,818.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.1%YoY ดุลการค้าเกินดุลที่ 972.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาทเดือน ธ.ค. 2566 การส่งออก มีมูลค่า 795,824 ล้านบาท ขยายตัว 2.2%YoY เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 770,822 ล้านบาท หดตัว 5.3%YoY ดุลการค้า เกินดุล 25,002 ล้านบาท
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.2%YoY กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.0%YoY ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน
ในเดือน ธ.ค. 2566 การส่งออกไปตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว ตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ทยอยปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามการส่งออกไปบางตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวของภาคการผลิต และความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
1) ตลาดหลัก ขยายตัว 1.1%YoY พบว่า
- ตลาดที่ขยายตัว ได้แก่ ตลาดสหรัฐฯ 0.3%YoY, จีน 2.0%YoY, และอาเซียน (5) 18.0%YoY,
- ตลาดที่หดตัว ได้แก่ ตลาดญี่ปุ่น 3.7%YoY, สหภาพยุโรป (27) 5.3%YoY, และ CLMV 9.4%YoY,
2) ตลาดรอง ขยายตัว 7.5%YoY พบว่า
- ตลาดที่ขยายตัว ได้แก่ ตลาดเอเชียใต้ 7.0%YoY, ทวีปออสเตรเลีย 5.4%YoY, ลาตินอเมริกา 14.4%YoY, และรัสเซียและกลุ่ม CIS 50.4%YoY
- ตลาดที่หดตัว ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลาง 5.4%YoY, แอฟริกา 0.1%YoY, และสหราชอาณาจักร หดตัว 22.8%YoY
3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว 355.2%YoY เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 567.6%YoY
แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายการทำงานไว้ที่ขยายตัว 1.99% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่บรรเทาลง และการสิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักส่งผลดีต่อปริมาณการค้าโลกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากการสำรองสินค้าเกษตรและอาหารตามความมั่งคงทางอาหารและการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก
อย่างไรก็ดีมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและต้นทุนสินค้า ผลกระทบจากภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก และเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
ทั้งนี้ ในด้าน FTA ไทย-ศรีลังกา จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และคาดว่าจะลงนามความตกลงในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2567 คาดว่าจะเสนอ ต่อไป
ที่มา กระทรวงพาณิชย์, เดือน ธ.ค. 2566
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา