เปิด 6 คุณสมบัติของสตาร์ทอัพที่นักลงทุนกำลังมองหา และคำแนะนำในการระดมทุนที่น่าสนใจ

ชวนอ่านมุมมองจากนักลงทุนสิงคโปร์ที่มีต่อสตาร์ทอัพไทย ทั้งคุณสมบัติที่ต้องมีเพื่อดึงดูดแหล่งเงินทุน รวมถึงธุรกิจที่นักลงทุนอยากลงเงินด้วย และปิดท้ายกันที่คำแนะนำจากสตาร์ทอัพรุ่นเก่าแต่เก๋าประสบการณ์

Photo: Pixabay

6 คุณสมบัติที่สตาร์ทอัพต้องมี เพื่อดึงดูดนักลงทุน

เมื่อเย็นวันที่พุธ 26 กรกฎาคม ทีมงาน Dtac Accelerate ได้ชวนไปนั่งฟังนักลงทุนรายหนึ่งจากสิงคโปร์มาพูดในหัวข้อ “VC ต่างชาติมองหาอะไร? ในสตาร์ตอัพไทย” ถือเป็นหัวข้อที่น่าสนใจต่อจาก 2 สัปดาห์ที่แล้วที่ Bjorn Lee มาพูดถึงเคล็ดลับ 10 ข้อในการทำให้สตาร์ทอัพเติบโตอย่างรวดเร็ว 

สำหรับรอบนี้ นักลงทุนที่มาพูดคือ เจฟฟรี เพย์น (Jeffrey Paine) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุน Golden Gate Ventures ที่เน้นลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญได้ระดมทุนมาแล้วกว่า 50 ล้านเหรียญ และลงทุนในสตาร์ทอัพไทยไปแล้วกว่า 4 ล้านเหรียญ

เจฟฟรี เพย์น (Jeffrey Paine) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุน Golden Gate Ventures

จากการฟังเจฟฟรีพูดถึงสตาร์ทอัพไทย นี่คือ 6 คุณสมบัติที่เจฟฟรีบอกว่า นักลงทุนกำลังมองหา

  1. ทีมที่ดี ทีมที่นักลงทุนชอบคือ ทีมที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความดุดันในการทำธุรกิจ อีกอย่างที่สำคัญมากคือ ทีมที่พร้อมจะให้นักลงทุนช่วยสอน/ช่วยโค้ชในการทำธุรกิจ ไม่ใช่ทีมประเภทน้ำเต็มแก้ว หรือมีอีโก้สูง
  2. โอกาสในตลาด นักลงทุนจะมองหาสตาร์ทอัพที่เห็นแล้วรู้สึกว่าโตไว เมื่อมองมาในธุรกิจแล้วต้องเห็นเลยว่าเม็ดเงินของธุรกิจขึ้นอยู่กับอะไร คือเป็นกำไรหรือลูกค้า และมากกว่านั้นต้องดูขนาดของตลาดควบคู่ไปด้วย ถ้าคิดในสเกลเล็กๆ ก็จะไม่ถูกหมายตาเท่าไหร่
  3. การรักษาเอกลักษณ์ แม้ว่าธุรกิจของคุณนั้นจะไปได้สวย แต่ถ้านักลงทุนมองว่าเป็นธุรกิจที่ลอกได้ง่ายจากคู่แข่ง นักลงทุนก็จะเมินไปได้เหมือนกัน ข้อนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่สตาร์ทอัพต้องตระหนัก เพราะนอกจากจะขายความต่างแล้ว สิ่งสำคัญคือเอกลักษณ์ที่คู่แข่งหรือใครก็ต้องลอกเลียนแบบไม่ได้ง่ายๆ

    Photo: Pixabay
  4. กำไร/คุ้มทุน ข้อนี้สมเหตุสมผล นักลงทุนจะมองว่าเงินที่ลงกับธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณนั้น ถึงที่สุดแล้ว จะคุ้มทุนหรือไม่ คือจะดูว่าคุณต้องการเงินมากแค่ไหน กว่าที่จะคืนทุน เพราะนักลงทุนคงไม่เอาเงินมาให้คุณผลาญเล่นแน่ๆ
  5. มีคนเอาด้วย การลงทุนในสตาร์ทอัพของเล่านักลงทุน นอกจากจะพิจารณาตัวธุรกิจของสตาร์ทอัพแล้ว นักลงทุนจะดูด้วยว่า จะมนักลงทุนรายอื่นๆ เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพหรือธุรกิจตัวนี้หรือไม่ เพราะถ้าลงทุนไปเดี่ยวๆ โอกาสที่ไม่คุ้มทุนก็มีสูง อย่างตอนนี้ที่เงินทุนไหลไปอินโดนีเซียค่อนข้างมาก ทำให้นักลงทุนก็จะแก่ไปลงเงินกันที่นั่นกันมหาศาล
  6. ศักยภาพ ในส่วนนี้นักลงทุนจะดูว่า ท้ายที่สุดแล้ว คุณจะทำอะไรกับธุรกิจของตัวเอง เช่น จะขายให้กับบริษัทใหญ่ หรือจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ข้อนี้คุณก็ต้องตอบนักลงทุนให้ได้
Photo: Pixabay

สตาร์ทอัพไทยใกล้ชิดกันดี แต่ยังทะเยอะทะยานไม่พอ

เมื่อเจอนักลงทุนทั้งที คำถามประเภทที่ว่าอะไรคือข้อดี-ข้อเสียของสตาร์ทอัพในสายตานักลงทุน ถือเป็นคำถามที่ไม่ถามไม่ได้

เมื่อถามแล้ว เจฟฟรีก็ตอบแบบนี้ โดยเริ่มต้นจากจุดแข็งก่อน

  • สตาร์ทอัพไทยมีความใกล้ชิดกันสูงมาก มีอะไรแชร์กันตลอด แถมยังมีการช่วยเหลือกันระหว่างทีม บริษัทใหญ่ๆ ในไทยหลายรายก็ลงมาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะสายธนาคาร อสังหาฯ หรือสายบริการเครือข่ายต่างๆ เรียกว่าครบครัน ถือว่าต่างจากหลายประเทศ เพราะที่อื่นจะไม่ค่อยมีเรื่องแบบนี้สักเท่าไหร่

ส่วนจุดอ่อนที่น่าเป็นห่วงของสตาร์ทอัพไทยคือ

  • ความทะเยอะทะยานที่ยังมีไม่พอ เจฟฟรีมองว่าน่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม แต่ก็บอกว่าอยากให้มีมากกว่านี้ พร้อมทั้งแนะนำว่าให้ออกไปเจอโลกภายนอกบ้าง จะทำให้หูตากว้างไกล ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของภาษาอังกฤษ แม้ว่าในทุกวันนี้จะดีขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ถ้าได้ภาษาก็จะทำให้ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจไปได้มาก

นอกจากนั้น เจฟฟรี ยังเล่าให้ฟังถึงเทรนด์ในโลกธุรกิจด้วยว่า ธุรกิจที่น่าลงทุนในวันนี้ไม่เหมือนในอดีตแล้ว ในอดีตที่ว่านี้แม้ว่าจะไม่นาน แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไวมาก อย่างในอดีตนักลงทุนจะสนใจกับเรื่องโทรศัพท์หรือฟินเทค แต่ ณ วันนี้ ธุรกิจที่นักลงทุนสนใจคือ “สุขภาพ การศึกษา และสื่อบันเทิง”

คำแนะนำถึงสตาร์ทอัพไทยหน้าใหม่

ในงานเรายังได้เจอกับ “แจ็ค-กิตตินันท์ อนุพันธ์” CEO บริษัท Anywhere to go ผู้พัฒนา Claim di สตาร์ทอัพประกันภัยรถยนต์

“แจ็ค-กิตตินันท์ อนุพันธ์” CEO บริษัท Anywhere to go ผู้พัฒนา Claim di สตาร์ทอัพประกันภัยรถยนต์

สตาร์ทอัพหน้าเก่าคนนี้เล่าถึงอุปสรรคของสตาร์ทอัพไทยว่า กฎหมายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักลงทุนไม่อยากมาลงทุนกับบริษัทที่จดทะเบียนในไทย (เลยออกไปจดทะเบียนนอกประเทศกัน) เพราะมีปัญหาเชิงเทคนิคสูง เช่น การเปลี่ยนหุ้นเป็นหุ้นสามัญ การแปลงเงินกู้เป็นเงินทุน การเสียภาษีในกรณีซื้อขายบริษัท (Capital gain) ที่สูงถึง 35% หรือพูดง่ายๆ คือ ถ้าสตาร์ทอัพไทยทำได้อย่างที่บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ทำได้ จะส่งผลดีต่อภาพรวมของสตาร์ทอัพไทยอย่างแน่นอน เพราะตามกฎหมายเดิมที่ใช้นี้จะไม่จูงใจให้ Founder ทำงานกันอย่างเต็มที่นั่นเอง

ส่วนสุดท้ายได้ฝากไว้ว่า ถ้าอยากได้เงินลงทุน สตาร์ทอัพไทยหน้าใหม่ต้องทำ 3 ข้อนี้

  1. Evaluation การประเมินตัวเองสำคัญมาก เพราะเมื่อนักลงทุนสนใจในธุรกิจของคุณแล้ว อย่าประเมินตัวเองสูงเกินไป ในช่วงแรกคุณยังไม่มียอด ไม่มีตัวชี้วัด ดังนั้นอย่าประเมินตัวเองสูงเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาในการต่อรองและระดมทุนจากนักลงทุน
  2. Growth การเติบโตของคุณต้องวัดผลได้ เห็นได้ชัดเจน ข้อนี้หลักการง่ายๆ คือ ทำให้เห็นว่าธุรกิจของคุณโตได้จริง เพียงแค่นี้นักลงทุนที่ไหนก็ชอบ
  3. Visible ถ้าทำธุรกิจแล้ว อย่าทำเงียบๆ CEO เป็นคนที่สำคัญมาก อย่ามัวทำงานแต่เบื้องหลัง เพราะจะไม่มีคนรู้จัก ตอนไปขอทุน เขาไม่รู้จัก โอกาสที่จะได้เงินก็ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าต้องไปเสนอหน้าทุกงาน แต่คุณต้องออกงานบ้าง และไปพัฒนาตัวเองตลอด เพื่อให้รู้ว่าธุรกิจในที่อื่นเขาทำอะไรกัน และแน่นอนเพื่อให้รู้ด้วยว่าธุรกิจที่คุณทำอยู่นั้น ในประเทศอื่นเขาทำกันไปถึงไหนแล้ว

หลังจากนี้ตลาดสตาร์ทอัพไทยน่าจะโตขึ้นอีกมาก เพราะเงินทุนจะไหลมาจากนักลงทุนมากขึ้น อย่างเช่นจีนที่จะมาแน่ แต่นั่นหมายความว่าจะมีผู้เล่นในตลาดนี้เยอะขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่พิเศษจริงๆ ก็อยู่ยากในวงการนี้

It’s easy to start the business but it’s hard to go the business…

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา