พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือน ธ.ค. 2566 เท่ากับ 106.96 เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.86 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.83%YoY ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล รวมทั้งเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ราคาลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผักสดราคาลดลงค่อนข้างมาก สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกสูงขึ้น 0.58%YoY
ขณะที่เมื่อเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือน พ.ย. 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ลดลง 0.44% ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย) สอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว
ทั้งนี้ เดือน ธ.ค. ปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.83%YoY มาจากหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.00% ตามการลดลงของราคาสินค้าในหมวดเคหสถาน หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารจากการลดลงของราคาน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 และค่าโดยสารรถไฟฟ้า นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลบางรายการราคาปรับลดลง
สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ แป้งทาผิวกาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องถวายพระ บุหรี่ สุรา และเบียร์ ส่วนหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.63% ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ, ผักสด, และเครื่องประกอบอาหาร
สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว ผลไม้สด รวมทั้งกาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ธ.ค. 2566 ลดลง 0.46%MoM เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2566 โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.51% ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักสดและผลไม้
ขณะที่ทั้งปี 2566 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยสูงขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 1.23% AoA และเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 1.0 – 1.7% (ค่ากลาง 1.35%) โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอาหารสด ทั้งข้าวสาร ไข่ไก่ ผักและผลไม้ จากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2565 และพืชผักบางชนิดเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวดี มีส่วนทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด ปรับสูงขึ้น
นอกจากนี้อาหารสำเร็จรูปมีการปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาวัตถุดิบรวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าที่ราคายังอยู่ระดับสูงกว่าปี 2565 อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร และน้ำมันพืช ตามอุปทานที่เพิ่มมากขึ้น และน้ำมันเชื้อเพลิง จากมาตรการของภาครัฐและสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. มีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่
1) มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย
2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม
3) ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มลดลง
4) มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่าง (-0.3) – 1.7% (ค่ากลาง 0.7%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
ที่มา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา