ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น 4 แบรนด์ ประกอบด้วย Toyota, Honda, Isuzu และ Mitsubishi ประกาศลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยรวมมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท คาดอีก 2-3 ปี ได้เห็นรถกระบะไฟฟ้าก่อน ด้านค่ายจีนหากรวมยี่ห้อที่มียอดจองติด 10 อันดับแรกในงาน Motor Expo จะมีการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าราว 50,000 ล้านบาท
ญี่ปุ่นประกาศลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในไทย 1.5 แสนล้านบาท
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีวิสัยทัศน์ และนโยบายให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย-ญี่ปุ่น เช่น ร่วมกันเพื่อสนับสนุนเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องสันดาป เป็นรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงให้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน
นายกรัฐมนตรีได้หารือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 7 ราย ในการประชุม ASEAN-Japan วันที่ 14-18 ธ.ค. 2023 ซึ่งจากการหารือดังกล่าว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้ข้อสรุปว่า ภายใน 5 ปี จะมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 4 รายที่พร้อมขยายการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยประกอบด้วย
- Toyota 50,000 ล้านบาท
- Honda 50,000 ล้านบาท
- Isuzu 30,000 ล้านบาท
- Mitsubishi 20,000 ล้านบาท
รวมทั้งหมด 1.5 แสนล้านบาท โดยบางบริษัทให้ความเห็นว่า จะเริ่มดำเนินการผลิตรถกระบะไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นทั้ง 7 ราย ยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทย
ทั้งนี้กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นยังได้นำเสนอโมเดลของการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถเชิงพาณิชย์ ซึ่งไทยพร้อมส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนให้กับผู้ลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น โดยจะดำเนินการออกมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น
- ปิดฉาก Motor Expo 2023 จองสะพัด 53,248 คัน ค่ายญี่ปุ่นติด 2 อันดับแรก ค่ายจีนขายรถไฟฟ้ากระฉูด
- สรรพสามิตรับลูกครม. เตรียมพร้อมมาตรการ EV3.5 อุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าปี 2567-2570
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากนับแบรนด์รถยนต์จากประเทศจีนที่มียอดจองติด 10 อันดับแรกในงาน Motor Expo 2023 จะพบว่า มี 5 แบรนด์ประกอบด้วย BYD, Aion, MG, Changan และ Great Wall Motor โดยทั้ง 5 แบรนด์มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราว 50,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
- BYD ลงทุนราว 17,900 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เริ่มผลิตได้ในปี 2024 กำลังการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้า 1.5 แสนคัน/ปีเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียน และยุโรป
- Aion ลงทุนราว 2,300 ล้านบาท ตั้งโรงงานในพื้นที่ EEC จังหวัดระยอง เพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียน แบ่งโครงการเป็น 2 เฟส โครงการเฟสแรกจะแล้วเสร็จสิ้นภายในปี 2024 มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใน 50,000 คัน/ปี
- Changan ลงทุนในเฟสแรกมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคัน/ปี โดยจะจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ แอฟริกาใต้ และตลาดอื่น ๆ
- MG มีการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่เฟสแรก 500 ล้านบาท ในพื้นที่โรงงานที่ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม WHA ESIE 2 จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่กว่า 437.5 ไร่ มีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 100,000 คันต่อปี
- Great Wall Motor มีการลงทุน 22,600 ล้านบาท เพื่อซื้อโรงงานจาก GM ที่จังหวัดระยองเมื่อปี 2020 เพื่อใช้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา