กีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ย. 2566 มีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (847,486 ล้านบาท) เติบโต 4.9% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 (หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.0%) โดยการนำเข้ามีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.1% ส่วนดุลการค้าขาดดุล 2,399.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่การส่งออกไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเพราะช่วงที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลังจากภาวะเงินเฟ้อสูงเริ่มชะลอลงและมีแนวโน้มกลับสู่ระดับเป้าหมายในปีหน้า โดยหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณการจบรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น
อีกทั้งในเดือน พ.ย. 2566 การส่งออกรายสินค้าในภาพรวมขยายตัวทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัว 4.9%YoY มากกว่าหมวดอื่นๆ (แต่ในภาพรวม 11 เดือนปี 66 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 0.5%) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโต 3.4% YoY ถือว่าโตต่อเนื่องตามวัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และมีปัจจัยบวกจากการจับจ่ายใช้สอยก่อนเข้าสู่เทศกาลสำคัญในช่วงท้ายปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายประเทศเร่งนำเข้าสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ (ในภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 1.5%)
ในเดือน พ.ย. 2566 นี้หมวดสินค้าเกษตรมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่
- ข้าว ขยายตัว 67.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน
- ยางพารา ขยายตัว 14.5% กลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือน
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 2.5% กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน
- อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 3.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน
- ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 5.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน
- สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัว 21.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน
- ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัว 26.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน
- ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 29.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน
- กุ้งต้มสุกแช่เย็น ขยายตัว 140.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน
ในเดือน พ.ย. 2566 นี้หมวดสินค้าเกษตรมีสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 12.8% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน
- ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 26.9% กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน
- น้ำตาลทราย หดตัว 9.8% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน
- ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัว 47.1% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน
ในเดือน พ.ย. 2566 นี้หมวดสินค้าอุตสาหกรรม มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 10.3% กลับมาขยายตัวในรอบ 14 เดือน
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 15.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน
- เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 42.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน
- เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 19.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน
- อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัว 40.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน
- หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัว 24.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 25 เดือน
ในเดือน พ.ย. 2566 นี้หมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว เช่น
- รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 9.7% กลับมาหดตัวในรอบ 11 เดือน
- แผงวงจรไฟฟ้า หดตัว 6.6% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน
- เม็ดพลาสติก หดตัว 10.7% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า
- เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัว 26.1% หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน
ในเดือน พ.ย. 2566 การส่งออกไปตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาดขยายตัว ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่บางตลาดยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ตลาดหลักที่เติบโต ได้แก่ ตลาดสหรัฐฯ (+17.5%), ญี่ปุ่น (+4.3%), และอาเซียน (+12.9%) ส่วนตลาดหลักที่หดตัวได้แก่ ตลาดจีน (-3.9%), สหภาพยุโรป(-5.0%), CLMV (-7.6%)
ทั้งนี้ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2566
- การส่งออก มีมูลค่า 261,770.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (หรือคิดเป็นมูลค่าเงินบาทราว 847,486 ล้านบาท หดตัว 0.2%)
กรณีไม่รวมสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 0.5% - การนำเข้า มีมูลค่า 267,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.8% (หรือคิดเป็นมูลค่าเงินบาทราว 944,873 ล้านบาท ขยายตัว 4.8%)
- โดยรวมดุลการค้า ขาดดุล 6,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในรูปเงินบาทขาดดุล 327,928 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 จะหดตัวไม่เกิน 1.5% ซึ่งอาจหดตัวที่ 0.8% ภายใต้กรอบมูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค. ที่ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากการส่งออกไทยปี 2566 จะพลิกไม่ติดลบ (ที่ระดับ 0%) ได้มีปัจัยหลักคือภายในเดือน ธ.ค. 2566 จะต้องมีมูลค่าการส่งออกที่ 25,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป จากระดับปกติที่เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ราว 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 10 ล้านล้านบาท เติบโต 1.99% ซึ่งปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมา
ที่มา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา