ผีไทยตีตลาดโลก! ส่องโอกาสการประยุกต์ผีไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ดึงเงินเข้าประเทศด้วยดิจิทัลคอนเทนต์

ซอฟต์พาวเวอร์ คือหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ผ่านการสนับสนุนวัฒนธรรมไทย หรือส่งออกความเป็นไทยไปสู่สายตาต่างชาติ เพื่อใช้สิ่งเหล่านั้นมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันที่เริ่มถูกส่งออกไปยังต่างประเทศแล้ว หนึ่งในนั้นคือ ผีไทย

อ่านไม่ผิดแน่นอน เพราะ ผีไทย ถูกส่งออกไปในนามของเกม Home Sweet Home และกำลังจะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีหลายสตูดิโอนำผีไทยไปทำเป็นตัวละครต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเป็นเกม หรือแอนิเมชัน โดยมีเป้าหมายดึงเงินเข้าสู่ประเทศเช่นกัน

โอกาสของผีไทยในการถูกพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นอย่างไร และความท้าทายในการพัฒนาผีไทยที่มีความเป็นท้องถิ่นค่อนข้างสูงจะมีมากแค่ไหน ลองมาหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ผ่านเวทีเสวนา ผีอาเซียน ทุนทางวัฒนธรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไปด้วยกันดังนี้

ซอฟต์พาวเวอร์

ผีไทย กับการต่อยอดในมุมซอฟต์พาวเวอร์

ธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อิ๊กดราซิล กรุ๊ป ผู้พัฒนา Home Sweet Home หนึ่งในเกมผีไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก เล่าให้ฟังว่า รากฐาน หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นคือสิ่งที่สามารถต่อยอดในมุมการผลิตเนื้อหาได้ เพราะมีความแตกต่างเฉพาะตัว ซึ่งผีไทยคือหนึ่งในนั้น เพราะมีความหลากหลาย และมีความเป็นท้องถิ่นอยู่เต็มที่

“ถ้าจะส่งผีไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เราก็ต้องศึกษาให้ลึกในตัวผีนั้น ๆ เพื่อหยิบขึ้นมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่กับการใส่ความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และแนวทางการทำตลาดที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งหากทำได้ การส่งออกผีไทยไปในระดับโลกก็ไม่ใช่เรื่องยาก”

หากจะส่งออกผีไทยไปในระดับโลก การผสานระหว่างความเป็นท้องถิ่น และความเป็นสากลคืออีกเรื่องจำเป็น โดยช่วงแรกแนะนำให้ใส่ความเป็นไทยเป็นเล็กน้อย และหลังจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนถึงจุดเหมาะสม เพราะการทำแบบนี้จะช่วยให้ชาวต่างชาติเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย ไม่ต้องสับสนในเรื่องความเป็นไทยมากเกินไป

ซอฟต์พาวเวอร์
ธนัช จุวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อิ๊กดราซิล กรุ๊ป

ผีไทยไม่ใช่แค่เกม แต่คือทรัพย์สินทางปัญญา

ขณะเดียวกัน การพัฒนา หรือประยุกต์ผีไทยที่มีหลากหลายตนให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ การส่งออกนั้นไม่จำเป็นต้องทำแค่เกมเหมือนที่บริษัททำ Home Sweet Home แต่คือการต่อยอดออกมาจนเป็นทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IP ที่สามารถปรับใช้กับงาน หรือเนื้อหาต่าง ๆ ได้

“เมื่อมีคนชอบตัวละครผีที่เราพัฒนาขึ้น มันสามารถต่อยอดเป็นแอนิเมชัน หรือสินค้าต่าง ๆ ได้ อยู่ที่ว่าเราจะต่อยอดไปอย่างไร และจะใช้ IP นั้นสร้างรายได้ให้กับเราได้อย่างไรมากกว่า ซึ่งจุดนี้ก็ต้องมีการวางแผน และการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่นกัน”

ปัจจุบัน บมจ. อิ๊กดราซิล กรุ๊ป สามารถนำผีไทยต่อยอดจนกลายเป็น IP ผ่านการผลิตเกม Home Sweet Home ที่เริ่มจากเกมเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับผีไทย สู่เกมออนไลน์แนวเอาตัวรอด และปัจจุบันอยู่ระหว่างถูกพัฒนาเป็นภาพยนตร์โดยทีมงานฮอลลีวูด มี ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์ เป็นหนึ่งในนักแสดงนำ

ซอฟต์พาวเวอร์
กฤษณ์ ณ ลำเลียง นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่น และคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย

ผีไทยหลากหลายในการต่อยอดกว่าชาติอื่น

ด้าน กฤษณ์ ณ ลำเลียง นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่น และคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย เสริมว่า หากจะผลักดันผีไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ โอกาสในการทำเรื่องผีนั้นง่ายกว่าผีในต่างประเทศ เพราะมีความหลากหลายกว่าผีในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกที่มักจะวนกับผีซอมบี้เป็นหลัก

“ไม่มีชาติไหนไม่มีเรื่องผี ดังนั้นอยู่ที่ว่าใครจะหยิบจับเรื่องผีมาต่อยอดเป็นเนื้อหา และซอฟต์พาวเวอร์ได้เก่งกว่ากัน แต่ด้วยผีไทยนั้นมีความหลากหลาย มันย่อมง่ายกว่า และอยากให้ดูตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นที่เขาประยุกต์ผีท้องถิ่นต่าง ๆ จนกลายเป็นตัวละครที่หลายคนจดจำ และนำมาต่อยอดในเชิงการท่องเที่ยวได้”

ดังนั้นการนำผีไทยมาทำเป็นซอฟต์พาวเวอร์จึงอาจเหลือแค่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้พัฒนา และการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาคส่วนต่าง ๆ หากให้แนะนำการผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับผีอาจทำได้สองแนวทางคือ การทำผีสำหรับเด็กที่สามารถต่อยอดในมุมสินค้าขนม หรืออื่น ๆ กับผีสำหรับวัยรุ่น หรือวัยทำงาน ที่ล้อไปกับการใช้ชีวิตยุคใหม่

ซอฟต์พาวเวอร์
ณัฐพร กาญจนภูมิ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

เริ่มต้นทำความเข้าใจตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย

ปิดท้ายที่ ณัฐพร กาญจนภูมิ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่า การยกระดับมุมมอง และความเข้าใจในเรื่องการนำเนื้อหาความเป็นไทย เช่น ผีไทย มาต่อยอดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย เพราะจะช่วยสร้างพื้นฐานให้คนในอุตสาหกรรมนี้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“เราอยากปูพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจให้นักศึกษาตั้งแต่เริ่มเข้ามาเรียน เพื่อให้พวกเขาเป็นส่วนสำคัญในการผลิตเนื้อหาต่าง ๆ ออกมาจนเข้าถึงในระดับโลกได้ ยิ่งเรื่องผีไทย ส่วนตัวเชื่อว่าคนทั่วโลกมีจุดเชื่อมโยงกัน และไม่ต้องกังวลว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจ หรือชื่นชอบในผีไทย เพียงแค่ขอให้รับรู้ หรือลองชม ลองเล่น”

ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยศิลปากรได้เดินหน้า โครงการ Mythophobia เพื่อศึกษาเรื่องผีใน 8 ประเทศอาเซียน คือ  ไทย ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพื่อนำไปสู่การออกแบบในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น การสร้าง ASEAN Ghost Metaverse และสามารถนำผีไทยออกไปเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้จริง

อ้างอิง // โครงการ Mythophobia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา