จะดีแค่ไหน ถ้าเราตรวจเลือดได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ไม่นานมานี้มีทีมนักศึกษาที่คิดค้น “ที่ตรวจเลือดพกพา“ ย่อห้องแล็บมาอยู่ในกล่องเล็กๆ ส่งข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม IoT ผสานวงการไอทีกับสุขภาพ เบื้องต้นวัดค่าตับไตได้ โดยอุปกรณ์ยังเป็นตัวต้นแบบได้รับการสนับสนุนจาก G-ABLE เพื่อต่อยอดไปสู่นวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง
ผสานวงการไอทีกับสุขภาพ ด้วย “ที่ตรวจเลือดพกพา” บนแพลตฟอร์ม IoT
IoT หรือ Internet of Things ได้รับการพูดถึงอย่างมาก ซึ่งก็คือการเชื่อมโยงทุกสิ่งอย่างเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ทีม WELSE นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมกันคิดค้นอุปกรณ์ IoT แบบพกพาเพื่อทดสอบเชิงคลินิกของเลือด หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ที่ตรวจเลือดพกพา”
ถือเป็นการผสมผสานศาสตร์ของไอทีเข้ากับเรื่องสุขภาพ ทีม WELSE เล่าให้ฟังว่า “ปัญหามาจากการที่ทุกวันนี้มีคนเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อถึง 40 ล้านคนต่อปี ประกอบกับทรัพยากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของการคิดค้นเครื่องตรวจโรคที่ใช้งานง่าย นอกจากต้องให้ผลที่ตรงและส่งไปถึงแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญได้ด้วยเทคโนโลยี เพื่อทำให้การได้รับบริการทางการแพทย์ของคนทุกคนมีความเท่าเทียมมากขึ้น“
ที่ตรวจเลือดพกพา ทำงานอย่างไร?
โดยหลักการเครื่องนี้จะทำงานแบบ Lab on a chip หรือย่อห้องแล็บมาอยู่ในแผ่นชิป มีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า 1% และแปรปรวนต่ำกว่า 0.5%
– เพียงหยดเลือดใส่บนแผ่นพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หลังจากนั้นนำเข้าเครื่อง เพียง 3 นาที จะรู้ผลการตรวจ
– ผลที่ได้จะส่งขึ้นแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เราตั้งค่าไว้ เช่น แอพพลิเคชั่น โดยการการแสดงผลจะเป็น Dashboard ที่ออกแบบมาให้เข้าใจง่าย แม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็สามารถอ่านค่าได้
– ส่วนข้อมูลที่ได้มาจะส่งไปให้เพื่อน ครอบครัว หรือแพทย์ดูก็ได้
– ข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นจะถูกส่งขึ้นไปเก็บยัง Cloud
– เครื่องนี้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์วัดค่าตัวอื่นๆ ในตลาดได้
ในจุดเริ่มต้นนี้ที่ตรวจเลือดพกพาของ WELSE ยังคงตรวจหาได้เฉพาะค่าตับและค่าไตเท่านั้น แต่หากอุปกรณ์นี้ออกสู่ท้องตลาดจะลดค่าใช้จ่ายและกระจายบริการสาธารณสุขไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศได้ เพราะการเดินทางโรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือดตรวจจะตกที่ครั้งหนึ่งตกอยู่ที่ 150 บาท ต่อ 1 sample แต่อุปกรณ์ของ WELSE บอกว่า สามารถลดต้นทุนให้เหลือเพียง 30 บาทต่อ 1 sample และสามารถวัดหาค่าตับและค่าไตได้
แม้ว่าในปัจจุบัน ระบบการตรวจเลือดของทีม WELSE ยังอยู่ในขั้นต้นแบบ (prototype) หมายความว่า ยังไม่สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ แต่ในขณะนี้มีอย่างน้อย 2 บริษัทที่เข้ามาให้การสนับสนุนแล้ว
G-ABLE หนุนเต็มที่กับซอฟต์แวร์ อยากให้เกิดขึ้นจริงในโลกธุรกิจ
ศิษฏพงศ์ เศรษฐภัทร Head of Big Data Management & Advance Analytics กลุ่มบริษัท G-ABLE เล่าให้ฟังว่า ได้เห็นพัฒนาการของทีม WELSE มาโดยตลอด ได้ให้คำปรึกษามาตั้งแต่ตอนที่น้องๆ มาฝึกงานที่บริษัท สำหรับอุปกรณ์ตัวนี้มีการใช้ระบบไอทีและดิจิทัลร่วมด้วย ตั้งแต่ระบบ IoT ส่วนการเชื่อมต่ออุปกรณ์การแพทย์ ทั้งการส่งต่อข้อมูล เก็บตัวอย่าง และวิเคราะห์ผล แถมยังต้องผสานการใช้ Big Data และส่งข้อมูลขึ้น Cloud แน่นอนว่า G-ABLE จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในส่วนนี้ได้อย่างเต็มที่
“ที่จริงแล้ว การพัฒนาระบบ IoT ยังสามารถต่อยอดไปในด้านอื่นๆ ได้อีก เช่น จัดการเรื่อง Big Data ภาคการผลิต สร้างระบบ Warehouse ที่จัดการของในคลังสินค้าอย่างแม่นยำ และส่งขึ้น Cloud ได้ ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงจากการใช้คนในภาคการผลิตไปได้อีกด้วย“
นอกจากนั้น ด้านฮาร์ดแวร์ยังได้ SCG เข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย โดย วรินทร วิโรจนกูฎ Business Analyst บริษัท เอสซีจี เพอร์ฟอร์มานซ์ เคมิคอลส์ จำกัด บอกว่า อุปกรณ์ตรวจเลือดพกพาของทีม WELSE นั้น ทาง SCG จะเข้ามาช่วยผลิตแผ่นชิพพลาสติก เพราะ SCG เองก็เคยผลิตวัสดุที่นำไปใช้กับเครื่องมือทางการแพทย์มาก่อนหน้าแล้ว
ถือเป็นการร่วมมือกันของ 2 บริษัททางด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่จะมาเสริมให้ทีม WELSE เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น
ลดเวลาไปหาหมอ ตรวจเลือดด้วยตัวเอง ส่งผลไปโรงพยาบาลได้โดยตรง
ในอนาคตหากอุปกรณ์ตรวจเลือดพกพาตัวนี้มาอยู่ในรูปของธุรกิจ จะลดต้นทุนในการตรวจเลือดเบื้องต้นไปได้มาก จากหลักร้อยมาสู่หลักสิบ และยังเป็นโมเดล “ผู้ประกอบการทางสังคม“ มากกว่าที่จะเป็นโมเดลธุรกิจที่เน้นทำกำไรในตลาด
สำหรับตัวสินค้า ทีม WELSE ได้คำนวณไว้ว่า ตัวเครื่องผลิตภัณฑ์จะอยู่ที่ 2,500 บาท ส่วนพลาสติกที่ใช้หยดเลือดเข้าตรวจอยู่ที่แผ่นละ 30 บาท ซึ่งการใช้แต่ละครั้งคือค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแผ่นพลาสติก ดังนั้น การตรวจเลือดครั้งหนึ่งจะตกอยู่ที่ 30 บาทเท่านั้น (แถมไม่ต้องไปโรงพยาบาลอีกด้วย) ส่วนในขณะนี้ได้รับความร่วมมือให้นำ “ที่ตรวจเลือดพกพา” ไปทดลองใช้กับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และจะนำเข้าไปลงพื้นที่จริงในอีกหลายอำเภอ
นอกจากนี้ WELSE เป็นทีมที่ชนะเลิศในการแข่งขัน Imagine Cup Thailand ประจำปี 2017 และได้ไปแข่งที่ฟิลิปปินส์จนผ่านเข้ารอบต่อไป ขณะนี้กำลังเตรียมตัวไปแข่งรอบชิงชนะเลิศ ณ กรุงซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ส่งใจกำลังใจไปช่วยเชียร์กันได้
สรุป
การคิดค้น “ที่ตรวจเลือดพกพา” ของทีม WELSE เป็นหนึ่งในการผสมสานเรื่องไอทีเข้ากับเรื่องสุขภาพทางการแพทย์ อย่างการตรวจเลือดที่ในอนาคตอาจไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาล เป็นการลดค่าใช้จ่าย และกระจายทรัพยากรทางการแพทย์ให้เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก นับเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการแพทย์
การได้รับการสนับสนุนจาก G-ABLE กับ SCG เป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งในด้านเทคนิค เงินทุน และเทคโนโลยี เพื่อทำให้เกิดการรับรู้ และผลักดันให้เกิดการใช้งานจริง สร้างประโยชน์ที่แท้จริงสู่สังคม
เกี่ยวกับ G-ABLE
G-ABLE คือบริษัทผู้พัฒนา, ติดตั้งจนถึงให้บริการด้านระบบ IT และ Digital ในไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำระดับโลกในด้าน modern digital solutions, enterprise business solutions และ IT infrastructure solutions โดยมีกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำในภาคเอกชนและรัฐบาล
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา