ยิ่งไม่ชอบ ยิ่งอยากรู้: สำรวจจิตวิทยาการส่องคนที่เกลียด จัดการตัวเองยังไงถ้าตามติดชีวิตคนอื่นเกินไป

ตั้งแต่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยสำคัญ ชีวิตของแต่ละคนก็ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป เพราะใครก็ติดตามชีวิตกันได้บนโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะชีวิตของคนเราไม่ชอบที่ยิ่งเกลียดเท่าไรก็ยิ่งดูน่าสนใจ 

บางครั้งหลายคนอาจพบว่าตัวเองส่งโพสต์ของคนที่ไม่ชอบไปให้เพื่อนสนิทดูหรือเข้าไปส่องคนที่รู้สึกไม่ถูกชะตาอยู่บ่อย ๆ อะไรเป็นสาเหตุให้อยากติดตามชีวิตคนที่ไม่ค่อยชอบสักเท่าไร?

ยิ่งไม่ชอบคนไหน ยิ่งอยากรู้เรื่องคนนั้น

นิสัยชื่นอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสิ่งรอบตัวโดยเฉพาะเรื่องคนอื่นเป็นธรรมชาติของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะกับคนที่ชื่นชอบหรือคนที่เกลียด เพราะการทำงานของสมองที่ทำให้รู้สึกพึงพอใจหลังจากได้รับรู้สิ่งต่าง ๆ 

ปกติแล้ว คนเราจะไม่ชอบคนที่รู้สึกว่าทำตัวผิดกับธรรมเนียมของสังคม และเหตุผลที่ทำให้สนใจในตัวคนนั้นก็เป็นเพราะอยากรู้ว่าเขาคนนั้นสามารถทำตัวให้แตกต่างกับสังคมได้ยังไงแล้วทำไมถึงต้องทำแบบนั้น 

การตามส่องคนที่รู้สึกไม่ชอบหน้าบนโซเชียลมีเดียไม่ได้ร้ายแรงเหมือนกับการก่ออาชญกรรมหรือการทำร้ายร่างกายและจิตใจ แต่การตามส่องอยู่เรื่อย ๆ อาจทำให้ติดอยู่ในกับดักการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนบนโซเชียลมีเดียได้ รวมถึงบางครั้งสิ่งที่เห็นบนโซเชียลก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ตรงตามความจริงเสมอไป

Georgina Sturmer ที่ปรึกษาเกี่ยวกับภาวะเสพติดสิ่งต่าง ๆ อธิบายว่า คนเราจะไม่ค่อยสนใจผลของการตามส่องคนบนโซเชียลมีเดียเพราะเป็นเรื่องที่หลบซ่อนได้ง่าย ไม่มีใครรู้ แตกต่างจากปัญหาอื่นอย่างการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การเสพติดการช็อปปิ้งที่คนอื่นเห็นได้ชัด แต่การที่ตามส่องได้โดยไม่มีใครรู้ยิ่งจะทำให้เข้าไปติดกับดักได้ง่ายกว่าเดิม

การติดตามชีวิตของคนที่ไม่ชอบอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งที่อาจทำให้เราจมดิ่งอยู่คนเดียว แล้วยังทำให้เกิดความรู้สึกละอายใจได้ด้วยว่าทำไมตัวเองถึงต้องลงทุนลงแรงกับการติดตามชีวิตคนอื่นขนาดนี้และนำไปสู่อารมณ์ความรู้สึกที่ขัดแย้งกันเองภายในใจ เหตุผลเหล่านี้เป็นคำตอบว่าทำไมการตามส่องชีวิตคนที่ไม่ชอบก็เป็นปัญหาที่ควรต้องแก้ไข

เลิกตามติดชีวิตคนอื่นยังไงดี?

ยอมรับว่าส่อง แล้วพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรม

Georgina Sturmer บอกว่า การตามส่องคนที่ไม่ชอบก็เหมือนพฤติกรรมการเสพติดชนิดอื่น ๆ ที่มาจากความต้องการบางอย่างที่ไม่ได้ถูกเติมเต็ม เช่น อาจจะเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือเบื่อหน่ายไม่รู้ตัวที่ทำให้หมกมุ่นในโลกออนไลน์ได้ง่าย หรืออาจเพราะต้องการเห็นคนที่เราไม่ชอบได้รับบทลงโทษหรือบทเรียนจากการที่เคยทำร้ายเรามาก่อนในอดีต

Jaimie Krems นักจิตวิทยาด้านสังคมและศาสตราจารย์ที่ Jaimie Krems แนะนำว่า ควรพยายามหาเหตุผลที่ต้องตามส่องคน ๆ นั้น ให้ได้ด้วยการถามและตอบคำถามตัวเองด้วยคำถามอย่างเช่น 

เราคาดหวังอะไรจากการไปส่อง
การเข้าไปส่องเป็นการทรมานตัวเองหรือเปล่า
กำลังรู้สึกอะไรอยู่ โดดเดี่ยว โกรธ หรืออิจฉา
อยากรู้ว่าคนนั้นจะเป็นยังไงบ้างโดยที่ไม่มีเราอยู่หรือเปล่า

นอกจากนี้ ลองคิดว่าก่อนหน้านี้ โซเชียลมีเดียมีบทบาทต่อความสัมพันธ์กับคนนั้นอย่างไรบ้าง อาจจะเพราะเห็นกันบนหน้าไทม์ไลน์อยู่บ่อย ๆ เลยทำให้ตอนนี้ต้องกดเข้าไปดูโปรไฟล์ของคนนั้นอยู่เป็นประจำ

ส่องแบบมีสติ

เวลาที่ความสัมพันธ์จบลง เรามักถูกบอกว่าให้กดเลิกติดตามหรือแม้แต่บล็อคคนนั้นบนโซเชียลมีเดียทุกทาง แต่สำหรับบางคนที่รู้สึกว่ายากที่จะตัดขาดคนคนนั้นออกอย่างสมบูรณ์ การสังเกตพฤติกรรมการตามส่องของตัวเองและพยายามส่องให้น้อยลงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ยกตัวอย่างเมื่อจบความสัมพันธ์กับคนรัก ที่หลายคนยังเข้าไปตามติดชีวิตแฟนเก่าว่าเป็นยังไงบ้าง มีแฟนใหม่แล้วหรือยัง คบกับแฟนใหม่ไปได้ดีไหม 

การรู้ตัวว่าเมื่อไรที่ตัวเราต้องการเข้าไปตามติดชีวิตและอะไรทำให้รู้สึกว่าต้องเข้าไปดูก็สำคัญ ต้องคอยสังเกตว่า อยู่ที่ไหนแล้วทำให้คิดถึงจนอยากส่อง ไปเจอใครมาทำให้คิดถึงคนนั้้น หรือแม้แต่รู้สึกอยากส่องตอนที่ไปทำอะไรมาบ้าง 

วางแผนดึงความสนใจด้วยอย่างอื่น

สิ่งต่อมาที่จะทำได้ คือ การหยุดและถามตัวเองก่อนที่จะเข้าไปส่องคนที่ไม่ชอบว่าอยากจะเข้าไปรับรู้ชีวิตคนอื่นจริง ๆ หรือเปล่าหรือเป็นแค่สิ่งที่ทำประจำจนคุ้นเคยไปแล้ว นอกจากนั้นก็ใช้เวลาไปกับสิ่งอื่นที่ดึงดูดความสนใจและทำให้ลืมเรื่องอื่นได้ อย่างการหางานอดิเรกทำหรือใช้เวลากับคนอื่นแทน 

มองมุมกลับ

ข้อนี้ค่อนข้างหักมุมจากข้ออื่นตรงที่ว่า พฤติกรรมการตามติดชีวิตคนที่ไม่ชอบอาจทำให้เราเข้าไปติดกับกักดับพลังงานลบได้ แต่อีกทางหนึ่งก็สามารถมองมุมใหม่ได้ว่าการเข้าไปส่องชีวิตคนอื่นไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอายที่ส่งสัญญาณว่าเรากำลังเสพติดการส่องแต่เป็นการรับรู้เรื่องราวใหม่ ๆ และถ้าทำให้เราได้ข้อมูลที่ต้องการได้ก็จะช่วยทำให้หูตากว้างไกลขึ้น

ในอีกทาง การตามส่องยังอาจจะช่วยสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ได้ด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเจอคนที่ไม่ชอบคนคนเดียวกันกับเราก็อาจจะพัฒนาความสัมพันธ์เป็นเพื่อนสนิทกันได้และอาจจะเป็นทีมเวิร์คที่ดีด้วยซ้ำ

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะพยายามเลิกติดตามชีวิตคนอื่นขนาดไหน แต่บางทีเราก็ยังมีความรู้สึกเบื่อและอยากรู้อยากเห็นอยู่ดี การตามส่องคนที่เกลียดก็ไม่ได้จำเป็นว่าต้องเป็นตัวบ่งบอกว่าเราเป็นคนที่ชั่วร้ายเสมอไป ตราบใดที่การส่องไม่ใช่การพยายามครอบงำหรือทำลายชีวิตของคนอื่น

ที่มา – Vox 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา