Mercer คาด ปีหน้าคนไทยจะได้ขึ้นเงินเดือน 5% สายวิทย์ฯ สุขภาพ เทคโนโลยี ยานยนต์ได้ขึ้นเงินเดือนสูงสุด

Mercer ประเทศไทยเผยผลสำรวจค่าตอบแทนประจำปี 2023 และคาดการณ์ในปีหน้า ผลสำรวจครอบคลุมองค์กร 617 แห่งใน 7 อุตสาหกรรม คือ เทคโนโลยีขั้นสูง วิทยาศาสตร์สุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์การขนส่ง การค้าปลีกและค้าส่ง เคมี และผู้ผลิตอื่น ๆ 

การขึ้นเงินเดือน

สำหรับหัวข้อการขึ้นเงินเดือนในประเทศไทย ผลสำรวจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การขึ้นเงินเดือนประจำปี (Merit salary increments) และการขึ้นเงินเดือนโดยรวม (Total salary increments)

Mercer คาดการณ์ว่า ค่ามัธยฐานการขึ้นเงินเดือนประจำปี (Median merit salary increments) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2024 อยู่ที่ 5% จากเดิมที่ปีนี้ค่ามัธยฐานอยู่ที่ 4.8% สาเหตุมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความต้องการในประเทศที่เติบโตขึ้น ประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่

ส่วนค่ามัธยฐานการขึ้นเงินเดือนโดยรวม (Median salary increments) ในปีหน้า คาดว่าอยู่ที่ 5% เช่นเดียวกัน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5.2% ตัวเลขสะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วกับเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา 

ที่มา: Mercer

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่ามัธยฐานการขึ้นเงินเดือนของไทยกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย จะมีค่ามัธยฐานการขึ้นเงินเดือนสูงที่สุดในภูมิภาค โดยมีลำดับ ดังนี้

อินเดีย 9.3%
เวียดนาม 7%
อินโดนีเซีย 6.5%
ฟิลิปปินส์ 5.7%
จีน 5.2%
ค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชีย 5.2%
มาเลเซีย 5.1%
ไทย 5%
เกาหลีใต้ 4.4%
สิงคโปร์ 4.2%
ฮ่องกง 3.9%
ไต้หวัน 3.8%
ญี่ปุ่น 2.6%

ผลสำรวจยังบ่งบอกอีกว่า ในปี 2024 อุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมีการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนประจำปี ขณะที่อุตสาหกรรมประกันชีวิตเป็นสายงานเดียวที่จะได้ขึ้นเงินเดือนลดลงอยู่ที่ 4% ในปีหน้า เทียบกับ 4.2% ในปีนี้ 

อุตสาหกรรมที่จะมีการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ในปีหน้า คือ วิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยีขั้นสูง และยานยนต์ โดยมีอัตราการขึ้นเงินเดือนเท่ากันที่ 5% จากปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง เช่น ในฝั่งยานยนต์มาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการแข่งขันของบริษัทผู้ผลิตในการจ้างงานผู้ที่มีความสามารถสูง 

อัตราการลาออก (แบบสมัครใจ)

อัตราการลาออกแบบสมัครใจในไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในปี 2014 มาอย่างต่อเนื่อง ในครึ่งปีแรกของเดือนนี้ อัตราการลาออกอยู่ที่ 5% โดยคาดว่าในช่วงสิ้นปี อัตราการลาออกจะอยู่ที่ 10% จากปี 2022 ที่อยู่ที่ 11.50%

ที่มา: Mercer

การลาออกที่สูงขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดแรงงานของไทยมีแนวโน้มผ่อนคลายลง มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ บริษัทเห็นโอกาสทางธุรกิจทำให้ความต้องการในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะความต้องการจ้างงานบุคลากรที่มีความสามารถสูง 

หากแยกการลาออกแบบสมัครใจตามแต่ละอุตสาหกรรมพบว่า ในปี 2022 อุตสาหกรรมประกันชีวิตมีอัตราการลาออกสูงที่สุดที่ 14.5% ตามมาด้วยวิทยาศาสตร์สุขภาพ (13.6%) เทคโนโลยีขั้นสูง (10%) เคมี (7.7%) และยานยนต์ (5.5%)

ทั้งนี้ แม้อัตราการลาออกจะเป็นสัญญาณการผ่อนคลายของตลาดแรงงาน แต่อัตราการว่างงานของไทยก็ยังอยู่ที่ 1.2% ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เป็นหนึ่งในอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก 

ที่มา – Mercer 

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา