ไทยและญี่ปุ่นไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนอีกแล้ว ปัจจัยสำคัญคือเรื่องภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย
รายงานจาก CNBC พูดถึงญี่ปุ่นและไทยซึ่งเป็นประเทศที่คนนิยมมาเที่ยวมากที่สุดในเอเชีย แต่ตอนนี้กลายเป็นประเทศที่หมดเสน่ห์ไปแล้วโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ไทยคาดหวังว่าจะมาช่วยกู้เศรษฐกิจให้ดีขึ้นหลังโดนโควิดถล่มจนนักท่องเที่ยวหาย และนักท่องเที่ยวจีนนี่แหละที่ค่อนข้างกังวลเรื่องความปลอดภัยในไทย
ข้อมูลจาก China Trading Desk ระบุว่า ทั้งสองประเทศเคยเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของชาวจีนเมื่อคิดจะมาเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว แต่ตอนนี้พบว่าในไตรมาส 3 ความนิยมเริ่มลดลงแล้ว ไทยตกไปอยู่อันดับที่ 6 ส่วนญี่ปุ่นตกไปอยู่อันดับที่ 8 เรียบร้อย สำหรับประเทศที่จีนมุ่งไป 10 อันดับแรกของโลก ดังนี้
- สิงคโปร์ 18%
- ยุโรป 15%
- เกาหลีใต้ 11%
- มาเลเซีย 11%
- ออสเตรเลีย 11%
- ไทย 10%
- สหราชอาณาจักร 8%
- ญี่ปุ่น 7%
- สหรัฐอเมริกา 5%
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4%
ทั้งญี่ปุ่นและไทยต่างก็มีประเด็นที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกังวลทั้งคู่
ญี่ปุ่นมีปัญหาอะไร?
สำหรับญี่ปุ่น ความกังวลก็คือเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร อย่างที่เรารับรู้กันดีว่าญี่ปุ่นได้ปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาและเตรียมจะปล่อยอีกจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า
ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้ว แม้จะพยายามเชิญให้ผู้เชี่ยวชาญจากทางจีนร่วมสังเกตการณ์หรือร่วมหารือด้วยก็ไม่ได้สร้างผลบวกอะไรกลับมา เพราะจีนต่อต้าน ไม่เห็นด้วย และไม่เชื่อว่าจะไม่มีสารพิษตกค้างจากการปล่อยน้ำดังกล่าว แม้องค์การอนามัยโลกจะยืนยันว่าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นสามารถทานได้อย่างปลอดภัยก็ตาม
จากการสำรวจพบว่า ชาวจีนกว่า 10,000 คน แบ่งเป็นคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปีราว 94% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทานอาหารดีราว 23% และมีแรงจูงใจในการเดินทางออกต่างประเทศ 22% ชอบธรรมชาติ 22% และชอบชอปปิง 10% พบว่า พวกเขายังมีความกังวลอยู่มาก จึงเปลี่ยนใจจากญี่ปุ่นที่ถือเป็นจุดหมายปลายทางที่นิยมมาเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งให้กลายเป็นที่นิยมอันดับท้ายๆ
ไทยมีปัญหาอะไร?
ไทยนี่มีหลายมิติที่ได้รับผลกระทบ รายงานจาก CNBC มองว่า ภาพลักษณ์ของไทยที่สะท้อนผ่านหนังและรายการโชว์ต่างๆ ทางทีวี จากที่เคยทำได้ดี ไทยอาจทำไม่ได้ดีเหมือนเก่า เขายกตัวอย่างรายการ Set-Jetting ที่ฉายภาพให้ไทยน่าท่องเที่ยวน้อยลง
ไหนจะหนังจีนที่เพิ่งฉาย เรื่อง Lost in the Stars และ No More Bets ทั้งสองเรื่องนี้ แม้ไม่ได้ถ่ายทำในไทย แต่บางเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตจริงในไทยผ่านพาดหัวข่าวที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ผู้หญิงชาวจีนถูกสามีผลักลงจากหน้าผาในไทยเมื่อปี 2019 แม้เธอจะกระดูกหักถึง 19 ท่อน แต่ก็สามารถรอดชีวิตมาได้
หรือแม้แต่หนัง No More Bets ที่ติดตามชีวิตคู่รักหนุ่มสาวที่ถูกล่อลวงไปยังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหางานทำ แต่ก็ต้องติดกับ ถูกหลอกลวงให้กลายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์และกลายเป็นสแกมเมอร์หลอกลวงผู้คนทั่วไปให้เป็นเหยื่ออีกที สถานการณ์นี้ทางองค์การสหประชาชาติประเมินว่าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ มีผู้คนนับแสนที่ต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้
ทาง OHCHR (UN Rights office) ระบุว่า มีผู้คนอย่างน้อย 120,000 คนทั่วเมียนมาและอีก 100,000 คนในกัมพูชาที่อาจถูกควบคุมตัวเพื่อให้ทำงานหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่สองประเทศนี้ แต่ยังมีลาว ฟิลิปปินส์และไทยด้วย ด้าน UN มองเรื่องนี้ว่า ผู้ที่ถูกบังคับให้ทำงานหลอกลวงผู้อื่นเช่นนี้ ต้องอดทนต่อการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมเพื่อก่ออาชญากรรม พวกเขาก็ตกเป็นเหยื่อเหมือนกัน ไม่ใช่อาชญากร
สำหรับไทยนั้นเรียกว่ารับศึกหนัก เพราะญี่ปุ่นยังเป็นเฉพาะเรื่องอาหารที่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย แต่สำหรับไทย ยังมีเรื่องภาพลักษณ์ผ่านหนัง ผ่านรายการโชว์ที่ทำให้รู้สึกว่าไทยไม่น่ามาเพราะไม่ปลอดภัยไม่พอ ยังมีสถานการณ์จริงเข้ามาเกี่ยวพันด้วยไม่ใช่แค่เนื้อหาผ่านหนัง ทั้งการที่มีคนถูกบังคับให้เป็นสแกมเมอร์หรือฉ้อโกงผู้คนออนไลน์ ไปจนถึงเหตุกราดยิงจากเด็กวัย 14 ปีล่าสุดในห้างหรูกลางใจเมือง และยังพรากชีวิตทั้งคนจีนและคนเมียนมาไปด้วย จึงไม่น่าแปลกใจถ้าความสนใจจะมาท่องเที่ยวไทยถูกลดความนิยมลงแล้ว
ไม่ใช่แค่ CNBC ที่รายงานจากผลสำรวจของจีนเท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้ Krungthai COMPASS โดยธนาคารกรุงไทยก็คาดการณ์ตรงกันว่านักท่องเที่ยวจีนเริ่มขยาดที่จะมาไทย ขณะที่รายงานจาก CNA ก็เห็นตรงกันว่า ไทยไม่น่าท่องเที่ยวเหมือนเก่า แม้ก่อนโควิดระบาดจะได้รับความนิยมถล่มทลาย แต่หลังจากโควิดผ่านพ้น ก็ยังมีเหตุการณ์กราดยิงซ้ำเติมอีก ทำให้ตอนนี้แค่วีซ่าฟรีสำหรับนักท่องเที่ยวที่เราคาดหวังจะดึงดูดเงินในกระเป๋าเข้าไทยอาจยังไม่พอ แต่ต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ให้เห็นว่าไทยปลอดภัยแน่นอน ไม่ใช่แค่อาหารอร่อย เที่ยวสบาย ราคาสินค้าไม่แพง มีการบริการด้านการแพทย์ดี แต่ความปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญอันดับ 1 ด้วย
ที่มา – CNBC, UN, Krungthai COMPASS, CNA
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา