หลังช่วยปั้น Asus ในประเทศไทยตั้งแต่ 20 ปีก่อน และย้ายมาทำงานฝั่งค้าปลีกที่ Advice รวมถึงตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอที Synnex ล่าสุด พรเทพ วัชรอำนวย ขึ้นสู่ กรรมการบริหาร บริษัท อินแกรม ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Ingram Mirco ตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอที และเทคโนโลยี แถมเป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นตำแหน่งนี้
ด้วยภาพของ Ingram Micro ที่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดไทยนักเมื่อเทียบกับตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอทีรายอื่น แม้จะทำตลาดที่ไทยมาราว 30 ปีก็ตาม แถมบางครั้งยังถูกมองเป็นบริษัทจากฝั่งตะวันออกเหมือนกับผู้เล่นรายอื่น ทั้ง ๆ ที่ Ingram Micro เป็นบริษัทจากสหรัฐอเมริกา
Ingram Micro ภายใต้การบริหารงานของ พรเทพ วัชรอำนวย จะเป็นอย่างไร อนาคตของภาพรวมตลาดไอทีในไทยจะยังเติบโตได้หรือไม่ หลังผ่านพ้น Happy Hour ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดไปแล้ว ลองมาอ่านคำตอบจากผู้บริหารคนนี้กัน
Ingram Micro กับการรุกตลาดไทยเข้มข้น
พรเทพ วัชรอำนวย กรรมการบริหาร บริษัท อินแกรม ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า Ingram Micro ยังไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยเท่าไรนัก แม้จะก่อตั้งมา 40 ปีที่สหรัฐอเมริกา และเข้ามาทำตลาดไทยกว่า 30 ปี ผ่านการทำตลาดสินค้า และบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยี โดยเน้นที่บริษัทรายย่อยจนถึงองค์กรขนาดใหญ่
“ต้องบอกว่า Ingram Micro เป็น Global Company และมีไทยเป็นอีกหนึ่งสาขาที่เข้ามาทำตลาด ทำให้เราใช้งาน Resource ในภูมิภาคต่าง ๆ ของบริษัทแม่ได้ และก่อนหน้านี้ MD ของไทยเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด แต่ปัจจุบันเขารู้แล้วว่าจะทำตลาดไทยต้องทำอย่างไร จึงเป็นที่มาของคนไทยคนแรกที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้”
นอกจากการตั้งคนไทยเป็นกรรมการผู้จัดการ Ingram Micro ยังเตรียมให้บริการ Financial Services เพื่อตอบโจทย์การซื้อสินค้า และบริการไอทีในประเทศไทยที่จะมาในรูปแบบเช่าใช้ และจ่ายตามใช้จริงมากขึ้น ซึ่งจุดนี้ทำให้ Ingram Micro สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้มากขึ้น
เน้นผูกโซลูชัน เจาะทั้ง กทม. และต่างจังหวัด
ปัจจุบัน Ingram Micro มีฐานลูกค้าราว 4,000 รายในประเทศไทย โดยมี 2,500 รายที่ซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านการมีสินค้าที่จำหน่าย เช่น กลุ่มคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ, โซลูชัน เช่น ระบบเน็ตเวิร์ก และสตอเรจ รวมถึงบริการเกี่ยวกับคลาวด์ และระบบความปลอดภัยไซเบอร์
“ผมเข้ามาอยู่ในตำแหน่งนี้ 2 ปี เข้ามาแรก ๆ ก็ต้องปรับโครงสร้างบริษัท และหลังจากเริ่มไประยะหนึ่งตัวเลขทั้งปีเริ่มดีขึ้น และมีความมั่นใจว่าจะเติบโตหลังจากนี้ได้ แม้ภาพรวมตลาดไอทีจะชะลอตัวลงหลัง Happy Hour ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ได้ผ่านพ้นไปแล้ว”
ทั้งนี้ Ingram Micro เป็นผู้จำหน่าย Google Cloud เพียงรายเดียวในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นอีกจุดในการสร้างความแตกต่างในการผูกโซลูชันต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ดีลเลอร์ใน กทม. และต่างจังหวัด สามารถไปเสนอขายสินค้าได้ง่ายกว่าการขายสินค้า และบริการแค่บางชิ้น
ต่างจังหวัดสำคัญ เพราะท่องเที่ยวเริ่มฟื้น
“ปัจจุบันไม่ใช่แค่เราที่ผูกสินค้า และบริการออกมาเป็นโซลูชัน แต่ Vendor ระดับโลกก็ร่วมมือกันมากขึ้น จึงตอบโจทย์การทำตลาดของเรา และยิ่งในต่างจังหวัด องค์กรทั้งโรงแรม, โรงงาน และอื่น ๆ ต่างต้องการโซลูชันเข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวจากโรคโควิด-19”
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ โรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยว เพราะพวกเขาต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบ และถึงรอบที่ต้องปรับเปลี่ยนพอดี ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างตัวแทนจำหน่าย รวมถึงดีลเลอร์ที่ใครจะผูกโซลูชันได้ตอบโจทย์กว่าจะเป็นผู้ชนะในสงครามนี้
ขณะเดียวกัน ธนาคาร และสถาบันการเงิน ยังมีการลงทุนไอที และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับเรื่องความปลอดภัย และความเร็วในการเชื่อมต่อข้อมูล รวมถึงฝั่งหน่วยงานรัฐที่ยังอยู่ระหว่างรองบประมาณใหม่เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่นกัน
ศึกตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอทีที่ไม่ง่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า IT Distributor หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอทีในประเทศไทยปัจจุบันมีรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น Synnex และ SIS ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นตัวแทนสินค้าที่คล้าย ๆ กัน และมีการบุกตลาดทั้งฝั่งลูกค้าทั่วไป รวมถึงกลุ่มลูกค้าองค์กร และยังมีบริษัทจากฝั่งตะวันออก เช่น VSTECS ที่ทำตลาดสินค้าหลากหลายเช่นกัน
- รู้จัก VST ECS ดิสทริบิวเตอร์สินค้าไอที ที่โตแบบเงียบ ๆ จนมีรายได้กว่า 30,000 ล้านบาท
- Synnex มองยอด iPhone 15 กระแสดีกว่ารุ่นเดิม ดีลเลอร์สั่งตามคาด หวังช่วยดันรายได้รวมเท่าปี 2022
การเข้ามาของ Ingram Micro จึงไม่ง่าย แม้จะอยู่ในตลาดนี้มาหลายปี แต่เพิ่งมีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้เหมาะกับการทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น แต่การสร้างเครือข่ายในต่างจังหวัดให้แข็งแกร่งก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจของ Distributor รายนี้
และอีกทิศทางของตลาดสินค้าไอทีที่กำลังเป็นที่สนใจตอนนี้คือ การใช้โซลูชันที่ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน หรือ ESG เนื่องจากทุกองค์กรเริ่มให้ความสำคัญ และมีผลต่อการลงทุนทั้งฝั่งองค์กรขนาดใหญ่ รวมถึงนักลงทุน ทำให้ Vendor ต่าง ๆ เริ่มหันมาพัฒนาสินค้า และบริการที่ตอบโจทย์เรื่องนี้มากขึ้น
อ้างอิง // Ingram Micro
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา