สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์หนี้สินของภาคธุรกิจทั่วโลกและของไทย (จาก Global Debt Monitor ของ Institute of International Finance) พบว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 หนี้สินของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 307.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 335.9% ต่อ GDP นับเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปี 2542
ทั้งนี้ การก่อหนี้ของประเทศต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ช่วงวิกฤต COVID-19 ในปี 2563 ซึ่งหากดูโครงสร้างหนี้สินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย มีสัดส่วนที่ต่างกัน ได้แก่
- กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก พบว่า สัดส่วนใหญ่เป็นหนี้สินของภาครัฐ (29.5%) และหนี้สินสถาบันการเงิน (27.9%)
- กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย พบว่า หนี้สินส่วนใหญ่มาจากภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (42.8%) หนี้ภาครัฐบาล (24.2%) หนี้ครัวเรือน (18.9%) และหนี้สถาบันการเงิน (14.2%)
ที่มา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวบรวม
ทั้งนี้ ด้านหนี้สินของไทย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า หนี้สินของภาคธุรกิจ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 79.6% ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงก่อน COVID-19 ที่อยู่ระดับ 70.3% ต่อ GDP
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของทั้งสินเชื่อและตราสารหนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่า ภาคเอกชนยังคงระดมทุนต่อเนื่องโดยมีการจัดหาเงินทุนด้วยตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่มีการกู้ยืมเงินผ่านสินเชื่อลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเนื่องจากการจัดหาเงินทุนในตลาดตราสารหนี้มีต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ด้วยภาวะการผิดนัดชำระของผู้ออกตราสารหนี้ในหลายบริษัท ทั้งจากปัญหาด้านธรรมาภิบาลหรือปัญหาด้านสภาพคล่องของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ดังนั้น ภาคธุรกิจที่จัดหาเงินทุนจากตลาดตราสารหนี้จึงมีแนวโน้มที่จะเผชิญ ความเสี่ยงในการจัดหาเงินทุนในระยะต่อไป
ขณะเดียวกัน ในไตรมาส 3 ปี 2566 เมื่อพิจารณาสินเชื่อตามขนาดของธุรกิจพบว่า สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ที่ระดับ 2.7%YoY ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs อยู่ที่ติดลบ 5.2%YoY ซึ่ง ลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 เพราะเผชิญทั้งข้อจำกัดในการระดมทุนทั้งผ่านสินเชื่อ และตราสารหนี้ รวมถึงหนี้ NPL หรือหนี้เสียของกลุ่ม SMEs ยังทรงตัวในระดับสูง และยังมีความเสี่ยงจากปัญหาในกชำระหนี้โดยเฉพาะธุรกิจที่ยังได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้นและยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่
หมายเหตุ
ณ ไตรมาส 2 ปี 2566 สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่า สัดส่วน NPL ของธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 1.6% ขณะที่ธุรกิจ SMEs อยู่ที่ 7.3%
ที่มา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา