สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผย สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโต 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งถือว่าเติบโตช้าลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ที่อยู่ระดับ 1.8%YoY สาเหตุเนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ลดลง ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐยังลดลงเพราะ การใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ลดลง
ทั้งนี้ ด้านบริการรับ มูลค่าที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 23.1% ตามนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่เร่งขึ้น
ขณะที่ ด้านการผลิต ไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่า ภาคเกษตรขยายตัว 0.9%YoY และภาคนอกเกษตร ขยายตัว 1.5%YoY ทั้งภาคเกษตรและ ภาคนอกเกษตรเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ส่วนภาคอุตสาหกรรมลดลง 2.8%YoY เนื่องจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ
ด้านการใช้จ่าย ไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่า
- การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัวสูงที่ 8.1%YoY
- การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลยังคงลดลง 4.9%YoY
ขณะที่การลงทุนรวม เพิ่มขึ้นที่ 1.5%YoY เร่งตัวขึ้นจากไตรมาส 2 ปีนี้ เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น (3.1%YoY) ทั้งด้านก่อสร้าง, เครื่องจักรเครื่องมือ แต่การลงทุนภาครัฐยังลดลงที่ 2.6%YoY (แบ่งเป็นการลงทุนรัฐบาลลดลง 3.4% การลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลง 1.4%)
ขณะที่ด้านการส่งออก ไตรมาส ปี 2566 พบว่าทั้งการนำเข้าและส่งออกยังปรับตัวลดลง
- การส่งออก มูลค่าที่แท้จริงลดลง 3.1%YoY เนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดไดรฟ์) ที่มีแนวโน้มถูกแทนที่ด้วย SSD, น้ำมันปาล์ม, เครื่องปรับอากาศ, ผลิตภัณฑ์โลหะ และเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี
- การนำเข้า มูลค่าที่แท้จริงลดลง 11.8%YoY จากการนำเข้าสินค้า วัตถุดิบลดลงโดยเฉพาะการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจรรวมซึ่งลดลงตามการผลิตและส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง
ที่มา สภาพัฒน์
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกปี 2566 ขยายตัว 1.9%YoY โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจ ได้แก่
- การใช้จ่าย แบ่งเป็น การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 7.3%, การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภครัฐบาลลดลง 5.2%
- การลงทุนรวมขยายตัว 1.7% (แบ่งเป็นลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.2%, ลงทุนภาครัฐขยายตัว 0.3%)
- การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 210,473 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.1% โดยปริมาณส่งออกลดลง 5.1% ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 1.1%
- การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงเพิ่มขึ้น 3.0% เทียบกับการเพิ่มขึ้น 2.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
- เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2566 ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 1.9% และอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.03%
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในภาพรวมคาดว่าจะขยายตัว 2.5%YoY ถือว่ายังต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ผ่านมา โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.0% ของ GDP ทั้งนี้มองว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 นี้จะชะลอลงจากปี 2565 เช่นกัน
ขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2567 คาดการร์ว่า GDP จะมีขยายตัวในกรอบ 2.7 – 3.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 3.2%) โดยมีปัจจัยหนุน 3 ข้อ ได้แก่
- การกลับมาขยายตัวของการส่งออก
- การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวดี
- ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2567 การอุปโภคบริโภคจะขยายตัว 3.2% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.8% ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้ำในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัว 3.8% สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.7 – 2.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของ GDPที่มา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา