บ่อยครั้งในยามฉุกเฉินเมื่อมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล การที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หลาย ๆ คนในวัยทำงานมักประสบปัญหาได้เงินเดือนมาเท่าไหร่ ก็ต้องนำเงินเดือนส่วนใหญ่นำไปชำระหนี้จนหมด จึงเป็นเหตุผลทำให้บางคนนั้นไม่เหลือเงินไว้เก็บออมเลย
เพราะฉะนั้นหากใครที่กำลังมองหาแนวทางดี ๆ ในการบริหารหนี้พร้อมไปกับการวางแผนการออมควบคู่ไปด้วย วันนี้เรามี 3 สูตรลับวิธีปลดหนี้ และเคล็ดลับการออมให้มีเงินเก็บเหลือใช้ทุกเดือนมาฝาก รับรองว่าบริหารจัดการได้ง่าย ๆ ทำตามได้ทุกคนแน่นอน 3 สูตรลับนี้จะมีอะไรบ้างไปดูพร้อมกันเลย !!
เทคนิคที่ 1 : แบ่งเงินใช้หนี้สิน และบริหารเงินให้เหลือเก็บ
เริ่มจากการเขียนบัญชีรายรับ-รายจ่ายขึ้นมาก่อนได้เลย เพราะเทคนิคนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนสามารถรู้ได้อย่างแน่นอนว่าในแต่ละเดือนเงินที่ได้มานั้น ได้มีการใช้จ่ายไปในเรื่องอะไรบ้าง และเมื่อถึงวันที่เงินเดือนออก หรือมีรายได้เข้ามาให้แบ่งเงินออกเป็น 3 กอง ก่อนทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ดังต่อไปนี้
- กองที่ 1 : เงินกู้ คือ เงินที่เอาไว้ชำระหนี้สินที่กู้หนี้ยืมมา เช่น หนี้เสียจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคล
- กองที่ 2 : เงินกิน คือ เงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะไม่รวมกับเงินช้อปปิ้ง
- กองที่ 3 : เงินเก็บ คือ เงินสดสำหรับเก็บสำรองฉุกเฉิน ซึ่งควรมีจำนวนรายจ่าย ให้อยู่ได้อย่างน้อย 1-3 เดือน
เทคนิคนี้แค่แบ่งเงินเก็บไว้ก่อนใช้ทุกครั้ง ค่อย ๆ ออมเงินจนกระทั่งครบตามจำนวนที่ตั้งไว้ เช่น หากเรามีรายจ่ายเดือนละ 12,000 บาท เงินเก็บ หรือเงินสำรองสำหรับฉุกเฉินที่เราต้องเตรียมไว้ อย่างน้อย 12,000-30,000 บาท โดยเริ่มต้นแบ่งเงินรายได้มาเก็บทุกเดือน อาจจะเดือนละ 500–1,000 บาท จำนวนที่เก็บขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคนเลย
หลังจากที่แบ่งเงินเพื่อเก็บแล้วต้องแบ่งเงินอีกส่วนมาชำระหนี้ที่มีอย่างสม่ำเสมอทุกงวดจะได้มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี สุดท้ายเหลือเงินเท่าไหร่ก็ค่อยนำมาใช้ส่วนตัวก็ยังไม่สาย
เทคนิคที่ 2 : หาทางบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ
การจ่ายหนี้มี 2 แบบ ได้แก่ จ่ายหนี้ตามสัญญากับจ่ายเกินสัญญา
- จ่ายหนี้ตามสัญญา คือ การแบ่งชำระเงินต้นเป็นงวด ๆ งวดละเท่า ๆ กัน ในช่วงอายุเงินกู้ที่ระบุไว้ตามสัญญา
- จ่ายหนี้เกินสัญญา คือ เป็นการทยอยชำระหนี้ให้มากกว่าค่างวดที่กำหนดไว้ หรือมากกว่าจำนวนเงินชำระต่องวดที่ระบุไว้ในสัญญา หรือสินเชื่อ
- กรณีที่ 1
หากเรามีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 20,000 บาท ทำสัญญากู้ 60 เดือน จ่ายค่าดอกเบี้ย 25% จากตารางการบริหารหนี้ด้านซ้ายมือจะเห็นได้ว่าถ้าเรามีการชำระหนี้ตามสัญญา ระยะเวลาที่จะต้องชำระหนี้ใช้เวลามากถึง 60 เดือน กว่าจะชำระหนี้หมดไปตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา
- กรณีที่ 2
แต่ถ้ากรณีเราจ่ายค่างวดเพิ่ม โดยการลดค่าใช้จ่ายบางอย่างในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ค่ากาแฟ โดยใน 1 สัปดาห์ เราจะดื่มกาแฟอยู่ 2 แก้ว รวมค่าใช้จ่ายค่ากาแฟก็จะอยู่ที่ราว ๆ 200 บาทต่อสัปดาห์
ซึ่งถ้าเราตัดสินใจ ลดการดื่มกาแฟลงเป็นอาทิตย์ละ 1 แก้ว และนำเงินที่เหลือจากการลดค่ากาแฟ 100 บาท ไปจ่ายหนี้เพิ่มในรูปแบบจ่ายเกินสัญญาตามตารางด้านขวามือ จากเดิมที่เราชำระค่างวดอยู่ 587.03 บาท เพิ่มเป็น 687.03 บาท
กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีการคำนวณดอกเบี้ยแบบ ลดต้นลดดอก จ่ายเพิ่มไปก็จะไปตัดเงินต้นเพิ่ม ทำให้ดอกเบี้ยลดลง เราจะสามารถปิดหนี้ก้อนนี้ได้ไวมากขึ้นถึง 10 เดือนโดยประมาณเลย จากการลดการกินกาแฟลงอาทิตย์ละ 1 แก้วเพราะฉะนั้นเงิน 100 บาท ที่บางคนอาจมองว่าน้อย แต่สำหรับบางคนนั้นสามารถปลดหนี้ได้เร็วขึ้นมากถึง 10 เดือนเลยเชียวนะ ซึ่งเป็นการสร้างวินัยการออมเงิน และการบริหารหนี้ให้เป็นนิสัยที่ดีกับตัวเรามาก ๆ เลยเช่นเดียวกัน
เทคนิคที่ 3: รวมหนี้สินที่มีทั้งหมดให้เป็นก้อนเดียว
แต่สำหรับใครที่มีหนี้อยู่หลายก้อน แต่ยังไม่รู้จะจัดการกับหนี้ก้อนนี้ยังไงดี วันนี้เรามีเทคนิคบริหารจัดการหนี้หลายก้อนมาฝาก จะมีวิธีบริหารยังไงให้คล่องมือได้บ้าง มาดูกัน
จากตัวอย่างข้างต้น ในกรณีถ้าหากเรามีหนี้อยู่ 4 ตัว ก้อนละ 1,000 บาท รวมยอดหนี้ทั้งหมดที่เรามี 4,000 บาท ซึ่งกรณีที่เราได้ทำการชำระหนี้ก้อนแรกหมด ตามภาพตัวอย่าง เราจะสามารถนำเงินจากการชำระหนี้ที่เหลือจากก้อนแรกไปบริหารจัดการเพื่อช่วยลดหนี้ก้อนอื่น ๆ เพิ่มได้ เช่น
- ถ้าเรามีหนี้หลายก้อน สมมติว่าหนี้ก้อนที่ 1 เราได้ชำระหนี้ก้อนนี้หมดไปแล้วเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท เราสามารถนำค่างวดที่ชำระหนี้ก้อนแรกจำนวน 1,000 บาท แบ่งสัดส่วนไปออมเงินจำนวน 500 บาท และอีก 500 บาท นำไปชำระหนี้ก้อนถัดไป เพื่อทำให้หนี้ก้อนที่ 2 จำนวน 1,000 บาท หมดเร็วขึ้น ซึ่งด้วยวิธีการบริหารจัดการเดียวกันนี้สามารถนำไปปรับใช้กับหนี้ก้อนถัด ๆ ไปได้
- กรณีที่เราได้ทำการชำระ หนี้ก้อนที่ 2 จนหมด ก็สามารถแบ่ง 50/50 ไปออมเงิน และแบ่งชำระหนี้ก้อนที่ 3 และหนี้ก่อนที่ 4 ต่อจนครบ สุดท้ายนี้เราก็จะสามารถปิดหนี้ยอด 4,000 บาท ตามตัวอย่างข้างต้นได้ไวขึ้นกว่าเดิมแน่นอน แถมยังมีเงินเก็บออมจากการแบ่งสัดส่วน เงินออมที่เราวางแผนเอาไว้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
อีกเทคนิคดี ๆ เพิ่มเติม เมื่อเราปิดหนี้จนครบหรือชำระหนี้บางก้อนหมดไปแล้ว สามารถตั้งระบบ Auto Transfer เพื่อโอนเงินไปทยอยซื้อกองทุนที่น่าสนใจแบบ DCA โดยลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ในจำนวนเงินเท่า ๆ กัน เพื่อเป็นการสร้างวินัยการลงทุนและสร้างโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นจากการลงทุนในระยะยาว
สุดท้ายนี้ก็อยากฝากทุกคนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเก็บออมไว้สำหรับเงินสำรองฉุกเฉิน เพราะหากวันใดวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องอุบัติเหตุต่าง ๆ จนไม่สามารถเร่งหาเงินด่วนมาเพื่อสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล เราก็ยังมีเงินฉุกเฉินก้อนนี้ที่จะทำให้เรารอดพ้นวิกฤตของชีวิต และทำให้เราบริหารจัดการความเสี่ยงจากการใช้จ่ายฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
แต่สำหรับใครที่กำลังหาวิธีปลดหนี้ และยังไม่เคยวางแผนเตรียมเก็บเงินฉุกเฉินมาก่อน ก็สามารถใช้วิธีการทำเรื่องปรึกษาขอ “สินเชื่อส่วนบุคคล” จากธนาคาร สิ่งนี้ก็อาจเป็นตัวช่วยสำหรับคนที่ต้องการรีบใช้เงินก้อนเพื่อมาใช้จ่ายยามฉุกเฉินได้อีกเช่นเดียวกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา