“เมื่อไรที่เปิดตัว หมอนชีสโทสต์ เวลานั้นเด็ก ๆ ที่เดินผ่านร้านมักจะต้องเรียกพ่อแม่ให้เข้าร้านเสมอ” นี่คือคำยืนยันจาก อนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์ ผู้จัดการทั่วไปของ Sizzler ประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงถ้าสินค้าพรีเมียมที่ออกแบบได้โดนใจ อย่างไรก็ดึงลูกค้าเข้าร้านได้
เหตุนี้เอง Sizzler จึงเตรียมเดินหน้ากลยุทธ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผ่านการออกแบบสินค้าพรีเมียมให้มีมากกว่าแค่หมอน พร้อมกับปรับภาพลักษณ์สาขาต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์กลุ่มครอบครัวมากขึ้น เพื่อครองตำแหน่งร้านอาหารตะวันตก และสเต๊ก อันดับ 1 ของประเทศไทย
สินค้าในอนาคตของ Sizzler จะมีอะไรบ้าง กลุ่มลูกค้าครอบครัวที่มีลูกเล็กสำคัญกับ Sizzler ขนาดไหน และกลยุทธ์ธุรกิจในปี 2024 ของ Sizzler จะเป็นอย่างไร อนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์ ผู้จัดการทั่วไปของ Sizzler ประเทศไทย ได้อธิบายไว้ดังนี้
ของพรีเมียม อีกตัวดึงดูดลูกค้าครอบครัว
อนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด หรือ Sizzler ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า บริษัทเตรียมผลิต Premium Product หรือสินค้าที่ต่อยอดมาจากเมนู หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ Sizzler มากขึ้น เช่น หมอนชีสโทสต์, หมวก, กระเป๋า และอื่น ๆ
“เหตุผลที่เราต้องทำ Premium Product เพราะ หมอนชีสโทสต์ สามารถดึงดูดลูกค้าครอบครัวที่มีลูกเล็กเข้ามาใช้บริการกับเราได้จริง ซึ่งตรงกับกลุ่มลูกค้าหลักของเราที่เป็น Family with Kids ที่เราทำตลาดกับกลุ่มลูกค้านี้มาตั้งแต่แรก เช่น การให้ชุดระบายสีเมื่อมาใช้บริการ และช่วยดึงดูดใจให้เด็ก ๆ เข้ามากินผักสลัด”
Sizzler เปิดตัว หมอนชีสโทสต์ มาตั้งแต่ปี 2015 และตัวหมอนสร้างการรับรู้ให้แบรนด์ Sizzler ในหมู่เด็ก ๆ นอกจากนี้กลุ่ม Minor ยังมีธุรกิจร้านอาหาร, โรงแรม และไลฟ์สไตล์ที่พยายามทำ Premium Product เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มครอบครัวที่มีเด็กเล็กเช่นกัน
พิสูจน์ได้จริง เพราะลูกค้าจ่ายหนักมักมีหมอน
Sizzler เปิดเผยจำนวนสมาชิกของบริษัทที่มีกว่า 4 แสนราย ประกอบด้วย Green ที่สมัครได้ฟรี คิดเป็น 80% ของทั้งหมด และระดับสูงสุดคือ Diamond ที่มียอดใช้จ่ายสะสม 16,000 บาท ภายใน 12 เดือน คิดเป็น 5% ของทั้งหมด ส่วนที่เหลือคือลูกค้าระดับ Gold ที่ได้จากยอดสะสม 8,000 บาท หรือซื้อบัตร 399 บาท
“ลูกค้า Diamond ถึงจะมีปริมาณน้อย แต่ยอดขายนั้นมากกว่า Green แน่นอน ซึ่งลูกค้า Diamond นั้นแทบจะมีหมอนทุกคน แสดงให้เห็นถึงคนที่อยากได้ หมอนชีสโทสต์ มักจะมีการจับจ่ายกับ Sizzler เป็นประจำ ไม่ใช่แค่สมัคร Green เพราะเขาอยากกินสลัดบาร์ราคาพิเศษ”
ดังนั้นนอกจากการใช้ Premium Product ดึงลูกค้าเข้ามาในร้าน อีกโจทย์สำคัญของ Sizzler คือการจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่มากกว่าแค่รับประทานสลัด ซึ่งปัจจุบัน Sizzler พยายามทำเมนูที่หลากหลาย และดันเมนูสเต็กเนื้อนำเข้ามาจูงใจลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้าขาจร
ชิงแชร์ตลาดสเต็ก 9,000 ล้านบาท
อนิรุทร์ เสริมว่า ปัจจุบันภาพรวมตลาดสเต็กในประเทศไทยมีมูลค่าราว 9,000 ล้านบาท และยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นตลอด เช่นเดียวกับในภูมิภาคเอเชียที่ตลาดสเต็กพรีเมียมนั้นเติบโตราว 4.5% ต่อปี และยังมีแนวโน้มเติบโต ซึ่ง Sizzler มีส่วนแบ่งในตลาดนี้ราว 30%
“ก่อนหน้านี้ใครอยากกินสเต็กพรีเมียมต้องไปที่โรงแรม แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น ร้านสเต็กระดับพรีเมียมในไทยก็มีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ Sizzler ที่นอกจากแข็งแกร่งเรื่องสลัด เราต้องดันสเต็กที่เป็นอีกสินค้าหลักของเราเพื่อให้แข็งแกร่งเช่นเดียวกัน”
- กลุ่มไมเนอร์ ทุ่ม 546 ล้านบาท ซื้อกิจการเจ้าของแบรนด์ Sizzler ยกระดับการขยายธุรกิจในอนาคต
- เป้าหมายใหม่ Sizzler จาก King of Salad สู่ King of Steak ปั้นเมนูเพิ่ม ย้ำคุ้มราคาเช่นเดิม
แม้จะแข่งขันอย่างหนัก แต่ Sizzler ยืนยันว่า ในปี 2024 จะพยายามไม่ขึ้นราคา เช่นเดียวกับปี 2023 แม้จะมีปัจจัยลบต่าง ๆ เข้ามากระทบกับธุรกิจ เช่น ค่าเงิน และภาวะเงินเฟ้อ โดย Sizzler พยายามปรับตัว และไม่ต้องการผลักภาระเรื่องนี้ไปที่ลูกค้า
อ้างอิง // Sizzler
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา