ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะโฆษกธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย. 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่ง ได้รับผลดีวันหยุดยาวในแต่ละประเทส และมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่าในช่วงปลายเดือน รวมถึงจากการส่งออกสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้น (มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำดีขึ้น) แต่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงหลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายของรัฐบาลกลางและการลงทุนรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ได้แก่
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยหมวดอาหารสดลดลงจากราคาผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่หมวดพลังงานลดลงจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและราคานำ้มันดีเซลของภาครัฐ
- อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย จากราคาอาหารสำเร็จรูป เป็นสำคัญ
- ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นจากทั้งภาคบริการและภาคการผลิต
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าเป็นหลัก
ขณะที่ ด้านเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐถือว่าเฉลี่ยอ่อนค่าลง จาก 3 ปัจจัย ได้แก่
- ตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน
- ค่าเงินหยวนอ่อนค่าจากเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเปราะบาง
- นักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
เมื่อดูภาพรวมของไตรมาสที่ 3 ปี 2566 พบว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาส 2/66 ตามการบริโภคภาคเอกชน และภาคบริการที่ปรับดีขึ้น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่สูงขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำยังเพิ่มขึ้นจากการส่งออกยานยนต์ และชิ้นส่วน และปิโตรเลียมเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจากหมวดเครื่องจักร และอุปกรณ์หลังจากที่เร่งตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้า รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ขณะที่ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามหมวดอาหารสดและหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่หมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซิน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล จากดุลการค้า ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงตามการส่งกลับกำไรและรายจ่าย ภาคบริการที่ลดลง
ขณะที่แนวโน้มของเดือน ต.ค. ปี 256 มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ คาดว่ายังคงขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปยังต้องติดตาม 4 ปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่
- การฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้า
- นโยบายของรัฐบาลที่จะออกมา
- ผลกระทบของเอลนีโญต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร
- ผลกระทบจากความขัดแย้งของกลุ่มฮามาส-อิสราเอลต่อราคาพลังงานและอุปสงค์ต่างประเทศ
ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา