จากสถิติ คนไทยลงทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนเงินฝาก สตาร์ทอัพไทยรายนี้มองว่าคนไทยไม่ควรจะเสียโอกาสกับการลงทุน เพียงเพราะความไม่รู้ ความกลัว หรือไม่เข้าใจในการลงทุน จึงส่ง Treasurist ตัวช่วยจัดการพอร์ตกองทุนรวมออกมาให้บริการ
ตอบคำถาม 3 นาที พร้อมลงทุนได้เลย
ถ้าพูดเรื่องการลงทุนขึ้นมาเมื่อไหร่ แล้วไปเปิดสถิติดูจะรู้เลยว่า “คนไทยยังลงทุนน้อยมาก” หากคิดเป็นสัดส่วนการลงทุนต่อเงินฝาก ของไทยจะอยู่ที่ 38% เท่านั้น ในขณะที่ฮ่องกงมีสัดส่วนการลงทุนต่อเงินฝากที่ 84% สิงคโปร์อยู่ที่ 423% และเอาแบบจัดหนักเลยก็เป็นสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วน 1838% หรือ 18 เท่าของเงินฝากนั่นเอง
Pain point ของสัดส่วนการลงทุนต่อเงินฝากนี้จึงถือเป็นค่าเสียโอกาสที่คนไทยสูญเสียไปด้วยปัจจัย 2 – 3 อย่างคือ ไม่รู้ว่ากองทุนรวมคืออะไร มากกว่านั้นคือกลัวการลงทุน มองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่เข้าใจ ฯลฯ
ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร Treasurist (เทรเชอริสต์) สตาร์ทอัพช่วยแนะนำการลงทุน บอกว่า หากคนไทยหันมาลงทุนเพิ่มขึ้นในกองทุนรวมอีกเพียงแค่ 5% ประเทศไทยจะมีเงินเพิ่มขึ้นถึง 7,500 ล้านบาทต่อปี แต่ในไทยมีกองทุนอยู่กว่า 1,000 กองทุน มีอีกกว่า 10 ประเภท แถมยังมีอีกไม่ต่ำกว่า 20 บริษัทจัดการกองทุน ทำให้ผู้บริโภคสับสนและไม่เข้าใจจึงทำให้คนส่วนใหญ่เลิกให้ความสนใจเพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เสียเวลา และต้องแบกรับความเสี่ยง
ศกุนพัฒน์ เล่าให้ฟังต่อว่า การทำความเข้าใจกองทุนรวมไม่ยากอย่างที่คิด หากเข้ามาใช้บริการ Treasurist จากคนที่ไม่รู้เรื่องการลงทุน จะเข้าใจได้ง่ายมาก เพราะเราออกแบบมาให้ทุกคนใช้งานได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการลงทุน แต่ยังไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนในกองทุนรวม
“กองทุนรวมคือการลงทุนในบริษัทใหญ่ผ่านผู้เชี่ยวชาญ มีหลายประเภท ลูกค้าเพียงแค่ตอบแบบสอบถามไม่ถึง 3 นาที จะรู้เลยว่า คุณเหมาะสมกับพอร์ตการลงทุนแบบไหน รับความเสี่ยงได้แค่ไหน หลังจากนั้นก็ลงทุน ลงเงิน แต่ขั้นตอนต่อไปเราจะจัดการให้โดยทีมผู้เชี่ยวชาญ ลูกค้าก็เอาเวลาไปทำงานอย่างอื่นได้ ไม่ต้องกังวล”
สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Treasurist และดูแลด้านการตลาด บอกว่า “หลังจากนี้จะทำการตลาดเข้มข้นขึ้น ด้วยความที่มี influencer ในทีมอยู่แล้ว จะทำให้การกระจายการรับรู้เป็นไปวงกว้าง นอกจากนั้นจะซื้อโฆษณาใน Facebook และ Google เพื่อขยายฐานการรับรู้แบรนด์ให้มากขึ้น แต่แม้ว่าในช่วงแรกที่ยังไม่ได้ทำการจริงจังมากก็มีผู้ใช้งานเข้ามาใช้บริการอยู่ในระดับที่ดี”
น.สพ. ธนัฐ ศิริวรางกูร ผู้บริหารอีกคนของ Treasurist ระบุว่า “สำหรับการลงทุนในกองทุนรวม เมื่อลูกค้ากรอกแบบสอบถามทั้งหมดแล้ว เราจะจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม โดยดูจากความเสี่ยงที่รับไหว และสร้างส่วนผสมที่ลงตัวให้กับพอร์ตการลงทุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการลงทุนในกองทุนรวมดีกว่าการฝากเงิน เพราะอย่างน้อยๆ ก็จะได้ดิอกเบี้ยมากกว่าเงินฝากถึง 2 เท่าอยู่แล้ว และที่จริงไม่จำเป็นต้องใช้เงินสูงในการลงทุนอีกด้วย แค่หลักพันก็เริ่มได้แล้ว”
Treasurist ทำงานอย่างไร?
ขั้นแรกเข้าไปที่ที่นี่ แล้วทำแบบสอบถามเพื่อหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ขั้นตอนนี้ Treasurist บอกว่าใช้เวลาแค่ 3 นาทีเท่านั้น เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนแรกจะได้รับคำแนะนำที่เป็นรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับเรามาหนึ่งชุด หลังจากนั้นถ้าสนใจก็ใส่ e-mail เพื่อรับข้อมูลด้านการลงทุนเพิ่มเติม และหากสนใจก็เข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือคลิกที่คำว่า “เริ่มลงทุนตามแผนนี้” และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน
หลังจากขั้นตอนนี้นักลงทุนจะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของ บริษัท หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นพันธมิตรของ Treasurist เพื่อดำเนินการเปิดบัญชีและช่วยเริ่มลงทุนจริงตามแผนที่วางไว้
Treasurist บอกว่า พอร์ตที่เอามาแนะนำนั้นผ่านการกลั่นกรองมาจากกองทุนมากกว่า 800 กองทุนจาก18 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำ และที่น่าสนใจของสตาร์ทอัพรายนี้คือการใช้ Big Data ในการจัดการข้อมูลกองทุนรวมที่เก็บย้อนหลังไว้ถึง 10 ปี ทำให้ที่สามารถวิเคราะห์หากองทุนที่เจาะลึกแบบละเอียดให้กับลูกค้าได้ตามความต้องการ
ตั้งเป้า 1,000 ล้านบาทในปีนี้ วางแผนเอา Machine Learning มาใช้ด้วย
ที่จริงแล้ว Treasurist เปิดตัวมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2016 ถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้ว และแม้จะยังไม่ได้ทำการตลาดอย่างหนักหน่วงมากนัก แต่ก็มีเงินจากลูกค้าที่เข้ามาลงทุนในกองทุนรวมถึงกว่า 300 ล้านบาทแล้ว ทำให้ Treasurist ค่อนข้างมั่นใจว่าปีนี้จะมีคนเข้ามาลงทุนถึงหลัก 1,000 ล้านได้อย่างแน่นอน เพราะยังมีปัจจัยอื่นมาเสริมด้วย นั่นคือในปลายปีนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพสามารถเอาหุ้นเข้าสู่กองทุน/ตลาดหุ้นได้นั่นเอง และยังไม่จบแค่นั้น ตอนนี้ Treasurist ได้พัฒนา Machine Learning ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ระบบเรียนรู้ลูกค้าเพื่อจัดการกองทุน ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะไม่ต้องใช้มนุษย์ในการช่วยจัดพอร์ตการลงทุนอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้
สรุป
Treasurist สตาร์ทอัพช่วยจัดการพอร์ตกองทุนรวมอาสาเป็นตัวช่วยในการลงทุนให้กับคนทั่วไปที่ต้องการลงทุน แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนมากนัก โดยสตาร์ทอัพรายนี้มองว่าจุดแข็งของตัวเองคือการใช้งานง่าย เพียง 3 นาทีในการตอบคำถาม ลูกค้าก็ใช้งานได้แล้ว และยังประกอบกับข้อมูล Big Data ในกองทุนย้อนหลัง 10 ปีที่แน่นซึ่งจะทำให้คาดการณ์แนวโน้มตลาดได้อย่างดี
ต้องติดตามดูว่า สตาร์ทอัพรายนี้จะช่วยให้คนไทยหันมาลงทุนในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นได้หรือไม่ แต่ดูเหมือนว่า Treasurist กำลังมองตลาดต่างประเทศไว้ด้วย แต่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ตอนนี้จึงต้องโฟกัสที่ตลาดในประเทศไทยเป็นหลักก่อน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา