บทเรียนจาก “Forrest Gump” หยุดเสียใจ หลังตัดสินใจพลาด หนังปลอบประโลมใจระดับตำนาน

โดย ณัฐชนน โกสีย์ไกรนิรมล

ถอดบทเรียนจากหนังเรื่อง “Forrest Gump” หลายต่อหลายคนมักผิดหวังหลังตัดสินใจไปแล้ว แต่ Forrest Gump คือคนที่ไม่เคยฟูมฟายจากการตัดสินใจของตัวเองเลยสักครั้ง มาดูกันว่าหนังดังระดับตำนานเรื่องนี้ เค้าสะท้อนอะไรให้เราได้เรียนรู้บ้าง

Forrest Gump

คุณรู้สึกอะไรกับก๊วนเด็กที่ชอบเเกล้งฟอร์เรส คุณคิดอย่างไรกับเจนนี่ เคอเรน ที่ไม่เคยเข้าใจถึงความรักที่ฟอร์เรสมีให้เธอ จะเป็นอย่างไรถ้าปล่อยให้ผู้หมวดเเดนตายในสงครามตามที่เขาต้องการ หรือธุรกิจเรือกุ้งของบั๊บบาถือเป็นสุดยอดการลงทุนไหม ? คุณอาจจะมองเห็นเรื่องโง่ ๆ เต็มไปหมดภายในภาพยนตร์เรื่อง “Forrest Gump อัจฉริยะปัญญานิ่ม” เเต่เราอยากให้คุณกลับไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันที่รู้สึกเเย่กับตัวเอง

🏃‍♂️💨

ประโยคอมตะอย่าง “Life was like a box of chocolates. You never know what you’re gonna get.” หรือ” I don’t know if we have a destiny, or if we’re all just floating around accidental-like on a breeze, but I think maybe it’s both.” ที่ฟอร์เรสพูดขึ้นกับคนที่กำลังนั่งรอรถเมล์ ชวนครุ่นคิดถึงชีวิตว่า เราไม่สามารถคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ หรือ ประโยคที่ตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของโชคชะตาว่าจริง ๆ เเล้วเราทุกคนก็เเค่ล่องลอยอยู่บนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือว่าชีวิตก็เป็นได้ทั้งสองอย่าง

🏃‍♂️💨 🏃🏼🏃🏼

เเนวคิดนี้ถูกย้ำผ่านเรื่องราวของตัวละครที่อยู่รอบตัวฟอร์เรส ตอนที่ผู้หมวดเเดนเสียขาในสงคราม การที่ฟอร์เรสช่วยชีวิตผู้หมวดเเดนไว้เเม้ว่าจะต้องทำให้เขาสูญเสียขา และภายหลังกลายเป็นหุ้นส่วนความฝันของฟอร์เรสในธุรกิจเรือจับกุ้งตามที่เขาสัญญากับบั๊บบา เเม้ว่าจะเริ่มต้นอย่างยากลำบากเเต่สุดท้ายก็เหลือรอดเป็นเรือลำเดียวหลังจากพายุใหญ่ ทำให้สามารถหากุ้งเเละได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ หรือเรื่องราวของเจนนี่ก็บอกเล่าไอเดียความคิดของสิ่งที่เราเลือกได้เเละไม่ได้เช่นเดียวกัน

เจนนี่มีพ่อผู้ชอบใช้กำลังทำร้ายร่างกายเธอ ก่อนที่เธอตัดสินใจว่าจะย้ายออกเเละหนีไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ หรืออย่างตอนที่ฟอร์เรสเสียใจที่เจนนี่ทิ้งเขาไปจนทำให้เขาตัดสินใจเริ่มวิ่งเเล้วก็วิ่งจนกลายเป็นไอคอนดังระดับโลก ก่อนที่เขาจะตัดสินใจหยุดวิ่งเพียงเพราะว่าเขารู้สึกว่าต้อง ”พอเเล้ว”

หากเทียบระหว่างตัวละคร เราจะพบว่าเขาหรือเธอ เเสดงออกต่อทางเลือกของตัวเองต่างกัน การตัดสินใจสะท้อนจากวิธีคิดด้วย ตัวอย่างประโยคที่เจนนี่มักจะย้ำและเตือนกับฟอร์เรสตั้งแต่เด็ก คือการบอกให้เขาหนีปัญหา เมื่อไรก็ตามที่เจอปัญหา “If you’re ever in trouble, don’t try to be brave. You just run, just run away.” ด้วยฐานคิดเช่นนี้ เจนนี่จึงเลือกที่จะสู้กับปัญหาด้วยการวิ่งหนีปัญหาเสมอ ไม่เคยเลือกที่จะเผชิญปัญหาโดยตรงเลย

บางเหตุการณ์ผ่านเข้ามาเเบบเลือกไม่ได้ แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นเป็นทางเลือกที่เขาเลือกเอง ในขณะที่ตัวละครอื่นนั้นมักเเสดงออกถึงความเสียใจหลังจากการตัดสินใจเลือกบางสิ่งบางอย่าง เเต่ทำไมฟอร์เรสถึงไม่เคยเสียใจต่อการตัดสินใจของตัวเอง?

🏃‍♂️💨 🏃🏼🏃🏼💨

ทำไมการตัดสินใจถึงกลายเป็นเรื่องยากเสมอ?
ทำไมการตัดสินใจมักทำให้รู้สึกผิดหวังภายในจิตใจของเรา

สาเหตุหนึ่งมาจากเงื่อนไขที่ต้องตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเร่งรีบหรือระยะเวลาที่น้อยเกินไปจนทำให้ต้องรีบตัดสินใจ ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้น ๆ หากย้อนดูบทความของ Cheryl Strauss Einhorn เรื่อง Emotions Aren’t the Enemy of Good Decision-Making ที่หยิบยกบางส่วนมาอธิบายได้น่าสนใจว่า 92% จาก 2,000 คน กลัวการตัดสินใจผิดพลาด โดยมีสาเหตุมาจากความเร่งรีบในการตัดสินใจ

เมื่อเราเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากและซับซ้อน เราจะประสบกับอารมณ์ที่ยากต่อการรับมือและซับซ้อนกว่าปกติเช่นกัน ทำให้หลายต่อหลายครั้งเราเลือกที่จะรีบตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้จบอย่างรวดเร็วเพื่อให้เราเองรู้สึกสบายใจขึ้น เเต่ผลลัพธ์กลับผิดคาดเพราะในเวลาต่อมาผลที่ได้กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง นำมาซึ่งความเสียใจ เเละความผิดหวังต่อตัวเองที่รุนเเรงขึ้นและกลายเป็นวงจรความรู้สึกเชิงลบที่ยากจะสลัดทิ้ง
เหมือนการขับรถที่เเม้จะมีจุดมุ่งหมายอยู่เบื้องหน้าเเต่ยังต้องคอยมองกระจกหลังด้วยความผิดหวังจากสิ่งที่เลือกไปอยู่เสมอ

🏃‍♂️💨 🏃🏼🏃🏼💨 🏃🏼🏃🏼

จากภาพยนตร์เรื่องนี้ เราจะเห็นว่า ฟอร์เรสอาจเสียใจในบางฉาก เเต่ไม่ใช่จากสิ่งที่เขาได้เลือกหรือจากสิ่งที่เขาได้ตัดสินใจลงไปแล้ว

ประโยคคลาสสิคอีกประโยคหนึ่งที่ฟอร์เรสพูดขณะนั่งรอรถประจำทาง “My momma always said, ‘You’ve got to put the past behind you before you can move on” หากไม่ทิ้งอดีตไว้เบื้องหลังก็คงก้าวไปต่อไม่ได้ เพราะอย่างนั้นวิถีทางหลังจากตัดสินใจไปเเล้วต่างหากที่สำคัญว่าเราจะเลือกทำอย่างไรต่อไป

บางเหตุการณ์ผ่านเข้ามาเเบบที่เราไม่มีตัวเลือก แต่สิ่งที่เราทำกับชีวิตหลังจากนั้นเป็นทางเลือกที่เราล้วนเลือกเองทั้งสิ้น จะบอกว่าเป็นสิ่งถูกลิขิตไว้แล้วรอเพียงให้เราล่องลอยไปตามเส้นทาง หรือว่าเป็นการเลือกด้วยตัวเองก็ตามเเต่ สุดท้ายเเล้ว ทุกคนต่างมีมุมที่ต้องเลือก เเละเมื่อเลือกเเล้วเราก็ต่างเป็นคนโง่ในสายตาตัวเองเสมอหากเปรียบเทียบกับคนอื่น ฟอร์เรสอาจจะเป็นคนโง่เกินกว่าจะมานั่งให้อภัยตัวเอง หรือเป็นคนฉลาดที่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรและไม่แคร์สายตาของผู้อื่น เเต่สุดท้ายแล้วการเลือกอาจดีกว่า การไม่เลือกอะไรเลย หรือจริงๆ แล้ว การเลือกหรือการไม่เลือก ต่างก็ล้วนเป็นการตัดสินใจทั้งสิ้น

Forrest Gump

🏃‍♂️💨 🏃🏼🏃🏼 🏃🏼🏃🏼

หนังเรื่อง Forrest Gump ยังสะท้อนประเด็น “Zoom in generation” ได้ด้วย มันกลายเป็นคำศัพท์ใหม่ที่สร้างความน่าสนใจในการบอกเล่าพฤติกรรมใหม่ของมนุษย์ยุคสมาร์ทโฟน ที่ทุกอย่างล้วนถูกเปรียบเทียบผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับเพื่อน ๆ

ทุกคนต่างอวดแต่ด้านดี ๆ เสพติดการรับรู้ชีวิตของกันและกันมากเกินไป จนเกิดความไม่พอใจในชีวิตตัวเองเอาง่าย ๆ

คำอธิบายจากบทความเรื่อง How use of social media and social comparison affect mental health ชี้ภาพให้เราเห็นชัดเจนขึ้นว่า Social comparison คือการนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หากคนอื่นนั้นด้อยกว่า Self esteem ของผู้เปรียบเทียบก็จะสูงขึ้น แต่ความร้ายของเรื่องนี้ก็คือหากคุณเจอคนที่ดีกว่า มีหลายเรื่องที่คล้าย ๆ คุณหรือ ใช้ชีวิตแบบบเดียวกับคุณแล้วดันเก่งกว่า คุณจะเจ็บปวดหัวใจเป็นเหตุให้ Self Esteem ตกฮวบ

ในเรื่องนี้ผู้เขียนอยากเปรียบเทียบกับเรื่องความรักของฟอร์เรสที่มีต่อเจนนี่ คุณเคยเห็นฟอร์เรสเอาตัวเองไปเทียบกับแฟนแต่ละคนของเจนนี่ไหม คำตอบคือไม่ สิ่งที่เขาทำคือการคงความรักต่อเด็กผู้หญิงที่พูดกับเขาว่า Run Forrest Run! ใช่ครับ เขาก้มหน้าก้มตารักอย่างเดียว

การไม่เปรียบเทียบไม่ได้ทำให้เขาหนีจากความแห้ว อกหัก สาวไม่รับรัก แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เขายังมีพลังไปทำอีกหลายสิ่งหลายอย่างให้กลายเป็นฟอร์เรส ตัวละครที่เรารัก “Don’t ever let anybody tell you they’re better than you.” คือสิ่งที่เเม่สอนฟอร์เรสในวัยเด็ก เเต่หากปรับให้เข้ากับยุคสมัยก็คงเป็น “อย่าปล่อยให้ตัวเองบอกว่าคนอื่นดีกว่าตัวเรา (เพียงเพราะว่าเรามัวแต่ไปส่องชีวิตคนอื่น)”

🏃‍♂️💨 🏃🏼🏃🏼🏃🏻‍♀️🏃🏻‍♀️🏃🏻‍♀️🏃🏻‍♀️🏃🏼🏃🏻‍♀️🏃🏻‍♀️🏃🏼🏃🏼🏃🏼🏃🏼

หากคุณยังจำฉากวิ่งสุดไอคอนิกได้ เรื่องราวทุกอย่างคงชัดเจนที่ฉากนี้พอดี เมื่อตัดสินใจเเล้วเขาก็เเค่วิ่ง วิ่ง เเล้วก็วิ่ง เมื่อวันหนึ่งฟอร์เรสรู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่ตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไป เขาก็เเค่หยุดและไปทำอย่างอื่นแทน อย่างที่ทราบกันดีว่าแรงบันดาลใจอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมดเเต่เราหวังว่าภาพยนตร์ดี ๆ สักเรื่องจะช่วยให้คุณได้ทบทวนตัวเองเเละเปลี่ยนมุมมองให้คุณได้ไม่มากก็น้อย

Reference – HBR (1), (2), Nursing Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา