อายิโนะโมะโต๊ะ คือหนึ่งในผู้นำของตลาดผงชูรส และเครื่องปรุงรสอย่างไม่ต้องสัย เพราะเป็นผู้ค้นพบรสชาติอูมามิ และนำรสชาตินั้นพัฒนาสินค้าต่าง ๆ จนแข็งแกร่งทั้งในประเทศญี่ปุ่น และตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก
แต่กระแสรักสุขภาพ และรักษ์โลกเติบโตต่อเนื่อง อายิโนะโมะโต๊ะ คงใช้จุดแข็งเรื่องดังกล่าวทำตลาดในระยะยาวไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการปรับวิสัยทัศน์องค์กรครั้งสำคัญเพื่อมุ่งสู่องค์กรเพื่อสุขภาวะมนุษย์ สังคม และโลกของทุกคน
จากจำหน่ายผงชูรส และเครื่องปรุงอื่น ๆ อายิโนะโมะโต๊ะ จะทำอย่างไรเพื่อไปถึงเป้าหมายดังกล่าว Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ อิชิโระ ซะกะกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ดังนี้
กรดอะมิโน ที่ขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น
อิชิโระ ซะกะกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า บริษัทคือผู้นำในการผลิตกรดอะมิโน และกรดอะมิโนคือส่วนประกอบสำคัญในการทำตลาดสินค้าต่าง ๆ ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มรสชาติความอร่อย, การใช้เพื่อรักษาสุขภาพ, การใช้งานในทางโภชนาการ และการใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
“ตั้งแต่ผงชูรส, อาหารเสริม, อาหารทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น แผ่นฟิล์มอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้ล้วนมีกรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกรดอะมิโนต่อ อะยิโนะโมะโต๊ะ และหลังจากนี้เราจะใช้ AminoScience เพื่อให้มนุษย์, สังคม และโลกของเราได้อยู่ดีมีสุข”
อย่างไรก็ตามเมื่อปีงบประมาณ 2021 หากแบ่งตามสัดส่วนรายได้ของ อายิโนะโมะโต๊ะ กรุ๊ป จะพบว่า รายได้จากธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร เช่น เครื่องปรุงรส และอาหารแช่แข็งจะกินสัดส่วนถึง 70% ส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจเกี่ยวกับ AminoScience เช่น สินค้าสุขภาพ และอื่น ๆ แต่ในปี 2030 ทั้งสองธุรกิจจะมีสัดส่วนเท่ากัน
ยกระดับสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพของมนุษย์
หากเริ่มที่การยกระดับสุขภาพของมนุษย์จะพบว่า อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) มีการเตรียมทำตลาดสินค้าที่เน้นเรื่องโภชนาการมากขึ้น เช่น กลุ่มเครื่องปรุง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีโซเดียมต่ำ หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย หรือปราศจากน้ำตาล
นอกจากนี้ยังเตรียมทำตลาดสินค้าเกี่ยวกับโภชนาการทางกีฬา เช่น กรดอะมิโน BCAA ที่ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ รวมถึงสินค้าอาหารเสริมต่าง ๆ ที่มีกรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบหลักที่กำลังเตรียมเปิดตัวหลังจากนี้ แต่ยังไม่สามารถระบุแบรนด์ หรือประเภทสินค้าได้
“ประเทศไทยอยู่ระหว่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และ อะยิโนะโมะโต๊ะ ต้องการเข้าไปดูแลคนไทยกว่า 3 ล้านคน เพื่อให้พวกเขามีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยบริษัทจะเปิดตัวสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ และโภชนาการมากกว่า 10 อย่าง ภายในปี 2030 เช่น สินค้าที่ช่วยเหลือการเคลื่อนไหวผู้สูงอายุ และสินค้าที่ดูแลคุณภาพในการนอนหลับ เป็นต้น”
สังคม และโลกก็ต้องไม่ทิ้งการลงทุน
ขณะเดียวกัน อะยิโนะโมะโต๊ะ ยังวางแผนลงทุนในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบที่จะสร้างกับสังคม และโลกลง 50% ภายในปี 2030 เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% และการไม่ก่อให้เกิดขยะพลาสติก รวมถึงลดการเกิดขยะจากอาหารต่าง ๆ 50% และคืนน้ำที่ใช้กลับสู่ธรรมชาติอีก 80% เช่นกัน
“อะยิโนะโมะโต๊ะ จะช่วยเกษตรกรในประเทศไทยด้วย เนื่องจากเราใช้มันสำปะหลังถึง 2 แสนตัน/ปี หรือคิดเป็น 20% ของผลผลิตมันสำปะหลังที่จำหน่ายในประเทศไทย 1 ล้านตัน/ปี เราจึงต้องช่วยเกษตรกรในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การกำจัดโรคเกี่ยวกับพืชอย่างถูกต้องเพื่อเติบโตไปด้วยกัน”
สำหรับในประเทศไทย อะยิโนะโมะโต๊ะ แบ่งสินค้าเป็น 3 กลุ่มคือ
- ผลิตภัณฑ์ค้าปลีก เช่น เครื่องปรุงรส, เครื่องดื่ม, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
- ผลิตภัณฑ์ธุรกิจบริการอาหาร เช่น กลุ่มสินค้าข้างต้นที่จำหน่ายเข้าไปที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ
- ผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรม เช่น เอนไซม์จากกรดอะมิโนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ผลิตสินค้าเชิงธุรกิจ
หากแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้ในประเทศไทยจะพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้จะมาจากกลุ่มสินค้าเครื่องปรุงรส ส่วนที่เหลือจะมาจากเครื่องดื่ม 25% เช่น กาแฟเบอร์ดี้ และอีก 25% จะมาจากการจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ในรูปแบบธุรกิจ หรือ B2B ส่วนสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก
ถึงจะไปสุขภาพ แต่ผงชูรสก็ไม่ทิ้ง
อย่างไรก็ตาม อะยิโนะโมะโต๊ะ ยังมีการลงทุนในธุรกิจเครื่องปรุง โดยเฉพาะผงชูรส เพราะตลาดดังกล่าวยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนจะมาในรูปแบบการยกระดับการผลิต เช่น การใช้ระบบออโตเมชันเพื่อรับกับกระแสขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเรื่องนี้จะทำควบคู่กับการทำตลาดเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องประโยชน์ของกรดอะมิโนในแง่มุมต่าง ๆ
“ผงชูรสยังเป็นสินค้าหลักของเรา และถึงจะมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโทษของผงชูรส เช่น รับประทานแล้วผมร่วง หรือในฟิลิปปินส์มีเรื่องหากสุนัขรับประทานจะเสียชีวิต ซึ่งยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นอย่างนั้น ดังนั้นอย่าตระหนกว่าผงชูรส หรือ MSG จะเป็นอันตราย”
อิชิโระ ซะกะกุระ ย้ำว่า ผงชูรส หรือ MSG (Monosodium Glutamate) อยู่ในวัตถุดิบต่าง ๆ ตามธรรมชาติ เช่น มะเขือเทศ, น้ำปลา และอื่น ๆ ส่วนเรื่องการขึ้นราคาสินค้านั้น บริษัทมีมาตรการศึกษาอยู่ตลอดเพื่อปรับให้เข้ากับความเหมาะสมในการทำตลาด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา