หลังเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี 2019 พร้อมขยายบริการไปในประเทศต่าง ๆ ของภูมิภาคของอาเซียนปี 2020 ปัจจุบัน WeTV ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของตลาดบริการสตรีมมิงในระดับอาเซียนอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งหลัก ๆ มาจากความแข็งแกร่งด้านคอนเทนต์ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์จีน, ซีรีส์วาย, อนิเมะ รวมถึงซีรีส์ไทยที่ร่วมกันพัฒนากับผู้ผลิตในประเทศท้องถิ่น ประกอบกับการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์หลากหลายอุตสาหกรรมเพื่อทำตลาด เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม, บริการทางการเงิน และค้าปลีกต่าง ๆ เป็นต้น
ความสำเร็จของ WeTV ในปี 2023 มีรายละเอียดอย่างไร ปี 2024 WeTV จะเดินหน้ากลยุทธ์ธุรกิจแบบไหน รวมถึงมีคอนเทนต์น่าสนใจอะไรบ้าง Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ดังนี้
อาเซียน ตลาดที่ OTT มองข้ามไม่ได้
กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า WeTV เริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยปี 2019 และเริ่มขยายธุรกิจไปให้บริการในประเทศต่าง ๆ ของภูมิภาคอาเซียนช่วงปี 2020
การขยายพื้นที่ให้บริการเป็นการทำควบคู่ไปกับการลงทุน เช่น การควบรวมกิจการ iFlix เพื่อเพิ่มความหลากหลายของคอนเทนต์ในปี 2021 และปี 2022 มีการลงทุนใน MD Picture ผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ของอินโดนีเซียเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการทำตลาด รวมถึงปี 2023 มีการเพิ่มความสำคัญของคอนเทนต์ท้องถิ่นในไทยเพิ่มเติม
“ภาพรวมตลาด OTT ในอาเซียนปี 2023 มีมูลค่าคาดการณ์รวมกว่า 3,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2030 มีโอกาสที่ตัวเลขนี้จะเติบโตไปที่ 8,590 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตต่อปีเฉลี่ย 14% เพราะตอนนี้ภูมิภาคอาเซียนมีประชากรรวม 686 ล้านคน มีผู้รับชม OTT 200 ล้านคน ซึ่งไทยคือประเทศที่มีผู้ใช้งานเป็นอันดับต้น ๆ ของตลาด”
เจาะลึกตัวเลขในประเทศไทยที่โตต่อเนื่อง
อีกตัวเลขที่น่าสนใจของ OTT ในอาเซียนคือ จำนวนการรับชม OTT เฉลี่ยต่อเดือนรวมกันถึง 97,000 ล้านชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 22% โดยแต่ละคนจะรับชมเฉลี่ยคนละ 48.6 ชั่วโมง ต่อเดือน ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดเช่นกัน
จุดนี้เองทำให้ WeTV ในประเทศไทยมียอดคาดการณ์ดาวน์โหลดในปี 2023 ถึง 45 ล้านดาวน์โหลด มีผู้ใช้งานต่อเนื่อง 13.5 ล้านบัญชี/เดือน และตัวเลขดังกล่าวทำให้ WeTV ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของผู้ให้บริการสตรีมมิงแบบมีโฆษณา หรือ AVOD และเป็นอันดับ 2 ของผู้ให้บริการสตรีมมิงแบบสมัครสมาชิก หรือ SVOD
“ตอนนี้ WeTV ให้บริการที่อาเซียนในประเทศอินโดนีเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และไทย โดยหากวัดตามจำนวนชั่วโมงการรับชมไทยถือเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคนี้ ผ่านระยะเวลาเฉลี่ย 120 นาที/วัน และหากวัดทั่วโลก WeTV ให้บริการทั้งหมด 173 ประเทศ และมียอดดาวน์โหลดรวมกว่า 205 ล้านดาวน์โหลด”
จากซื้อลิขสิทธิ์ สู่การรุกผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเอง
หนึ่งในจุดที่ทำให้ WeTV ก้าวสู่ความสำเร็จนี้ได้เนื่องจากการใช้กลยุทธ์ผลิตคอนเทนต์ของตัวเอง หรือ WeTV ORIGINAL ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมามีการผลิตถึง 56 เรื่อง ซึ่งตลาดหลักที่มีการผลิตออริจินัลคอนเทนต์มากที่สุด คือ อินโดนีเซีย และไทย และหลังจากนี้จะใช้กลยุทธ์ดังกล่าวอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
“หลังจากนี้เราจะเน้นทำคอนเทนต์ของตัวเอง และเดินหน้าพัฒนาซีรีส์วายมากกว่าการทำคอนเทนต์แมส รวมถึงการสร้างสรรค์ซีรีส์แนวใหม่ ๆ จากเดิมที่ยังติดอยู่แค่บางเส้นเรื่อง ควบคู่ไปกับการรุกพัฒนาศิลปินของตัวเองผ่านการร่วมมือกับ HEADLINER THAILAND “
โดยในการทำตลาดระดับโลก WeTV ได้ดึง จ้าวลู่ซือ นักแสดงจีนชื่อเสียงระดับโลก เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เพื่อช่วยสื่อสารการตลาด ซึ่งในประเทศไทย จ้าวลู่ซือ จะเข้ามาช่วยสื่อสารเรื่องนี้เช่นกัน ควบคู่ไปกับการเป็นนักแสดงนำในคอนเทนต์ต่าง ๆ ของ WeTV
เปิดกลยุทธ์สร้างการเติบโตของ WeTV
กนกพร เสริมว่า กลยุทธ์หลักในการสร้างการเติบโตของ WeTV ในปี 2024 โดยเฉพาะในประเทศไทยจะเริ่มทำตั้งแต่การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่, การเพิ่มความหลากหลายให้กับคอนเทนต์ และการเพิ่มรูปแบบรายการที่ให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้ชมเช่นกัน
“ถ้าเจาะไปที่ความหลากหลายของซีรีส์วาย ในปี 2024 จะมี 6-8 เรื่อง และหลายรายแนว เช่น ซีรีส์วายแนวสืบสวน และศิลปินต่าง ๆ ที่เข้ามาเล่นจะเซ็นสัญญากับ HEADLINER THAILAND ซึ่งหากเรื่องดังกล่าวประสบความสำเร็จในระดับโลก ก็จะมีโอกาสที่ต่อยอดธุรกิจไลเซนซิงได้เช่นเดียวกัน”
ที่สำคัญในปี 2024 ครั้งแรกของประเทศไทย ในการผลิตรายการไอดอลเซอร์ไววัลระดับเอเชียอย่าง CHUANG ASIA รายการชื่อดังจาก Tencent Video โดยจะเฟ้นหาเด็กฝึกทั่วโลก เพื่อมาเดบิวต์เป็นวงเกิร์ลกรุ๊ประดับนานาชาติ อีกทั้งยังได้ค่าย RYCE Entertainment มารับหน้าที่ดูแลการเดบิวต์เกิร์ลกรุ๊ปในครั้งนี้ และเปิดเซอร์ไพร์สกับ แจ็คสัน หวัง เข้ามาเป็น Lead Mentor ของรายการ นอกจากนี้ CHUANG ASIA ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ Have Fun Media, one31, GMMTV, และ 411 Entertainment ที่เข้าร่วมเสริมความแข็งแกร่งในด้านการผลิตรายการ
ตั้งเป้าเติบโต 2.5 เท่า และเป็นตัวกลางเชื่อมต่อแบรนด์กับลูกค้า
จากกลยุทธ์ดังกล่าว WeTV ตั้งเป้าการรับชมคอนเทนต์ไทยเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ควบคู่ไปกับการเป็นพื้นที่กลางให้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถทำตลาดเพื่อสื่อสารไปถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำโฆษณาในซีรีส์, การร่วมจัดกิจกรรมต่าง ๆ หรือการนำศิลปินดาราในสังกัด HEADLINER THAILAND เป็นพรีเซนเตอร์
“การลงโฆษณาของแบรนด์ต่าง ๆ เติบโตขึ้น 30% ในมุมรายได้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นใน WeTV จากนักโฆษณา ซึ่ง CHUANG ASIA น่าจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้เราแข็งแกร่งเรื่องซีรีส์วาย ยังทำให้หลายแบรนด์เลือก WeTV เป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมต่อกับผู้บริโภคที่ชื่นชอบเรื่องนี้ด้วย”
ทั้งหมดนี้คือความแข็งแกร่งของ WeTV ที่เตรียมเดินหน้าธุรกิจในปี 2024 เพื่อเติบโตในตลาด OTT ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ผ่านการทำเนื้อหาที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับ Original Content หรือ Exclusive Content เพราะปัจจุบันใน 1 คน ไม่ได้มีแค่แอปพลิเคชัน OTT ตัวเดียว และใครที่ครองใจผู้บริโภคได้มากกว่าย่อมเป็นผู้ชนะศึกนี้
ติดตามคอนเทนต์คุณภาพจากทั่วทั้งเอเชียได้ที่แอปพลิเคชัน WeTV และ www.WeTV.vip พร้อมติดตามข่าวสารอัปเดตผ่านทางโซเชียลมีเดีย WeTV Thailand ทุกช่องทาง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา