จากการประชุมล่าสุดในเดือนก.ย. 2566 นี้พบว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามคาดของตลาด แต่ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยฯ ที่อาจสูงในระดับต่อเนื่องนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อใดยังคงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกจับตามอง
เบื้องต้นหลายฝ่ายคาดว่าอัตราดอกเบี้ยฯ จะคงอยู่ระดับสูงไปจนถึงสิ้นปี 2566 นี้ ขณะเดียวกันตลาดยังติดตามว่าโอกาสที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกในปีหน้าหรือไม่ (โดยต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐและอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป)
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มุมมองของเจ้าหน้าที่ Fed ที่เปลี่ยนแปลงไปใน dot plot (เครื่องมือที่แสดงถึงแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ของ Fed) ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยฯ ของสหรัฐฯ อาจทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน
และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับทบทวนขึ้น สะท้อนสัญญาณคุมเข้มต่อเนื่องของ Fed แม้ในการประชุมรอบนี้ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% และเปิดโอกาสสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ไว้ตามเดิมก็ตาม
ขณะที่ด้านตลาดหุ้น บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกไตรมาส 4 ปี 2566 คาดชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจากการเผชิญ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized slowdown)
- ดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น (Higher for longer) โดยคาดดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ระดับปัจจุบันที่ 5.4% จนถึงสิ้นปี
- ความแตกต่างระหว่างสหรัฐที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะยุโรปและจีนที่จะชะลออย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1% จากประมาณการณ์เดิม ทำให้คาดว่ากระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดไทยอีกครั้ง ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ประเมินเป้าหมาย SET Index สิ้นปี 2566 ไว้ที่ 1,650 จุด
ด้านกลยุทธ์การลงทุน แนะนำซื้อหุ้นที่กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนและได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ชี้เป้าหุ้นเด่นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ได้แก่ AOT, BCH, CRC, KCE, และ KTB พร้อมทั้งกระจายการลงทุนไปยังประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่จะได้รับประโยชน์จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน อีกทั้ง ยังมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ที่มีโอกาสเติบโตได้มาก เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย
ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ และ Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา