Working: What We Do All Day หนังสารคดีจากค่าย Netflix ที่สะท้อนโลกจริงของการทำงาน
หนังเปิดตัวด้วย Barack Obama ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2 สมัยจากพรรคเดโมแครตเล่าถึงทีมงาน เล่าถึงสิ่งสำคัญที่เตือนใจเขาขณะที่ทำงานในห้องทำงานรูปไข่และวิถีชีวิตของเขา (Barack Obama และ Michelle ก่อตั้งบริษัทผลิตสื่อ ชื่อบริษัท Higher Ground Productions หนังเรื่อง Working: What We Do All Day ก็มี Obama และ Michelle เป็น Executive Producer ด้วย)
Obama เล่าถึงสมัยเรียนที่เขาได้อ่านหนังสือชื่อเรื่อง Working โดย Studs Terkel ที่บันทึกเรื่องราวชีวิตคนทำงานหลากหลาย สิ่งที่เขาทำก็คือการพูดคุยกับผู้คนเกี่ยวกับชีวิตในการทำงาน หนังปูพื้นการทำงานตั้งแต่สมัยยุค 90 การเข้ามาของเครื่องจักร การเริ่มต้นยุค AI มาจนถึงยุคปัจจุบันคือ Remote Work
หนังเรื่องนี้แบ่งเป็น 4 ภาค ดังนี้ Service Jobs, The Middle, Dream Jobs และ The Boss และนี่คือข้อคิดที่ได้จากหนังสารคดีด้านการทำงานเรื่อง “Working: What We Do All Day” พาร์ทแรก “Service Jobs”
Service Jobs (งานบริการ): แบ่งเป็นงานโรงแรม: งานแม่บ้าน, งาน Homecare งานผู้ดูแลผู้สูงวัย และงาน Delivery
1) งานบริการล้วนเป็นงานที่แข่งกับเวลาทั้งสิ้น เช่น งานโรงแรม ในที่นี้พูดถึงพนักงานทำความสะอาด ต้องคอยเช็คของเหลือ ของขาด จัดเตรียมความพร้อมต้อนรับลูกค้า และตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าร้องขอหรือตำหนิ เป็นงานที่แข่งกับเวลา ภายใน 1 วัน มีเวลากี่ชั่วโมงในการทำความสะอาดห้องพักตามจำนวนที่กำหนด เจอหน้าลูกค้าต้องทักทายแม้ไม่ได้รับการทักกลับ
2) งาน Homecare นอกจากตอบสนองความต้องการของลูกค้าก็ต้องมีความรู้ ต้องฝึกทักษะในการดูแลผู้สูงวัยด้วย ทั้งการเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นในการกู้ชีพ นี่ก็งานแข่งกับเวลา เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็ต้องบริหารเวลาได้
3) งานให้บริการด้าน IT ในที่นี้หมายถึงงานเดลิเวอรี่ ส่งอาหารให้ลูกค้า นี่ก็งานแข่งกับเวลา จะทำอย่างไรให้ส่งอาหารได้ตรงกับที่ลูกค้าสั่ง ส่งได้ทันเวลาในขณะที่ตัวเองยังขับรถหลงทางอยู่ เป็นต้น
ทั้งสามงานที่ว่ามานี้พูดถึงบริบทงานที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นงานภาคบริการที่พนักงานมีรายได้หรือค่าตอบแทนที่ต่ำเนื่องจากไม่ได้ใช้ทักษะมาก ทั้งพนักงานทำความสะอาด พนักงานดูแลผู้สูงวัยและพนักงานส่งอาหาร
ทำไมคนถึงเลือกทำงานที่ค่าตอบแทนต่ำ ทั้งที่เนื้องานแสนเหนื่อย?
ประเด็นของงานทั้ง 3 ประเภทที่ว่ามาก็คือ ค่าตอบแทนต่ำ แต่เป็นงานที่ค่อนข้างเหนื่อย ต้องแข่งกับเวลา แลกกับความไม่สะอาด (เช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานดูแลผู้สูงวัย) และความไม่สะดวก บางครั้งต้องแลกกับผลกระทบทางสุขภาพจิตด้วย แต่ก็เป็นงานที่หาได้ง่าย มีการเปิดรับสมัครงานตลอดเวลา หลายคนย้ายเข้ามาทำงานในเมืองหลวงในตำแหน่งนี้เพราะในชนบทไม่มีงานให้ทำ แม้จะมีให้ทำก็เป็นงานที่ขูดรีดมากเกินไป
งานที่ดีคืออะไร? คุณค่าและความหมายของงานที่ดี?
Obama พูดถึงงานที่ดีว่า “มันจะต้องเป็นงานที่คุณรู้สึกว่าคุณมีตัวตน งานนั้นมันมีคุณค่า มีความหมาย เป็นงานที่เปิดโอกาสให้คุณได้เติบโต” จากนั้นเขาก็ยกตัวอย่างสิ่งที่พนักงานได้รับในยุค 80 กับยุคปัจจุบันนั้นแตกต่างกัน
ขณะที่คนทำงานพิเศษหลายชิ้น มีสถานะอยู่ในระดับฐานรากของสังคมพูดถึงงานที่ดีว่า “มันจะต้องเป็นงานที่คุณทำแล้วมีความสุข ขณะเดียวกันคุณก็ต้องมีเวลาเหลือมากพอที่จะทำเรื่องส่วนตัว ทำเรื่องที่ทำให้คุณมีความสุขในการใช้ชีวิตด้วย”
ขณะที่คนยุคก่อนมองประเด็นเรื่องการทำงานว่า การทำงานไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาหาความสุขจากสิ่งที่ทำ ไม่จำเป็นต้องมีความหมาย แต่มันคืองานที่ทำให้คุณมีเงินพอจะจ่ายค่าใช้จ่ายที่มีแต่ละวันได้ ยุคสมัยต่าง ความหมายของคุณค่าจากการทำงานก็ต่างกัน
Obama พูดถึงการทำงานในยุค 80 ว่า คุณมีสวัสดิการในการดูแลด้านสาธารณสุข มีวันหยุดพักร้อนยาวนาน 4 สัปดาห์ต่อปีเป็นวันหยุดที่ไม่ต้องหักเงินคุณด้วย (Paid Leave) มีรายได้ที่เพียงพอต่อการจ่ายค่าเรียนพิเศษหรือเรียนแบบพาร์ทไทม์ได้ มีโบนัสทุกปี มีเมนทอร์ที่ช่วยให้คุณเก่งมากขึ้น จากนั้นก็ยกตัวอย่างคนที่สามารถพลิกชีวิตจากการเป็นแม่บ้านบริษัท สู่การเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรได้ แต่ในยุคปัจจุบัน คุณต้องถีบตัวเองจากการทำงาน 2-3 อาชีพเพื่อจะเลี้ยงชีพได้ แถมยังไม่มีสวัสดิการรองรับแบบยุคก่อน เป็นการทำงานภายใต้สัญญาจ้าง
เรื่องนี้สามารถหยิบยกมาอธิบายถึงโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป และทำให้ผู้คนไม่สามารถปั้นตัวเองจากระดับศูนย์ให้เติบโตกลายเป็นชนชั้นนำได้ ความคิดยุคเก่าและความคิดชุดเดิมๆ ที่คนมักหยิบมาอธิบายว่า เราจะสร้างตัวเองให้เติบโตได้ด้วยตัวเอง เพราะทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน โดยไม่มองปัจจัยของโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน นั่นคือชุดคำอธิบายที่ตกยุคไปแล้ว เลิกอ้างเสียที
นอกจากความหมายของการทำงานและเนื้องานที่เปลี่ยนไปตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงแล้ว หนังสารคดีมักมีความสนุกตรงที่ว่า มันคือเรื่องจริงที่บอกเล่าจากคนทำงานจริงๆ ไม่ได้ใช้จินตนาการอย่างเดียว มันทำให้เราได้รับความรู้ที่แตกต่างจากการรับรู้ที่มีอยู่เดิม
ภาคแรกของหนังเรื่องนี้ตัดสลับการวิเคราะห์ภาพรวมซึ่งเป็นภาพใหญ่ที่บรรยายโดย Obama สลับกับภาพการทำงานของคนทำงานจริงๆ และยังได้สะท้อนภาพที่หลายคนสงสัยว่า ทำไม? คนทำงานบางคนถึงทำงานที่เก่า ที่เดิมยาวนานถึง 10-20 ปีได้ มันเป็นเรื่องที่คนเปลี่ยนงานทุกปีหรือเปลี่ยนงานทุก 2-3 ปีไม่อาจทำความเข้าใจได้
แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้งานที่ทำจะหนัก แต่ถ้าคนทำงานเหล่านั้นเขาพอใจกับการทำงานแบบเดิมที่มันเข้ากับจังหวะการใช้ชีวิตของเขา งานที่มันไม่ขูดรีดเขามากเกินไป ก็ทำให้เขาทำงานอยู่ที่เดิมได้อย่างยาวนานถึง 10-20 ปี
นอกจากเหตุผลดังกล่าวที่สะท้อนว่างานที่ดีจะทำให้ผู้คนอยู่ในองค์กรได้นานแล้ว งานนั้นต้องตอบโจทย์ชีวิตหรือเป้าหมายของคนทำงานด้วย ยิ่งถ้าเคยมีประสบการณ์แย่ๆ จากการทำงานในอดีต จะยิ่งทำให้ผู้คนประเมินและสามารถเปรียบเทียบได้ว่า งานแบบไหนที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของพวกเขา
หนังยังเล่าย้อนไปสมัย 100 ปีที่แล้ว สมัยที่พนักงานโรงงานทำงานนับสิบชั่วโมงต่อวันเพื่อแลกกับเงินไม่กี่เหรียญ จนทำให้คนเครียด ป่วย ไปจนถึงเกิดภาวะซึมเศร้า จนในที่สุดก็เกิดการผลักดัน New Deal ภายใต้การนำของ Franklin D. Roosevelt ประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยปกป้องชีวิตคนทำงานได้ ทั้งการกำหนดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ไปจนถึงการมีประกันสังคมด้วย
นี่คือข้อคิดจากหนังเรื่อง Working: What We Do All Day จาก Netflix แค่ภาคแรกเท่านั้น ยังเหลืออีก 3 ภาคให้ตามต่อ สำหรับภาคนี้เหมาะสำหรับคนทำงานที่ยังหาความหมายจากการทำงานไม่เจอ และยังค้นหาคุณค่าของการทำงานอยู่ ตลอดจนคนที่ยังไม่รู้ว่า อะไรกันแน่คือความหมายของงานที่ดี และยังเหมาะกับคนทำงานที่อยากเรียนรู้ชีวิตการทำงานของคนอื่นที่อยู่นอกขอบข่ายงานของตัวเองด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา