ttb กางแผนช่วยมนุษย์เงินเดือนปลดหนี้ ย้ำรวบหนี้และสินเชื่อสวัสดิการ ตั้งเป้าช่วย 1.7 แสนคนใน 3 ปี

ทีเอ็มบีธนชาติ (ttb) กางแผน Ecosystem Play Business Model 1 ใน 3 กลยุทธ์สำคัญในปีนี้ มุ่งจัดการเรื่องเงินของลูกค้าให้ดีขึ้นโดยเน้นที่ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ คนมีรถ คนมีบ้าน และกลุ่มมนุษย์เงินเดือน พร้อมการพัฒนาเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ผ่านบริการธุรกรรมบนแอป ttb touch

คนมีรถ

ttb เผยว่าที่ผ่านมาได้เพิ่มฟีเจอร์ My Car บนแอป ttb touch เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรถเพื่อให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับรถยนต์ได้ง่ายขึ้นและจะพัฒนาต่อให้เจ้าของรถยนต์สามารถใช้บริการครบวงจรผ่านแอป ทั้งการเลือกประกันรถยนต์ที่มีหลายสิบเจ้า จ่ายพ.ร.บ. ต่อภาษีรถยนต์ ประเมินราคารถยนต์เมื่อต้องการขาย ไปจนถึงการเติมเงินและตรจสอบยอดเงินคงเหลือ Easy Pass 

นอกจากนี้ ยังพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อ-ขายรถยนต์ที่เรียกว่า “รถโดนใจ” เพื่อช่วยธุรกิจรถยนต์ทั้งเต้นท์รถมือสอง บริษัทให้เช่ารถยนต์ และโชวร์รูมชายรถยนต์ โดยธนาคารจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้

ปัจจุบัน มีผู้นำรถยนต์มาลงทะเบียนใช้ฟีเจอร์ My Car กว่า 580,000 คัน มีผู้ใช้มากกว่า 150,000 คนต่อเดือน ขณะที่ฝั่งธุรกิจผู้ขายรถยนต์เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มแล้วกว่า 1,200 รายในช่วง Soft Lauch 

คนมีบ้าน

ธนาคารเพิ่งเปิดตัวบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ttb Global House เพื่อคนมีบ้าน ปัจจุบันมียอดบัตรใหม่อยู่ที่ราว 30,000 ใบในช่วงระยะเวลา 2 เดือน ส่วนในเร็ว ๆ นี้ จะเพิ่มฟีเจอร์ My Home บนแอป ttb touch แบบเดียวกับฟีเจอร์ My Car เพื่อให้ลูกค้าจัดการเรื่องบ้านได้สะดวกขึ้น

มนุษย์เงินเดือน

สำหรับกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานในบริษัทที่ใช้บัญชีเงินเดือน Payroll ttb ได้เปิดตัวฟีเจอร์ My Tax เพื่อช่วยเรื่องการคำนวณภาษี การจัดการภาษีพร้อมช่องทางลดหย่อนภาษี โดยในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถยื่นภาษีผ่านแอปได้ 

ในช่วงปลายปีนี้ ttb จะเพิ่มฟีเจอร์ My Work เพื่อเจาะกลุ่มบริษัทที่มีปัญหาเรื่องการทำบัญชี Payroll ให้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs สามารถคำนวณเงินเดือนและโอนจ่ายเงินเข้าบัญชีพนักงาน ทำเอกสารการเบิกจ่ายต่าง ๆ ได้ผ่านฟีเจอร์นี้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ ฝั่งพนักงานเองก็สามารถบันทึกเวลาเข้า-ออกจากงาน จัดการวันลา เบิกจ่าย และขอนุมัติต่าง ๆ ได้ภายในแอป

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยังเผยอีกว่า ปัจจุบันธนาคารมีโครงการที่เรียกว่า “โปรแกรมปลดหนี้เพื่อพนักงานทีทีบี” ที่ให้พนักงานสามารถตรวจสุขภาพการเงินออนไลน์ เรียนรู้วิชาการเงินผ่าน E-Learning ที่เน้นทั้งการปลดหนี้และสร้างภูมิคุ้มกันจากการเป็นหนี้ซ้ำ  ถ้าสุขภาพการเงินไม่ดีก็จะได้รับคำแนะนำจากโค้ชการเงินที่จะให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว โดยมีแผนที่จะขยายโครงการนี้ไปสู่ประชาชนทั่วไปในอนาคต

โปรแกรมรวมหนี้และสินเชื่อสวัสดิการ

นอกจากนี้ ฐากร ปิยะพันธ์ ยังเผยว่า กลุ่มมนุษย์เงินเดือนเป็นหนึ่งในกลุ่มที่กำลังเผชิญปัญหาเรื่องหนี้มากที่สุดพร้อมเปิดแผนช่วยปลดหนี้อีก 2 โครงการ คือ การรวบหนี้และการให้สินเชื่อสวัสดิการ สำหรับการรวบหนี้มีเพื่อให้การเงินมีสภาพคล่องและลดดอกเบี้ยสำหรับกลุ่มที่มีประวัติการชำระเงินดี ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการนี้ 5,000 คน วงเงินสินเชื่อรวม 3,600 บาท แบ่งเบาภาระดอกเบี้ยได้มากกว่า 400 ล้านบาท โดยพบว่ามีพนักงานเงินเดือนกว่า 95% ที่เข้าร่วมโครงการนี้  

สำหรับสินเชื่อสวัสดิการ ttb นำเสนอสินเชื่อแบบอเนกประสงค์แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อให้ชำระดอกเบี้ยน้อยลง เริ่มที่ 7.99% ต่อปี และตั้งแต่ปีที่แล้ว ttb ได้ขยายตลาดสินเชื่อสวัสดิการอเนกประสงค์ด้วยการลงนามความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันรวมกว่า 1,000 บริษัท รวมมีพนักงาน 300,000 คน

ttb ตั้งเป้าช่วยปลดหนี้ภายใน 3 ปี ผ่านโครงการรวบหนี้ 20,000 คน วงเงินรวบหนี้ 18,000 ล้านบาท ช่วยลดดอกเบี้ยได้ 2,000 ล้านบาท ส่วนโครงการสินเชื่อสวัสดิการ ตั้งเป้าไว้ว่าจะช่วย 150,000 เป็นวงเงิน 30,000 ล้านบาท และจะช่วยลดดอกเบี้ยให้ได้ 3,600 ล้านบาท

ที่มา – ttb

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา