140 ปี ไปรษณีย์ไทย หนึ่งในองค์กรเก่าแก่ของไทย กับการขายความเก๋าสู้ศึกตลาดขนส่งที่มีแต่หน้าใหม่

ไปรษณีย์ไทย คือหนึ่งในองค์กรสุดเก่าแก่ของไทยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเพิ่งจะครบรอบ 140 ปี และเป็นหนึ่งในหลักสิบองค์กรที่มีอายุเกิน 100 ปี ในประเทศไทย

ในอดีต ไปรษณีย์ไทย อาจครองตลาดการขนส่งพัสดุในประเทศไทยเบ็ดเสร็จ โดยมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่เป็นจุดขาย แต่ปัจจุบันแค่นั้นคงไม่พอ เพราะตลาดนี้มีแต่องค์กรหน้าใหม่จำนวนมากที่พร้อมตัดราคาเพื่อดึงลูกค้า

เมื่อแข่งกันดุเดือด ความเชี่ยวชาญพื้นที่ และประวัติศาสตร์ 140 ปี คงไม่เพียงพอที่จะจูงใจ แล้วหลังจากนี้ ไปรษณีย์ไทย จะเดินหน้าธุรกิจอย่างไร ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เล่าให้ฟังดังนี้

ไปรษณีย์ไทย

ไปรษณีย์ไทย กับก้าวสำคัญในปีที่ 140

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เล่าให้ฟังว่า ปีนี้ไปรษณีย์ไทยมีอายุครบรอบ 140 ปี ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการทำธุรกิจ ผ่านการเริ่มจากเป็นคนกลางในการสื่อสารผ่านการส่งสาส์นที่จับต้องได้ สู่การอยู่มาถึงยุคที่ทุกอย่างอยู่ในโลกดิจิทัล และผู้คนยินดีที่จะใช้งานดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน

“140 ปี เป็นโจทย์ยากสำหรับไปรษณีย์ไทย เพราะ 140 ปี มันสื่อได้ 2 ทางคือ เป็นองค์กรเก่าแก่ และโบราณ กับเป็นองค์กรที่ปรับตัวตลอดเวลาจนอยู่มาครบ 140 ปี ยิ่งอยู่มานาน เราก็ยิ่งน่าไว้ใจ ซึ่งเราเลือกสื่อสารอย่างหลัง ผ่านการปรับโครงสร้าง และกลยุทธ์ต่าง ๆ ขององค์กร ทั้งยังพร้อมส่งสาส์นที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้”

การปรับโครงสร้างองค์กรของไปรษณีย์ไทย ดำเนินอย่างเข้มข้นในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด โดยเฉพาะโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด เพื่อปรับลดพนักงาน และลูกจ้างจนสิ้นปี 2022 เหลืออยู่ราว 30,455 คน ลดลงจากปี 2020 ที่มีอยู่ราว 32,804 คน

ไปรษณีย์ไทย
ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

เริ่มมีกำไรแล้วหลังขาดทุนมาต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันการเร่งควบคุมค่าใช้จ่ายเรื่องคนยังทำให้ ไปรษณีย์ไทย ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ 15% และมีรายได้ครึ่งแรกของปี 2023 เติบโต 12% เมื่อหักลบกัน รวมถึงหักค่าเสื่อม และค่าภาษีต่าง ๆ ทำให้ครึ่งแรกของปี 2023 ไปรษณีย์ไทย มีกำไรสุทธิ 158 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจจัดส่งพัสดุที่มีกำไรในตลาดที่แข่งขันกันดุเดือด

“เราอยู่ในอุตสาหกรรมที่ Zero-sum Game และตอนนี้ทุกรายที่มีอายุองค์กรน้อยกว่าเรามากต่างทุ่มเงินเพื่อตัดราคา จนสังเกตได้เลยว่าบางธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีผลประกอบการขาดทุนแค่ไหน แต่นี่เราทำกำไรได้ในช่วงครึ่งปีแรก แต่ถ้าทั้งปีคงต้องดูกันอีกที เพราะยังมีความไม่แน่นอนว่าจะกำไร หรือขาดทุน”

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย ขาดทุนมา 2 ปี ติดต่อกัน หรือในปี 2021 และปี 2022 โดยปี 2022 ขาดทุนสุทธิราว 2,000 ล้านบาท แต่หากรวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดจะพุ่งไปถึง 3,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2020 บริษัทกำไรสุทธิแค่ราว 30 ล้านบาท

ไปรษณีย์ไทย

คุณภาพในราคาที่เหมาะสมคือหมัดฮุค

การฮุคใจลูกค้าของ ไปรษณีย์ไทย หลังจากนี้ บริษัทจะชูเรื่องคุณภาพในงานบริการ ไล่ตั้งแต่การเข้าไปใช้บริการที่สาขา, การดูแลสินค้าระหว่างขนส่ง และยังคงจุดเด่นเรื่องความเป็นมิตรของบุรุษไปรษณีย์ที่มีความใส่ใจ และผูกพันกับผู้พักอาศัยในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีเป็นทุนเดิม

“เราพัฒนาเรื่องนี้ดีขึ้นมาก เพราะยอมรับว่าก่อนหน้านี้ลูกค้าหายไปใช้บริการคู่แข่งก็เพราะเรื่องคุณภาพ แต่ปัจจุบันคุณภาพเหล่านั้นของคู่แข่งเริ่มลดลง และลูกค้ากลับมาใช้บริการเรามากขึ้น เมื่อผสานกับราคาที่ ไปรษณีย์ไทย อยู่ตรงกลาง ไม่ได้ถูก และสูงที่สุดในตลาด ทำให้ลูกค้ากลับมาหาเรามากขึ้นเช่นกัน”

เพื่อยกระดับงานบริการ ไปรษณีย์ไทย มีการลงทุนระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเพื่อสร้างความรัก และตัดสินใจใช้งานต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ลงทะเบียนในระบบดังกล่าวราว 6 แสนราย และสิ้นปี 2023 จะเพิ่มเป็น 1 ล้านราย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีกลุ่มคนรุ่นใหม่อยู่ด้วย และหากนับลูกค้าทั้งหมดของบริษัทจะมีมากกว่า 10 ล้านราย

ต้องมีคนกำกับกิจการเพื่อสร้างมาตรฐาน

ดนันท์ ย้ำว่า อุตสาหกรรมขนส่งพัสดุควรมีผู้กำกับกิจการเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ธุรกิจต่างชาติจะเข้ามาทุ่มตลาด และส่งผลเสียโดยรวมกับอุตสาหกรรมการขนส่งพัสดุที่ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ หากปล่อยไปอาจกระทบต่อเรื่องความมั่นคง

“ผมคิดว่าควรมีผู้กำกับกิจการนี้ เพราะการขนส่งพัสดุมันมีเรื่องความมั่นคงต่อประเทศ ไม่เช่นนั้น ไปรษณีย์ไทย ก็คงไม่ถูกใช้งานเพื่อจัดส่งสิ่งต่าง ๆ ที่กระทบต่อความมั่นคง ยิ่งช่วงสั้น ๆ นี้น่าจะมีรายใหม่จากต่างชาติเข้ามาแน่ ๆ รวมถึงเราได้ข่าวการควบรวมกิจการของผู้เล่นในตลาดไทยเหมือนกัน ดังนั้นมันก็ยิ่งจำเป็นที่จะมีผู้กำกับกิจการ”

ปัจจุบันอุตสาหกรรมขนส่งพัสดุมีการคุ้มครองในฝั่งผู้บริโภคผ่านหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาคุมเรื่องการแข่งขันเรื่องราคา, การดูแลเรื่องคุณภาพ และการมีมาตรฐานกลางในการจัดส่ง จึงไม่แปลกที่ผู้เล่นหน้าใหม่จะทุ่มราคา และดึงลูกค้าเข้าไปใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา