แม้จะเป็นความจริงที่ว่าโดยธรรมชาติของสตาร์ทอัพนั้น 90% คือล้มเหลว แต่ของแบบนี้ไม่ลองก็ไม่รู้ ชวนไปอ่านเทคนิคของกูรูสตาร์ทอัพ 10 ข้อที่ทำให้ธุรกิจโตไว พร้อมด้วยข้อแนะนำที่น่าสนใจถึงสตาร์ทอัพไทย
เปิด 10 กฎ Growth Hacking ที่สตาร์ทอัพ(ไทย)ต้องรู้
เมื่อช่วงเย็นของพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560 ได้ไปร่วมงาน “Dtac acceralate : Growth Hacking หมัดเด็ด การตลาดยุคไทยแลนด์ 4.0” โดยภาพรวมเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ของเหล่าบรรดากูรูสตาร์ทอัพ และเปิดเผยเทคนิคการทำธุรกิจที่ในภาษาของสตาร์ทอัพเขาเรียกกันว่า “Growth Hacking” หรือถ้าจะแปลไทยเอาแบบเข้าใจง่ายก็คือ “เทคนิคที่ทำให้ธุรกิจโตไว” นั่นเอง
คีย์แมนที่น่าสนใจของงานคือ Bjorn Lee หรือ บียอร์น ลี ผู้คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพระดับเอเชียและผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสตาร์ทอัพชื่อดัง ประวัติและผลงานชิ้นโบว์แดงของคนนี้คือ การเพิ่มฐานของผู้ใช้งานของสตาร์ทอัพเกมสำหรับเด็กที่ชื่อ Stickery (แม้ว่าในปัจจุบันนี้เจ้าเกมตัวนี้จะล้มหายตายจากไปแล้วก็ตาม)
ลีเริ่มต้นจากจุดที่ไม่มีใครรู้จักเกมตัวนี้ หรือเรียกได้ว่าเริ่มจากตัวเลขที่เป็น 0 แต่ลีสามารถทำให้มียอดพุ่งไปถึง 5 – 6 แสนผู้ใช้งานได้ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ด้วยผลงานที่น่าสนใจ Dtac เลยชวนลีมาแลกเปลี่ยนให้ฟังกันว่า อะไรคือเทคนิคที่ทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จได้
นี่คือ Growth Hacking ที่ลีเอามาแนะนำให้กับสตาร์ทอัพไทย มีทั้งหมด 10 ข้อ
1. เลือกตลาดที่ถูกต้อง ลีบอกว่า การเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพคล้ายกับการสร้างบ้าน คือต้องมีพื้นฐานที่ดี อันนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม ลีเล่าประสบการณ์ตรงให้ฟังว่า ในปี 2011 ตอนที่เขาทำเกมสำหรับเด็ก ในตอนนั้นนั้นกระแสของ iPad กำลังมาพอดี เขาเลยเลือกทำเกมลงแพลตฟอร์มของ iPad จึงทำให้เขาประสบความสำเร็จในตอนนั้น
2. การใช้โฆษณาให้ทำงานแทนเรา ข้อดีเป็นเรื่องที่สตาร์ทอัพน่าจะรู้กันอยู่แล้ว คือถ้ามีทุนประมาณหนึ่ง เราควรลงกับการโฆษณาที่ให้ผลในการกระจาย/บอกเล่าสินค้าให้ผู้บริโภครับรู้
3. ผู้บริโภคมักขี้เกียจ แต่คนทำธุรกิจต้องขยัน ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้บริโภคเกิดความสงสัย เช่น ลงโฆษณาแบบวิดีโอใน Youtube สั้นๆ แต่สร้างจุดสนใจหรือสร้างความสงสัยให้ผู้บริโภคต้องไปค้นหาต่อ นั่นก็จะทำให้การรับรู้แบรนด์ของเราได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
4. เป็นศิลปินที่ดี เราต้องรู้ว่าตำแหน่งแห่งที่ในตลาดของเราอยู่ตรงไหน ใครทำดีเราก็เรียนรู้จากเขา ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ แต่เรียนรู้ว่าอะไรที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ แล้วนำมาปรับใช้กับธุรกิจของเรา
5. นอกจากพนักงานประจำที่อาจจะต้องมีเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ การจ้างฟรีแลนซ์ก็สำคัญ แต่ลีบอกว่าต้องจ้างอย่างชาญฉลาด ต้องเลือกคนที่มีประสบการณ์เพื่อทำให้ธุรกิจของเราเติบโต
6. ต้องทำให้คนเข้าใจธุรกิจของเราอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสื่อที่จะแพร่กระจายแบรนด์ของเราออกไป ต้องทำให้รู้ชัดเลยว่านิยามของธุรกิจเราคืออะไร อันนี้เราต้องแม่นพอสมควร เช่น พูดถึง Airbnb หมายถึงการเช่าที่พัก พูดถึง Uber คือ เรียกรถรับส่ง อย่าทำให้นิยามธุรกิจของเรากำกวม ต้องนิยามให้ชัด
7. กฎ 80-20 ข้อนี้ลีอธิบายคล้ายๆ กับการพาดหัวข่าวของสำนักข่าวคือ ต้องทำพาดหัวให้ชัดเจน ต้องส่งสารให้รู้เรื่อง หมายความว่า พาดหัวต้องบอกเรื่องราวของ Product เราไปแล้ว 80% ส่วนที่เหลือถ้าผู้บริโภคสนใจอีก 20% คือสิ่งที่เป็นเนื้อหาข้างในที่เขาจะไปศึกษาต่อเอง
8. การเริ่มต้นแบบสตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่มาจาก 0 การสร้างฐานผู้ใช้จึงต้องเริ่มจากคนใกล้ตัว พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง หรือนักรีวิวต่างๆ ให้ทดลองใช้สินค้าหรือบริการจากเรา แต่ลีใช้คำว่า “Fake it till you make it” คือในตอนแรกเริ่มอาจจะต้องใช้เล่ห์ลวงกันสักนิด เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว
9. ***ลีบอกว่า ข้อนี้สำคัญที่สุด*** หาแหล่งหรือชุมชนที่เป็นที่รวมตัวในการสร้างเครือข่ายธุรกิจ โดยใช้จุดนี้เป็นสถานที่ในการสื่อสารแบรนด์ออกไป เพราะอย่างน้อยถ้าหาแหล่งรวมตัวได้ แล้วเราสามารถสื่อสารให้คนในที่นั้นเข้าใจถึงแบรนด์เราได้ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แล้วหากเราจะขยายขอบเขตธุรกิจไปให้กว้างขวางมากขึ้น คนเหล่านี้ก็จะเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการผลักดัน พูดง่ายๆคือ เปรียบเสมือนการ “หว่านพืช หวังผล” นั่นเอง
10. ข้อนี้ง่ายมาก และสตาร์ทอัพไทยใช้กันเยอะมาก (แต่ประสบความสำเร็จหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง) ข้อสุดท้ายคือการซื้อ ลีใช้คำว่า “Paying for traffic” คือใช้เงินซื้อช่องทางเพื่อให้สินค้าหรือบริการเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก แม้ข้อนี้จะปฏิเสธไม่ได้ แต่ลีก็บอกไว้เพียงว่า ต้องซื้ออย่างมีสติและต้องวัดผลได้ก็เพียงพอ
“สตาร์ทอัพไทยต้องคิดให้ไกลกว่านี้” อย่าแก้ปัญหาเฉพาะจุดเฉพาะที่
ลี เล่าให้ฟังในประเด็นสตาร์ทอัพไทยว่า ถ้าพูดถึงสตาร์ทอัพในไทย สิ่งที่โดดเด่นคือ “ความสร้างสรรค์” โดยเฉพาะการทำโฆษณา ลีบอกว่า ในต่างประเทศ โฆษณาของไทยได้รับการยอมรับสูง เพราะสื่อสารได้ดี แต่ทีนี้ถ้ากลับมาดูในด้านธุรกิจ สตาร์ทอัพไทยยังติดกับดักในแง่ของการแก้ปัญหาเฉพาะจุดเฉพาะที่ ลีบอกว่าถ้าอยากให้สตาร์ทอัพไปได้ไกล ต้องคิดถึงการแก้ปัญหาที่ไกลกว่าระดับประเทศได้แล้ว เช่น ปัญหาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คืออะไร? ปัญหาของโลกทุกวันนี้คืออะไร? ไปเริ่มต้นจากจุดนั้นแล้วสร้างธุรกิจที่มาแก้ไข Pain point เหล่านี้
นอกจากนั้น ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมถึงไทยด้วย การเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคก็สำคัญมาก อย่างเช่น ถ้าย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว คนไทยยังไม่พิมพ์ข้อความส่งกันเยอะขนาดนี้ ยังเน้นการคุยโทรศัพท์มากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าส่งแอพพลิเคชั่นที่สื่อสารผ่านการพิมพ์ก็จะได้รับการตอบรับเฉพาะกลุ่ม แต่ทุกวันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปมากแล้ว ธุรกิจต้องตามให้ทันหรือนำหน้าไปแก้ไขปัญหาให้ได้ อันนี้สำคัญ
สรุป
สิ่งที่กูรูแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพไทยคือ ต้องคิดใหญ่ให้มากกว่านี้ ไกลกว่าระดับประเทศ แต่ไปตอบโจทย์ในระดับภูมิภาค ทวีป หรือโลก ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่กูรูสตาร์ทอัพค่อนข้างเชื่อมั่นว่าจะไปถึงได้อย่างแน่นอน
ส่วน Growth Hacking ด้านบนเป็นเพียงเทคนิคที่ต้องนำไปปรับใช้กับธุรกิจ สตาร์ทอัพบางรายอาจทำครบแล้วไม่รุ่ง หรือทำไม่ครบแต่รุ่ง นั่นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ที่ทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้อีกมาก แต่สิ่งที่สำคัญไม่ว่าจะในธุรกิจหรือชีวิตก็ตาม มันไม่ใช่ว่าเราประสบความสำเร็จอย่างไร แต่มันคือถ้าเราล้มแล้วลุกขึ้นได้ไวแค่ไหนมากกว่าต่างหาก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา