กลางปี 2022 บมจ. ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) เจ้าของแบรนด์ โฟร์โมสต์ ประกาศยุติการทำตลาดนมพาสเจอร์ไรส์ พร้อมปิดโรงงานย่านหลักสี่ เพื่อทำตลาดสินค้านมกล่อง UHT และสินค้าอื่นที่มีโอกาสเติบโตมากกว่า
ผ่านมา 1 ปี สินค้านมกล่อง UHT ของ โฟร์โมสต์ แข็งแกร่งขึ้นมาก ผ่านการมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ 41% ของมูลค่าตลาด 29,000 ล้านบาท และเตรียมตั้งเป้าขึ้นไปถึง 50% ภายใน 3 ปี
การแข่งขันของตลาดนมกล่อง UHT ในประเทศไทยเป็นอย่างไร และ โฟร์โมสต์ ต้องทำอย่างไรถึงจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว สุภสิตา ไกรศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บมจ. ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) อธิบายให้ฟังดังนี้
ภาพรวมตลาดนม UHT ที่เติบโตต่อเนื่อง
สุภสิตา ไกรศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บมจ. ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) เล่าให้ฟังว่า ในปี 2022 มูลค่าตลาดนม UHT ในประเทศไทยคาดการณ์ตัวเลขที่ 29,000 ล้านบาท และจะเติบโตราว 5-6% ในปี 2023 ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการหดตัวแต่อย่างใด
“ความต้องการสินค้านมกล่อง UHT ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ถึงสินค้าประเภทนี้จะมีส่วนต่างกำไรค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับนมพาสเจอร์ไรส์ แต่ โฟร์โมสต์ ก็ยังเห็นโอกาสในตลาด และตั้งใจบุกตลาดนี้อย่างเต็มที่ผ่านนม UHT สำหรับเด็ก และนม UHT สำหรับทุกคนในครอบครัว”
หากเจาะไปที่กลุ่มสินค้านม UHT ปัจจุบัน โฟร์โมสต์ เป็นแบรนด์อันดับ 1 ของตลาดนี้ ผ่านส่วนแบ่งในตลาดที่ 41% ผ่านการจำหน่ายนม UHT สำหรับเด็ก 60% และที่เหลือเป็นนม UHT สำหรับทุกคนในครอบครัว โดยหลังจากนี้จะทยอยขยายช่องทางจำหน่ายในค้าปลีกดั้งเดิมในพื้นที่ห่างไกล หลังครอบคลุมค้าปลีกสมัยใหม่กว่า 90%
ปัจจัยเติบโตคือแม่ให้นม UHT กับบุตรเร็วขึ้น
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตลาดนม UHT เติบโตต่อเนื่องคือ ในประเทศไทยมีการเลี้ยงดูเด็กเล็กด้วยนม UHT เร็วขึ้น เช่น ในอดีตแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กจะให้เด็กดื่มนม UHT ตั้งแต่ 1 ขวบ 6 เดือน เป็นต้นไป แต่ปัจจุบันอายุ 1 ขวบ เริ่มมีการให้เด็กดื่มนม UHT แล้ว
“นม UHT หรือนมน้ำ มีความสะดวกกว่านมผงที่ต้องเตรียมน้ำ และตวงในปริมาณที่ถูกต้อง ทำให้แม่รุ่นใหม่เลือกใช้นม UHT เลี้ยงดูบุตรเร็วขึ้น ซึ่ง โฟร์โมสต์ เองมีการเขียนบนบรรจุภัณฑ์ของนมที่ตลาดกับเด็กอย่างชัดเจนว่า สำหรับเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป และทุกคนในครอบครัว”
นม UHT ที่ทำตลาดกับเด็กเล็กของโฟร์โมสต์จะแบ่งเป็น 3 ระดับคือ โอเมก้า 369, โอเมก้า 369 สมาร์ท และสูงสุดคือ โอเมก้า 369 โกลด์ ซึ่งนมเหล่านี้จะมีสารอาหาร และวิตามิน เช่น ดีเอชเอ, สฟิงโกไมอีลิน และวิตามิน บี 12 เป็นต้น และมีความพิเศษของสารอาหารเพิ่มเติมที่แตกต่างกันในแต่ละระดับ
เร่งสื่อสารผู้นำนม UHT สำหรับเด็ก หวังแชร์ 50%
ขณะเดียวกัน โฟร์โมสต์ เตรียมเร่งสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับการเป็นผู้นำในตลาดนม UHT และนม UHT สำหรับเด็ก เพื่อกระตุ้นยอดส่วนแบ่งตลาดให้ไปถึง 50% ภายใน 3 ปี โดยการสื่อสารมีทั้งการทำโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงการทำกิจกรรมการตลาดเกี่ยวกับเด็ก
ล่าสุด โฟร์โมสต์ ได้ร่วมมือกับ มูลนิธิกระจกเงา เพื่อส่งมอบนมจำนวน 1 ล้านกล่อง ให้กับเด็ก และครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ ถือเป็นปีที่ 3 ที่ส่งมอบนมให้กับมูลนิธิดังกล่าว โดยช่วง 2 ครั้งก่อนคิดเป็นมูลค่านม UHT กว่า 20 ล้านบาท ด้วยจำนวนนม 2 ล้านกล่อง
“โฟร์โมสต์ พยายามสื่อสารการตลาดเต็มที่ และยืนยันว่าเราแทบไม่มีการปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อขอเป็นผู้มอบสารอาหารที่เหมาะสมให้กับเด็ก ยิ่งนมเป็นสินค้าที่รับประทานง่าย และได้สารอาหารครบ การคงจุดแข็งเรื่องนี้ไว้ก็ยิ่งจำเป็น และเรื่องดังกล่าวยังทำให้เราแข็งแกร่งในตลาดนี้ด้วย”
ปัญหาน้ำนมดิบขาดแคลนใกล้สิ้นสุด
สุภสิตา เสริมว่า ปัญหาน้ำนมดิบขาดแคลนในประเทศไทยใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดในไตรมาส 4 ปี 2023 เพราะเกษตรกรเริ่มกลับมาเลี้ยงโคนมมากขึ้น ส่วนในมุม โฟร์โมสต์ ปัจจุบันบริษัทมีการเจรจากับเกษตรเพื่อรับมือปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทไม่ประสบปัญหาสินค้าไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายในช่องทางต่าง ๆ
เมื่อไม่มีปัญหา ทำให้ โฟร์โมสต์ ยังเดินหน้าผลิตนม UHT ในโรงงานที่ประเทศไทยเพื่อจำหน่ายในไทย 90% และที่เหลือส่งออกไปในต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการทำตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์สำหรับอาหาร เครื่องดื่ม และเบเกอรี่ เช่น นมข้นหวานฟอลคอน เป็นต้น ส่วนการกลับมาจำหน่ายสินค้านมพาสเจอร์ไรส์ โฟร์โมสต์ ยังไม่มีแผนในตอนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันการบริโภคนม UHT สำหรับเด็กเล็กในประเทศไทยมีการรับประทานเฉลี่ย 3 กล่อง/วัน และกระแสการรับประทานนมผงกำลังลดลง เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง หรือ 38-40 บาท/มื้อ ต่างกับนม UHT ที่ราคาราว 10-11 บาท/มื้อ แต่ได้สารอาหารสำคัญใกล้เคียงกัน ทำให้ตลาดนม UHT สำหรับเด็กเติบโตต่อเนื่อง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา